Stock - Finance

โควิด-19 พลิกโฉมหน้า ‘วงการประกันภัย’ เทคโนโลยีสร้างความคุ้มค่า-เฉพาะตัว

วงการประกันภัย พลิกโฉมหน้าจากโควิด-19 เทคโนโลยี สร้าง 4 เทรนด์สำคัญ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพิ่มความคุ้มค่า ออกแบบเฉพาะบุคคล สนองตอบตลาดโอกาสมหาศาล

วิกฤติ โควิด-19 ที่ทำให้เกิด วิถีชีวิตใหม่ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ กลายเป็นอานิสงส์ของ วงการประกันภัย ที่ต้องปรับตัวเพื่อคว้าโอกาสจากความต้องการทำประกันภัยที่เพิ่มขึ้น ผนวกกับการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ที่สามารถนำมาใช้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ วงการประกันภัยไทย จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

วงการประกันภัย

สำหรับมุมมองของ ดร. มหัทธนะ อัมพรพิสิฏฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) มองว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สุขภาพกลายเป็นเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในใจของคนไทย ที่ใช้ชีวิตกันอย่างระมัดระวังมากขึ้น และยอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลาย ๆ อย่าง เพื่อรักษาร่างกายให้แข็งแรง ทั้งทำงานจากบ้าน หันมาใส่ใจเรื่องอาหารการกิน ออกกำลังกาย รวมถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เข้ามาอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน และลดความเสี่ยงจากโควิด-19

วงการประกันภัยเอง ก็พัฒนาอย่างรวดเร็ว เพื่อก้าวให้ทันไลฟ์สไตล์คนไทย ช่วยหาทางป้องกันความเสี่ยงใหม่ ๆ ลดภาระค่าใช้จ่าย และสร้างหลักประกันในชีวิต เรียกได้ว่าปีที่ผ่านมาเป็นการพลิกโฉมอุตสาหกรรมประกันภัยอย่างรวดเร็วที่สุดครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะการเกิดของ 4 แนวโน้มสำคัญในปีนี้ ดังนี้

  • Digitalization ประกันภัยจะเป็นดิจิทัลยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ช่วงการระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 หลายคนได้รู้จักกับการซื้อประกันผ่านช่องทางออนไลน์เป็นครั้งแรก ซึ่งซื้อได้ผ่านคอมพิวเตอร์หรือมือถือตลอด 24 ชั่วโมง จ่ายเงินผ่านออนไลน์แบบไร้สัมผัส และรับกรมธรรม์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อเริ่มต้นความคุ้มครองทันที ทำให้การซื้อประกันเป็นเรื่องง่ายและรวดเร็ว

เทคโนโลยีดิจิทัล มีศักยภาพอีกมาก ที่จะช่วยยกระดับบริการของประกันภัย ในช่วงหลังการขาย เช่น กรณีของประกันภัยรถยนต์ หากเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ก็สามารถเรียกเคลมผ่านช่องทางออนไลน์ โดยรู้ล่วงหน้าว่า Surveyor หรือคนเคลมประกัน จะมาถึงจุดเกิดเหตุเมื่อใด ดึงข้อมูลกรมธรรม์ และเปิดเคลมโดยไม่ต้องแนบเอกสาร (Paperless) และยังเลือกอู่ และติดตามสถานะการซ่อมผ่านทางออนไลน์ได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ เครือข่าย 5G และอุปกรณ์ไอโอที (IoT) จะเชื่อมต่อทุกสิ่งเข้าด้วยกัน ประมวลผลและรายงานข้อมูลได้ทันที (Real-time) ไม่ว่าจะเป็นเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกอาคาร อุปกรณ์อัจฉริยะในบ้าน เซ็นเซอร์ Telematics ในรถยนต์ที่เก็บข้อมูลการเดินทางและการขับขี่ หรือแม้แต่สมาร์ทวอทช์

ตลาดไอโอทีในไทยจะเติบโตอีกมาก จากมูลค่า 3,600 ล้านบาทในปี 2561 เป็นเกือบ 66,000 ล้านบาทภายในปี 2573 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 27% ซึ่งข้อมูลสุขภาพ พฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือการขับขี่จำนวนมหาศาลเหล่านี้ จะช่วยให้เข้าใจผู้บริโภคได้อย่างลึกซึ้ง ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ทุกคนเพื่อชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

  • Untapped demand คนไทยและภาคธุรกิจยังต้องการทำประกันอีกมาก

เห็นได้ชัดจากประกันภัยโควิด-19 ที่ได้รับความนิยมสูงกว่า 9 ล้านกรมธรรม์ ภายในเวลาไม่นาน เนื่องจากคนไทยสนใจการบริหารความเสี่ยงในชีวิตมากขึ้น และเมื่อยิ่งคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมออนไลน์ ได้สัมผัสกับตัวเองว่าการทำประกันเป็นเรื่องสะดวก รวดเร็ว ราคาไม่แพง และเล็งเห็นความเสี่ยงอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ป้องกัน จะช่วยให้ตัดสินใจทำประกันภัยอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น ประกันโรคไข้เลือดออก ประกันอุบัติเหตุที่ครอบคลุมการขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ หรือประกันภัยที่ออกแบบมาให้เหมาะกับช่วงอายุและเพศ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังมีความต้องการใหม่ ๆ จากภาคธุรกิจ เช่น ประกันความปลอดภัยไซเบอร์ ประกันพืชผลทางการเกษตรหรือการประมง โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะสร้างอุปทานใหม่ ๆ มหาศาล ทั้งทรัพย์สินภาครัฐและภาคเอกชนที่ยังไม่ได้ทำประกัน โครงสร้างพื้นฐานและโครงการขนาดใหญ่ การขนส่งโดยสาร อาคารสาธารณะ สถานประกอบการความเสี่ยงสูง

