Telecommunications

ถ้า ‘Transformation is Now’ เราจะเริ่มอย่างไร

AIS Business แถลงวิสัยทัศน์ และนโยบายส่งท้ายปี 2561 ชี้ “Transformation is Now” ประกาศก้าวใหม่ มุ่งสู่การเป็น “ผู้นำบริการ ICT เพื่อองค์กรครบวงจร” เผยเทคโนโลยีคลาวด์ – IoT เป็นเครื่องจักรสำคัญตัวใหม่ หลังพบผลประกอบการเติบโต 100% ในสองกลุ่มธุรกิจนี้ ตั้งเป้าสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของลูกค้าองค์กรทุกขนาด

นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์
นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์

เป็นงานสัมมนาส่งท้ายปีของ AIS Business ที่มีชื่อใหญ่สมกับงานว่า The Digital Future 2019 โดยนายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส ได้กล่าวในงานสัมมนาครั้งนี้ว่า ในปี 2562 หรือ ค.ศ. 2019 เป็นต้นไปนั้น ข้อมูลคือตัวขับเคลื่อนสำคัญของภาคธุรกิจ โดยมีเครือข่ายดิจิทัล กับสมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือในการสร้างข้อมูลและป้อนกลับเข้ามาในรูปแบบของบิ๊กดาต้า ซึ่งในช่วงเวลานี้คือความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงที่ธุรกิจทุกขนาดไม่ว่าจะเอสเอ็มอี หรือเอ็นเทอร์ไพรส์ต้องเผชิญ

โดยนายสมชัยได้เปรียบเทียบรูปแบบการทำธุรกิจแบ่งออกเป็นยุคต่าง ๆ เช่น โลกธุรกิจเมื่อ 100 ปีก่อน สิ่งที่จำเป็นสำหรับธุรกิจอาจเป็นโรงงานที่ดี โลกอีก 60 ปีต่อมา การจะสร้างบริษัทที่ใหญ่โตขึ้นได้ก็เพราะมีการบริหารจัดการที่ดี แต่โลกในปัจจุบัน สิ่งที่ต้องมีคือ แพลตฟอร์มที่ดี เราจึงได้เห็นการเกิดขึ้นของธุรกิจเช่น อูเบอร์ อาลีบาบา ฯลฯ

ในด้านของเอไอเอสก็มีการเตรียมแพลตฟอร์มไว้เพื่อการนี้เช่นกัน โดยประกอบด้วย 5 แพลตฟอร์มได้แก่

  1. AIS Play แพลตฟอร์มด้านคอนเทนต์ ทั้งแบบฟรี, พรีเมียม และคอนเทนต์จากท้องถิ่น
  2. Mobile Money แพลตฟอร์มด้านการชำระเงินที่ปัจจุบันมี mPay กับ Rabbit Line Pay
  3. แพลตฟอร์มสำหรับเอนเทอร์ไพรส์
  4. แพลตฟอร์มสำหรับ IoT
  5. แพลตฟอร์มสำหรับพาร์ทเนอร์

กระนั้น เมื่อถามถึงโลกยุคต่อไป ว่าอะไรจะเป็นตัวขับเคลื่อนนั้น นายวิชัยเผยว่า แม้จะเป็นซีอีโอคนดังจากซิลิคอนวัลเลย์ก็ยังไม่มีใครสามารถฟันธงได้ ด้วยเหตุนี้ คำตอบจากซีอีโอของซิลิคอนวัลเลย์ต่อคำถามที่ว่า อะไรคือสิ่งที่ซีอีโอสามารถทำได้ในยุค Transformation is Now จึงมีแค่ 2 ข้อได้แก่

  1. โฟกัสที่ความต้องการของลูกค้า ธุรกิจจะทำอย่างไรจึงจะตอบสนองความต้องการของลูกค้าในอีก 5 – 10 ปีได้
  2. การสร้างวัฒนธรรมองค์กร ทำอย่างไรจึงจะสามารถดึงคนดี และคนเก่งเข้ามาร่วมงานได้
00007IMG 00007 BURST20181113093803
หัวใจหลักในการปรับเปลี่ยนองค์กรของเอไอเอส

สำหรับเอไอเอส นายสมชัยชี้ว่า ตั้งแต่เอไอเอสเริ่มต้นการ Digital Transformation องค์กรเมื่อ 3 – 4  ปีก่อนหน้านี้ ปัจจุบัน สามารถสรุปหัวใจของเอไอเอสในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลได้ 3 ด้าน คือ

  • ปรับกระบวนการทำงานหลักให้เป็น Digital (Digitizing Core Processes)
  • ปรับรูปแบบช่องทางการส่งมอบบริการลูกค้าให้เป็น Digital (Digitizing Customer Interface)
  • คิดค้นและขยายองค์กรสู่รูปแบบบริการหรือธุรกิจใหม่ๆ (Discovering and Scaling by Digital)

หรือก็คือกระบวนการที่นายสมชัยบอกว่า “เอาดิจิทัลเข้ามาช่วยในทุกกระบวนการ”

