Wellness

แนะฤดูหนาวพาเด็กเล็กรับวัคซีนป้องกัน ‘โรคหัด’ ตามกำหนด

กรมควบคุมโรค แจ้งเตือนช่วงฤดูหนาวนี้ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด และพาไปรับวัคซีนป้องกันโรคหัดตามกำหนด หลังพบปี 2561 มีผู้ป่วยโรคหัดกว่า 4 พันรายแล้ว ย้ำอาการหากมีอาการไข้สูง 3-4 วัน มีผื่นนูนแดงขึ้น ที่ใบหน้าแล้วแผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา

อธิบดีกรมควบคุมโรค

ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว มีหลายโรคที่มากับอากาศอย่างนี้ กรมควบคุมโรคจึงออกโรงแจ้งเตือนประชาชน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า สภาพอากาศเริ่มหนาวเย็นลง ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น ซึ่งโรคที่ต้องระมัดระวังในช่วงนี้คือ โรคหัด ซึ่งเป็นโรคไข้ออกผื่นที่มักพบได้บ่อยในทุกช่วงวัย

เชื้อไวรัสหัดสามารถติดต่อ และแพร่กระจายได้ง่ายผ่านเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และละอองอากาศ เชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยการไอ จาม และพูดคุย ในระยะใกล้ชิด ผู้ป่วยโรคหัดจะมีเชื้อไวรัสหัดอาศัยอยู่ในลำคอ สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ 1-2 วัน ก่อนเริ่มมีผื่นขึ้น

ยะลา ปัตตานี สงขลา นราธิวาส ป่วยสูงสุด

สำหรับสถานการณ์ของโรคหัด ในปี 2561 จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 7 พฤศจิกายน 2561 มีรายงานผู้ป่วย 4,030 ราย เสียชีวิต 15 ราย

ในกลุ่มผู้เสียชีวิตนั้น จำแนกเป็นผู้ป่วยที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยัน 8 ราย และผู้ป่วยเข้าข่าย แต่อยู่ระหว่างรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยัน 7 ราย โดยตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ยะลา ปัตตานี สงขลา และนราธิวาส ตามลำดับ

ทั้งนี้โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งเป็นไวรัสที่พบได้บ่อยในจมูก และลำคอผู้ป่วย อาการที่พบบ่อยของโรคหัด คือ “ไข้ออกผื่น”  โดยมักมีอาการไข้สูงประมาณ 3-4 วัน แล้วเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้น โดยผื่นเริ่มขึ้นจากหลังหู แล้วลามไปยังใบหน้าบริเวณชิดขอบผม จากนั้นจะแผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา

เมื่อผื่นแพร่กระจายทั่วตัว ประมาณ 2-3 วัน ไข้จะค่อยๆ ลดลง และผื่นก็จะค่อย ๆ จางหายไป ผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นมากอาจจะลอกเป็นขุยหรือเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้นได้ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ คือ คออักเสบ หลอดลมอักเสบจนถึงปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ ท้องเสีย และสมองอักเสบซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงที่สุด หากป่วยด้วยโรคหัด หรือสงสัยว่าเป็นโรคหัดควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการและรับการรักษา

vaccination 2722937 1920

เด็กเล็กต้องรับวัคซีนป้องกัน

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า โรคนี้เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข จะฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน เข็มแรกเมื่อเด็กอายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง

หากพบว่าบุตรหลานยังรับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ผู้ปกครองสามารถพาไปรับวัคซีนทันที ได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรคหัดจะมีอัตราการป่วยตายต่ำในเด็กทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง และยังสามารถเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็ว แต่ยังคงเป็นอันตรายในเด็กเล็ก เด็กที่มีภาวะขาดสารอาหาร หรือเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยให้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

Avatar photo