Suit with Event BG
ดร. มหัทธนะ อัมพรพิสิฏฐ์

“เมกะเทรนด์ต่าง ๆ ของโลก ทั้งสังคมผู้สูงอายุ หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำให้ทุกคนหันมาสนใจทำประกัน เพื่อลดความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น”ดร. มหัทธนะ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเป้าหมายใหม่ ที่วงการประกันภัยให้ความสนใจอย่างมาก นั่นก็คือ กลุ่ม Generation C หรือ Generation Connection ที่มีการเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์อยู่ตลอดเวลา

  • More personalized and affordable คนไทยทุกคนเข้าถึงประกันภัยที่คุ้มค่าและเฉพาะตัว

นวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะอุปกรณ์ไอโอที การเชื่อมต่อข้อมูลต่าง ๆ เข้าด้วยกันแบบเรียลไทม์ และเทคโนโลยี AI ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของการทรานส์ฟอร์มของ TIC ไทยประกันภัยตั้งแต่ต้นปี 2020 ช่วยให้ธุรกิจประกันภัยสามารถเข้าใจผู้บริโภคแต่ละคนได้ดียิ่งขึ้น มอบความคุ้มครองอย่างเหมาะสมกับข้อมูลความเสี่ยงของแต่ละบุคคล คำนวณเบี้ยอย่างเป็นธรรม จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตจริง ไม่ใช่จากแบบทดสอบความเสี่ยง

ในภาพรวมของธุรกิจ เมื่อมีอุปทานของการทำประกันภัยสูงขึ้น ก็จะก่อให้เกิด Economy of scale หรือจุดคุ้มทุน ที่ทำให้ธุรกิจประกันภัยไทย สามารถนำเสนอความคุ้มครองที่หลากหลาย และครอบคลุมแก่คนจำนวนมากขึ้น ในราคาที่ถูกลง โดยเฉพาะเมื่อทุกอย่างเป็นดิจิทัล และไม่ก่อให้เกิดต้นทุน แม้มีผู้ทำประกันจำนวนมาก รวมถึงพอร์ตโฟลิโอของธุรกิจประกันภัย ที่ประกอบด้วยประกันหลากหลายประเภท จะช่วยกระจายความเสี่ยง และสุดท้าย ประโยชน์สูงสุดจะตกอยู่ที่ลูกค้า

  • Insurance will never be the same ประกันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เมื่อประกันภัยเข้ามาอยู่ในทุก ๆ มิติของชีวิตคนไทย ธุรกิจประกันภัยจะต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็นแพลตฟอร์ม เป็นตัวกลางเชื่อมต่อทั้ง Front-end และ Back-end กับพันธมิตรต่าง ๆ ผ่านเทคโนโลยี Open API สามารถนำผลิตภัณฑ์ประกันภัยไปพ่วงกับสินค้าและบริการที่หลากหลาย โดยเฉพาะอยางยิ่งบนช่องทางออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายมากขึ้น เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น

money ๒๑๐๕๐๔

นอกจากแบงก์แอสชัวรันส์ (Bancassurance) หรือการขายประกันผ่านธนาคารแล้ว ประกันภัยมีโอกาสสร้างพันธมิตรใหม่กับธุรกิจอื่นอีกมาก เช่น นำเสนอประกันอัคคีภัยเมื่อซื้อบ้าน ประกันอุบัติเหตุเมื่อซื้อหรือเช่ารถยนต์ ประกันการเดินทางเมื่อจองตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น

เมื่อประกันภัยกลายเป็นแพลตฟอร์ม จะดึงดูดพันธมิตรเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าของการทำประกันภัย (Value-added) สร้างสรรค์เป็นบริการใหม่ ๆ มอบแก่ผู้บริโภค เช่น บริการตรวจเช็ครถยนต์เมื่อถึงคราวต่อประกันอุบัติเหตุ บริการติดตั้งสัญญาณเตือนภัยหรือกล้องวงจรปิดเมื่อทำประกันภัยที่อยู่อาศัยหรือสถานประกอบการ หรือบริการตรวจสอบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเมื่อทำประกันภัยไซเบอร์ ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความประทับใจแก่ผู้ทำประกันแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงและค่าสินไหมที่จะเกิดขึ้นจากการเคลมประกันได้ด้วย

กล่าวได้ว่าวงการประกันภัยไทย อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับให้ประกันภัยเป็นเรื่องสะดวก คุ้มค่า ตอบโจทย์เฉพาะบุคคล และมีพันธมิตรใหม่ ๆ ช่วยเสริมให้ประกันภัยน่าสนใจ และสร้างวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงของคนไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo