Lifestyle

รณรงค์นักวิ่ง 12 ล้านคนลดใช้ ‘ขวดพลาสติก’

คาดว่าจะมีคนไทยราว 12 ล้านคนที่ใช้  “การวิ่ง” เป็นการยึดเส้นยึดสายเป็นประจำ กลุ่มนี้เฉลี่ยซ้อมวิ่งออกกำลังกายสัปดาห์ละ 4 ครั้ง

“การวิ่ง” ทำให้ได้มาซึ่งสุขภาพที่ดีของผู้คน แต่ก็ทำให้เกิด  “ขยะ” ตามมาเช่นกัน โดยมีการประเมินว่า ในแต่ละปี นักวิ่ง 1 คน จะทำให้เกิดขยะพลาสติกจากขวดน้ำของพวกเขาราว 180-200 ขวดเลยทีเดียว

ไออาร์ 3
สมเกียรติ เลิศฤทธิ์ภูวดล

“ขณะที่นักวิ่งมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น แต่สุขภาพของสิ่งแวดล้อม และของโลกกลับแย่ลงจากปริมาณขยะขวดน้ำที่เกิดขึ้น”  สมเกียรติ เลิศฤทธิ์ภูวดล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพาณิชยกิจและการตลาด บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ระบุไว้

กอรปกับมีพนักงานจำนวนไม่น้อยเป็นนักวิ่ง เป็นที่มาให้ไออาร์พีซี ในฐานะผู้ประกอบการปิโตรเคมีและการกลั่น รวมถึงผู้ผลิตพลาสติกแบรนด์ “POLIMAXX” เข้ามาทำโครงการลดขยะ โดยผนวกเข้ากับการส่งเสริมการออกกำลังกาย

งาน “POLIMAXX Run 3R” เลยเกิดขึ้น โดยเปิดรับนักวิ่งสมัครเข้าร่วมวิ่งเก็บระยะแบบ Virtual Run  30 กิโลเมตรภายใน 30 วันภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 และมอบ  “ขวดน้ำทดแทน” ตรา “POLIMAXX”  ซึ่งทำจากพลาสติกพอลิโพรไพลีน (Polypropylene :PP) ปลอดสารบิสฟินอลเอส หรือ  BPS  บรรจุร้อนเย็นได้ -20 ถึง 120 องศา ผ่านมาตรฐานจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ สามารถใช้ซ้ำได้อย่างปลอดภัย ให้นักวิ่งนำไปใช้แทนขวดน้ำพลาสติก

ไออาร์ 12

โครงการนี้จำกัดจำนวนนักวิ่งที่เข้าร่วมไว้ไม่เกิน 2,000 -3,000 คน แต่เพียง 12 ชั่วโมงที่เปิดรับ ก็ได้ยอดทะลุไปถึง 6,000 คนแล้ว และเปิดรับสมัครอีก 1 วันจำกัด 1,500 คน เพื่อรองรับผู้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม

ความสนใจที่ทะลักเข้ามามากมายอย่างนี้ ทำให้สมเกียรติ แห่งไออาร์พีซี เชื่อว่าจะช่วยปลุกกระแส 3R ให้อยู่ในใจนักวิ่ง และผู้คน ทั้ง Reduce Reuse Recycle  หรือ “ใช้เท่าที่จำเป็น ใช้ซ้ำ และแยกก่อนทิ้ง”

อีกปัจจัยที่ถูกจุดกระแส เพราะ “POLIMAXX Run 3R“ มาจับมือกับสถานที่ออกกำลังกายสุดฮิบล่าสุดอย่าง “Sky Running” ลู่วิ่งติดแอร์ แบบ  3 เลนปูพื้นเรียบด้วยสีฟ้าสดใส ขนานไปกับสถานที่ตั้งของส่วนราชการต่างๆภายในศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ดึงดูดให้ผู้คนมาวิ่งจำนวนมาก หลังจากเปิดโครงการไปไม่กี่เดือน

กรานต์ ฉายาวิจิตรศิลป์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด เล่าที่มาของ “Sky Running” ว่า ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ มีส่วนราชการตั้งอยู่จำนวนมาก มีคนทำงานกว่า 10,000 คน จึงคิดว่าควรต้องทำสถานที่ออกกำลังไว้ เพื่อให้ทุกคนไม่เฉพาะข้าราชการมาใช้