“เอไอเอสปรับตัวจาก Mobile Operator ไปสู่ Digital Service Provider เหตุผลคือลูกค้าของเราตอนนี้ไม่ได้ใช้บริการแค่ติดต่อสื่อสาร แต่ลูกค้าใช้ดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในด้านต่าง ๆ ของชีวิต ทั้งการเดินทาง การจับจ่ายใช้สอย ฯลฯ” แต่ข้อดีคือ ธุรกิจสามารถทำความเข้าใจลูกค้ายุคนี้ได้มากขึ้นผ่านบิ๊กดาต้า และสามารถดึงดูดให้ลูกค้าเข้าหาได้ผ่านนวัตกรรมที่แตกต่าง และสุดท้าย หากทำได้ด้วยความรวดเร็ว จริงใจ ก็จะสามารถรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าได้ยาวนานมากขึ้น

ด้านนายเอเจย์ ซันเดอร์ (Ajay Sunder) รองประธานฝ่ายดิจิทัลทราสฟอร์มเมชันของ Frost & Sullivan ซึ่งขึ้นเวทีดังกล่าวด้วยเผยว่า นอกจากดิจิทัลจะนำมาซึ่งโอกาสสำหรับธุรกิจแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ดิจิทัลนำมาด้วยก็คือ ภัยต่าง ๆ เช่น Fake News ที่โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กก็ยังหาทางจัดการไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ การใช้ดาต้า จึงเป็นความท้าทายของผู้บริหารในอนาคตอย่างมากในแง่ที่ว่า จะตัดสินใจจากดาต้าที่มีได้รวดเร็วแค่ไหน, จะบริหารออฟฟิศอย่างไร เมื่อพนักงานยุคใหม่เป็น Mobile Workforce หรือสามารถนั่งทำงานที่ไหนก็ได้, การเพิ่มจำนวนของดาต้าที่มากขึ้นทุกที และการรับมือกับความกดดันทางธุรกิจที่สูงขึ้น

Pic AIS Business 2018 10
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเป็นตัวแทนสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA (กลาง)

นอกจากตัวแทนจากภาคเอกชนแล้ว ภาครัฐก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน โดย ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเป็นตัวแทนสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA เผยว่า ภาครัฐเองก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ถูกบีบกลาย ๆ ให้ทำ Digital Transformation แต่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐทุกหน่วยจะมีบิ๊กดาต้า เป็นแค่บางหน่วยงานเท่านั้น

“สิ่งที่ต้องสนับสนุนคือ ทำอย่างไรให้หน่วยงานรัฐที่มีบิ๊กดาต้านั้นใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้าได้สูงที่สุด และทำอย่างไรให้ผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐสามารถตัดสินใจจากข้อมูลได้”

หน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐอีกข้อคือ การอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการให้สามารถทำธุรกิจได้

เปิดภาพรวมธุรกิจ AIS Business ปีนี้ – ปีหน้า

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล
นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร เปิดเผยว่า ปัจจุบัน รายได้ของ AIS Business มีสัดส่วน 11 – 12% ของรายได้จากกลุ่มคอนซูเมอร์ที่ 120,000 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับมีรายได้ประมาณ 12,000 – 14,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนการเติบโตต่อไปนั้น พบว่ามี 2 – 3 กลุ่มธุรกิจที่เห็นภาพชัดเจนที่สุด นั่นคือ คลาวด์ และ IoT โดยคลาวด์นั้น หลังจากควบกิจการกับ CS Loxinfo ทำให้เอไอเอสสามารถบุกตลาดลูกค้าองค์กรได้ดีขึ้น และสร้างการเติบโตได้ 100% YoY

หรือในส่วนของ IoT เอไอเอสบิสซิเนสมี AIAP (AIS IoT Alliance Program) เป็นตัวช่วยขับเคลื่อน โดยมีสมาชิกใน AIAP แล้ว 865 คน และสามารถสร้างโปรเจ็คด้าน IoT ได้แล้ว 30 โปรเจ็ค 

นอกจากนี้บริษัทยังมีธุรกิจในอีกหลายส่วนไว้รองรับเช่น โรโบติกส์ บริการด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งสำหรับเอสเอ็มอี ฯลฯ ด้วย

อย่างไรก็ดี จากบทสรุปทั้งหมด สิ่งที่สะท้อนออกมาผ่านงานสัมมนาดังกล่าวก็คือการสื่อถึงภาคธุรกิจต่าง ๆ ว่ากระบวนการ Transformation องค์กรนั้นควรจะเริ่มต้นได้แล้ว และเป็นสิ่งที่องค์กรต้องทำเพื่อความอยู่รอดด้วย กระนั้น เมื่อเริ่มต้นแล้ว แม้แต่เอไอเอสเองก็ไม่สามารถบอกได้เช่นกันว่า กระบวนการนี้มีจุดสิ้นสุดหรือบทสุดท้ายอย่างไร แต่หากต้องการมีตัวตนอยู่ต่อไปในโลกธุรกิจ การไม่เริ่มอาจเสียโอกาสได้มากกว่า 

Avatar photo