Digital Economy

แท็กซี่ทะเบียนหมดอายุไม่ต้องกังวล สินเชื่อผ่านแกร็บ-เคแบงค์มาแล้ว

แท็กซี่สนไหม ธนาคารกสิกรไทยประกาศร่วมลงทุนในแกร็บ (Grab) แพลตฟอร์ม O2O หวังดึงสินเชื่อสู่รากหญ้า โดยตั้งเป้ากลุ่มแท็กซี่ และพาร์ทเนอร์ของกลุ่มเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้แม้ไม่มีบัญชีธนาคาร 

20181108 102800
บรรยากาศในงานแถลงข่าวความร่วมมือ และการลงทุนระหว่างกสิกรไทย กับแกร็บ ประเทศไทย

โดยความร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้การประกาศลงทุนในแกร็บของธนาคารกสิกรไทยผ่านบริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (Beacon VC) ด้วยเม็ดเงิน 50 ล้านดอลลาร์ ซึ่งใจความสำคัญอยู่ที่ฐานผู้ใช้งานแกร็บที่มีมากมายหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี กลุ่มคนขับแท็กซี่ กลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ โดยคนกลุ่มนี้ ยังมีอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน และไม่มีแม้แต่บัญชีธนาคาร

การลงทุนในแกร็บ จึงส่งผลให้ธนาคารกสิกรไทยเข้าถึงข้อมูลผู้บริโภคกลุ่มนี้ และสามารถนำปัญญาประดิษฐ์มาร่วมพิจารณาเสนอสินเชื่อแก่ลูกค้ากลุ่มนี้ได้อย่างตรงเป้าหมายมากขึ้นจากเดิมที่ธนาคารอาจไม่เคยมีข้อมูลลูกค้ากลุ่มนี้มาก่อน

โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ การที่นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย และนายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย พูดตรงกันว่า กลุ่มคนขับแท็กซี่ที่ทะเบียนกำลังจะหมดอายุในปีนี้ประมาณ 30,000 รายนั้น เป็นกลุ่มที่ต้องการสินเชื่อทางการเงินมากที่สุด ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หากจะกู้เงินซื้อรถใหม่ จำเป็นต้องมีหลักฐานทางการเงินเพื่อยื่นต่อธนาคาร เช่น สลิปเงินเดือน

“แต่คนขับแท็กซี่ไม่มีเงินเดือน สถาบันการเงินที่ไหนจะปล่อยกู้ เขาก็อาจต้องไปหยิบยืมหนี้นอกระบบ” นายธรินทร์กล่าว

20181108 102838

แกร็บ จึงมองว่า ด้วยฐานข้อมูลรายรับรายจ่ายของคนขับแท็กซี่ที่มีบนระบบของแกร็บ ผนวกกับความสามารถในการประเมินสินเชื่อจากธนาคารกสิกรไทย จะสามารถช่วยให้คนขับแท็กซี่เข้าถึงสินเชื่อที่เหมาะสม และไม่กลายเป็น NPL ได้นั่นเอง

สำหรับ GrabPay by KBank เป็นตัวช่วยสำคัญที่ขาดไม่ได้ และเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่เกิดจากการลงทุนดังกล่าว โดยจะเป็นบริการแบบเอ็กซ์คลูซีฟกับกสิกรไทย และจะมีการเชื่อมต่อระบบหลังบ้านของแกร็บและธนาคารกสิกรไทยเข้าด้วยกัน 

ทั้งนี้ นายธรินทร์เผยว่า การให้สินเชื่อรายย่อยนั้นสามารถเริ่มได้เลย โดยบริษัทมีการทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิด

20181108 104048

“กลยุทธ์ของแกร็บคือการพาร์ทเนอร์กับผู้นำตลาดของแต่ละประเทศ รวมถึงการร่วมมือกับภาครัฐอย่างใกล้ชิด ที่ผ่านมา เราร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการนำบริการแกร็บไปให้บริการในจังหวัดเมืองรอง เพื่อส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยว”

โดยนายธรินทร์ยังยกตัวอย่างบุรีรัมย์โมเดล ที่แกร็บสามารถสร้างเม็ดเงินให้เกิดขึ้นในช่วงการแข่งขันโมโตจีพีได้กว่า 1 ล้านบาทว่าเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จ และทำให้หลายจังหวัดเริ่มสนใจติดต่อขอคุยกับแกร็บเพื่อเปิดให้บริการในจังหวัดของตนเองบ้าง ล่าสุดคือพัทลุง

ปัจจุบัน ตัวเลขการเปิดให้บริการของแกร็บจึงครอบคลุม 16 จังหวัด 18 เมืองใหญ่ทั่วประเทศไทยแล้ว และจากการลงทุนในครั้งนี้ แกร็บยังสามารถนำบริการ Grab for Business ไปให้ลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารกสิกรไทยใช้งานได้ด้วย

 

Avatar photo