Business

ค้าปลีกไร้ความหวัง กำลังซื้อซบ ยอดขายหดตัว 15-40 % วอนรัฐหาทางอุ้มด่วน

กำลังซื้อซบ ค้าปลีกหวั่นใจ ยอดขายลดฮวบ 15-40% เซ่นพิษโควิดระบาดระลอกสาม วอนรัฐช่วยจ่ายค่าจ้าง ใช้มาตรการภาษีเยียวยาด่วน พร้อมออกมาตรการกระตุ้นจับจ่ายต่อเนื่อง 

จากวิกฤติโควิด-19 ระลอกสามเดือนเมษายน 2564 ที่ส่งผลกระทบหนักกว่าการแพร่ระบาดทุกครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นกว่ามาก ส่งผลถึงการจับจ่ายของผู้บริโภคโดย กำลังซื้อซบ ลงอย่างชัดเจน โดยสะท้อนได้จากผลสำรวจของ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ถึงความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกไทย รอบเดือนเมษายน ที่ปรับลดลงกว่า 43% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม

กำลังซื้อซบ

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำรวจความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกไทย ในทุกภาคส่วน เดือนเมษายน โดยเป็นการสำรวจทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 16-24 เมษายน 2564 มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประกอบด้วย ร้านค้าปลีกสินค้าทั่วประเทศ ซึ่งมีช่องทางจำหน่ายรวมกันกว่า 23,000 แห่ง และร้านค้าปลีก บริการภัตตาคาร ร้านอาหาร ที่มีช่องทางบริการกว่า 6,000 แห่ง มีข้อสรุปดังนี้

  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก (Retail Sentiment Index) เดือนเมษายน

ปรับลดลงกว่า 43% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม โดยดัชนีปรับลดลง ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 อย่างชัดเจน ใกล้เคียงกับดัชนีความเชื่อมั่นเดือนเมษายน 2563 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ลดลง หลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสามในเดือนเมษายน กระจายเป็นวงกว้างกว่าที่ผ่านมา ประกอบกับกำลังซื้อที่ฟื้นตัวช้า เป็นปัจจัยที่เพิ่มความกังวลให้แก่ผู้ประกอบการ

  • ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า

เปรียบเทียบระหว่างดัชนีในเดือนมกราคม 2564 และดัชนีในเดือนเมษายน 2564 จะพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ในเดือนเมษายน 2564 ลดต่ำกว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ในเดือนมกราคม 2564 สะท้อนถึงความไม่มั่นใจ ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้วยข้อกังวลถึงความรุนแรง ของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ค่อนข้างสูง และความวิตกกังวลถึงความไม่ชัดเจน ของแนวทางการฉีดวัคซีน ที่ภาครัฐนำเสนอ

11

  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ต่อการเติบโตยอดขายสาขาเดิม เดือนเมษายน same store sale growth (SSSG)

เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม (Month on Month) มีทิศทางที่ลดลงกว่า 40% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม สะท้อนให้เห็นว่า ยอดขายสาขาเดิมเดือนเมษายน ลดลงจากเดือนมีนาคมเกือบครึ่ง ซึ่งเป็นการลดลงทั้งยอดซื้อต่อบิล (Spending per Bill or Basket Size)) และความถี่ในการจับจ่าย (Frequency of Shopping)

  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมรายภูมิภาค

ปรับลดลงจากเดือนเมษายนในทุกภาค สะท้อนถึงสภาวะความกังวล ต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่กระจายทุกภูมิภาค โดยเฉพาะดัชนีที่ลดลงชัดเจน กรุงเทพปริมณฑล และภาคใต้ ที่เป็น Super Spread หลัก

  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ เมื่อจำแนกตามประเภทร้านค้าปลีก