“แล้วเราก็เห็นว่าทางเดินยาวของอาคารรัฐประศาสนภักดี หรือ อาคาร B ภายในศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะควรนำมาใช้ประโยชน์ จึงของบประมาณมาดำเนินการ 3 ล้านบาทปรับปรุงทางเดินเชื่อมชั้น 4 เป็นทางเดินวิ่งเส้นทาง 412 เมตรเทียบเท่าลู่วิ่งมาตรฐาน”

ธนาสินทรัพย์
นายกรานต์ ฉายาวิจิตรศิลป์

ลู่วิ่ง 3 เลนเปิดทุกวันตั้งแต่ 6.00-21.00 น. ในวันธรรมดาจะมีข้าราชการมาใช้เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่เช้า กลางวัน และเย็น ส่วนเสาร์อาทิตย์ก็จะมีคนนอกขับรถมาใช้ที่นี่ออกกำลังกาย  เพราะรอบบ้านไม่มีพื้นที่สำหรับการวิ่ง

“พฤติกรรมของข้าราชการที่นี่เริ่มเปลี่ยน ตอนเช้ามาเดินวิ่งกัน กลางวันหลังกินอาหารก็มาเดินย่อยกัน  ส่วนตอนเย็น ไม่อยากออกเร็ว เพราะรถย่านแจ้งวัฒนะติดมาก ก็มาเดินวิ่งก่อนกลับบ้าน ส่วนประชาชนทั่วไปก็จะขับรถมาออกกำลังกายกันวันเสาร์อาทิตย์”

ถือว่าประสบความสำเร็จเกินคาดหมาย แต่ละวันมีคนมาใช้ลู่วิ่งออกกำลังกายกันกว่า 1,000 คน เพราะเป็นลู่วิ่งในร่ม และพื้นยางที่ให้ความรู้สึกแน่น หนึบ ไม่แข็งกระด้าง แถมมีล็อกเกอร์บริการ ทำให้ทั้ง 3 ลู่วิ่งที่ทำไว้ ทั้ง ลู่เดิน ลู่จ๊อกกิ้ง และลู่วิ่งสำหรับทำความเร็ว เต็มไปด้วยผู้คนมาออกกำลังกายกันไม่เว้นวัน

ผลสำเร็จอย่างนี้ ทำให้บริษัทธนารักษ์ฯ กำลังจะขยายลู่วิ่งไปบนชั้น 3 รวมถึงสถานที่ออกกำลังกายอื่นๆเพิ่มเติม เช่น สนามเปตอง เป็นต้น

ลู่วิ่ง แจ้งวัฒนะ 1

“การปรับพฤติกรรมมาออกกำลังกายในศูนย์ราชการฯ ช่วยให้แต่ละคนมีสุขภาพดีขึ้นมากน้อยเพียงใด เราไม่ได้ประเมินขนาดนั้น เพราะแต่ละบุคคลมีพื้นฐานสภาพร่างกายไม่เหมือนกัน แต่ประโยชน์ที่ได้รับแน่ๆ ก็คือ การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึัน”

สมเกียรติ  ย้ำว่า การปลุกกระแสกับนักวิ่งในโครงการ “POLIMAXX Run 3R“ เพียงกลุ่มเดียวก็ช่วยลดขวดน้ำพลาสติกไปได้มากกว่า 1.3 ล้านขวดต่อปี และการมาปลุกกระแสกับนักวิ่งในศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะด้วย ยิ่งจะเป็น snowball ขยายผลสู่นักวิ่งทั่วประเทศ รวมถึงประชาชนทั่วไปให้ช่วยกันลดขยะพลาสติก

ขณะเดียวกัน ก็ต้องการสื่อให้เห็นว่า “ขยะไม่ใช่ผู้ร้าย”  หากใช้อย่างถูกต้อง จึงทำโครงการ  Plastic Rights  สร้างความเข้าใจให้ใช้พลาสติกอย่างรู้คุณค่า หมายถึง “ใช้พลาสติกให้ยาวนานที่สุดตลอดวงจรของมันด้วยหลัก 3R”

ไออาร์ 2

 

Avatar photo