เปรียบเทียบระหว่างเดือนเมษายน และเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่า ลดลงอย่างชัดเจน และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 ในทุกประเภทร้านค้าปลีก ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนทรงตัวเท่าเดิม สะท้อนถึงผู้ประกอบการร้านค้าปลีก ไม่มีความหวัง และความมั่นใจ ในมาตรการภาครัฐ ที่จะฟื้นกำลังซื้อกลับมาได้เร็ว

22

  • ร้านค้าปลีกประเภทวัสดุก่อสร้าง ตกแต่งและซ่อมบำรุง

ปรับลดต่ำกว่าเดือนมีนาคมเล็กน้อย แต่ก็ยังอยู่เหนือค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 ทั้งนี้จากราคาเหล็ก ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น และช่วยให้ราคาวัสดุก่อสร้างอื่นปรับตัวขึ้นตาม ประกอบกับ ร้านค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง ซ่อมบำรุง ยังคงได้รับแรงหนุนจากวิถี New Normal ทำงานที่บ้าน ทำให้มีความนิยมในการปรับภูมิทัศน์ภายในที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ ที่บริหารร้านค้าปลีกกว่า 29,000 แห่ง ประเมินผลกระทบ ต่อยอดขายและกำลังซื้อ และผลกระทบต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ พบว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคมีสัญญาณปรับตัวแย่กว่าเดือนมีนาคมมากกว่า 25% ผลจากผลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่เดือนเมษายน และประเมินว่า ยอดขายจะได้ผลกระทบมากกว่า 15-40% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลถึงการจ้างงาน ที่จะลดลงจากยอดขายที่หดหายไป โดยมีข้อเสนอให้ภาครัฐควรมีมาตรการเยียวยา ช่วยจ่ายค่าแรงพนักงาน 50% รวมถึงควรหาแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ที่เข้าถึงง่ายให้กับผู้ประกอบการ ภาคการค้า และบริการ

ขณะที่ โควิดระลอกใหม่ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างหนัก โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคการค้าปลีก ค้าส่ง ศูนย์การค้า ร้านอาหาร และการท่องเที่ยว โควิดระลอกใหม่ เพียงแค่เขตการควบคุมพิเศษและเข้มงวดสีแดงเข้ม 6 จังหวัด จะกระทบถึง 22% ต่อ GPP รวมของประเทศ ซึ่งมีการจ้างงานภาคการค้าปลีก ค้าส่ง ศูนย์การค้า ร้านอาหาร และการท่องเที่ยว กว่า 3.12 ล้านคน

ห้าง 2

สมาคมฯ จึงวิตกถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่จะทำให้เกิดความเสียหายใกล้เคียงกับการล็อกดาวน์ เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ร้านค้าแม้ไม่ถูกปิด แต่ก็ไม่มีลูกค้า ภัตตาคาร ร้านอาหารไม่อนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารในร้าน ธุรกิจที่ผ่านมา ก็ได้ปิดกิจการเป็นจำนวนมาก การเลิกจ้าง การว่างงานมีมาอย่างต่อเนื่อง สต็อกสินค้าล้นเนื่องจากไม่มีการขาย ธุรกิจขาดสภาพคล่องอย่างหนัก

ดังนั้น สมาคมฯ ใคร่ขอตอกย้ำ และกระตุ้นภาครัฐ ให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีก ศูนย์การค้า และร้านอาหาร ดังนี้

1. สนับสนุนค่าจ้างพนักงาน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยมาตรการภาษี เพื่อไม่ให้มีการลดพนักงานหรือเลิกจ้าง

2. สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ผู้ประกอบการอย่างจริงจังและรวดเร็ว เพราะด้วยสภาพคล่องที่เหลืออยู่ของผู้ประกอบการค้าปลีกจะสามารถดำเนินธุรกิจได้เพียง 3-6 เดือน

3. ประกาศการจ้างงานแบบรายชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับการบริการต่อผู้บริโภคที่มาเป็นช่วงเวลา โดยให้ใช้กับธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารเป็นการเฉพาะก่อน

4. เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้รวดเร็ว ครอบคลุม และทั่วถึง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo