Digital Economy

‘เรียนทิพย์’ เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก การศึกษาแห่งอนาคต

เรียนทิพย์ เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก รวมถึงโลกการศึกษา ที่เทคโนโลยีเสมือนจริง และปัญญาประดิษฐ์ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพื่อแก้ไขความไม่ทั่วถึงของระบบการศึกษา และบุคลากร รวมถึงการพัฒนาทักษะ

จากปัจจุบัน ที่ระบบการศึกษา ยังคงมีปัญหาในหลายด้าน ทั้งความไม่เท่าเทียม ไม่ทั่วถึง และขาดการพัฒนาหลักสูตร ที่สอดคล้องกับโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยี ที่กลายเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ทำให้คาดการณ์ได้ว่า โลกการศึกษา ในอนาคต จะเปลี่ยนไป ด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ นำไปสู่การ เรียนทิพย์ ในโลกอนาคต

technologysocial media ๒๑๐๕๐๔

ดร.ปุญญภณ เทพประสิทธิ์ กรรมการผู้บริหารบริษัท เอ็มวีพี คอนซัลท์แทนท์ จำกัด บอกเล่าถึงโลกการศึกษาในอนาคต ไว้อย่างน่าสนใจ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “DrToy สปอยส์ธุรกิจ” ว่าเทคโนโลยี จะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก ในระบบการศึกษา อันเนื่องจากปัญหาของการศึกษาในปัจจุบัน พร้อมคาดการณ์ เทคโนโลยีกับการศึกษา และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมองว่า เทคโนโลยี VR, AI, AR, MR, XR จะเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก จนเป็นการ เรียนทิพย์ ดังนี้

ปัญหาด้านปริมาณและคุณภาพของการศึกษาในยุคปัจจุบัน

โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา นับตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน มีปัญหาที่สำคัญทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ในด้านปริมาณ จำนวนครูไม่เคยเพียงพอต่อการศึกษา ไม่ได้หมายถึงประเทศไทยเท่านั้น แต่กำลังหมายถึงทั้งโลก

UNESCO ประเมินไว้ว่า ถ้ารูปแบบการศึกษายังคงเป็นแบบห้องเรียนอยู่ต่อไป ภายในปี 2573 เราจะต้องการครูทั้งหมด 69 ล้านคน และด้วยปัญหาการขาดแคลนครู จะทำให้เด็กกว่า 263 ล้านคนทั่วโลกขาดการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ส่วนปัญหาด้านคุณภาพ คือ โมเดล One-size-fit-all ที่สอนแบบเดียวกันให้กับทุกคน

ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน โมเดล One-size-fit-all ถูกนำมาใช้มากที่สุด นั่นคือ รูปแบบการศึกษาแบบเดียวที่สอน และมอบให้กับทุกคนที่เข้ามาเรียน โดยไม่สนใจว่าใครคนนั้น จะได้ใช้หรือไม่ แต่เป็นการสอนและมอบให้เท่า ๆ กัน

การสอนของครูจำนวนไม่น้อย ก็เป็นการพยายามอย่างหนักเพื่อให้เด็ก ๆ สามารถผ่านการทดสอบ ว่าแต่การทดสอบนั้นคืออะไร? คุณจำได้ไหมว่าครั้งสุดท้าย คุณใช้การแยกตัวประกอบพหุนามเมื่อไหร่? คุณคงไม่ได้ใช้อะไรหลายอย่างในห้องเรียนอีกต่อไป เมื่อทุกอย่างถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งการมี แอปพลิเคชั่น

สมัยอดีต One-size-fit-all อาจใช้ได้ดี เพื่อให้เด็กมีพื้นฐานมากพอที่จะไปต่อได้ในโลก ที่การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป แต่ไม่ใช่สำหรับโลกในอีก 5-10 ปี ต่อจากนี้ รวมไปถึงเราทุกคนล้วนต่างกัน มาตรฐานการศึกษาสำหรับทุกคน จึงไม่มีอยู่จริง เมื่อเราทุกคนล้วนสัมผัส มีส่วนร่วมและซึมซับประสบการณ์ได้ไม่เท่ากัน และรับได้ต่างมุมมองกัน

ดร.ปุญญภณ เทพประสิทธิ์
ดร.ปุญญภณ เทพประสิทธิ์

One-size-fit-all เป็นปัญหาร้ายแรง อย่างในสหรัฐอเมริกา (USA) ที่กระทรวงศึกษาธิการ เห็นปัญหานี้ตั้งแต่ปี 2558 พบว่า มีนักเรียนจำนวนมากกว่า 7,000 คนต่อวันที่เลิกเรียนในระดับชั้นมัธยม คิดเป็น 1 คนในทุก ๆ 26 วินาที หรือปีละ 1.2 ล้านคน ด้วยปัญหาส่วนใหญ่ที่คล้ายกัน คือ ความเบื่อหน่ายของเนื้อหาการเรียน ที่ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตของพวกเขา

 

ครูแอนดรอยด์

Nicholas Negroponte ผู้ก่อตั้ง MIT’s Media Lab องค์กรที่เน้นการสร้างเทคโนโลยีและประสบการณ์ให้กับมนุษย์ เพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้ในอนาคต Nicholas เห็นปัญหาของระบบการศึกษา จึงได้ทำโครงการ “One laptop per child”และได้ส่งมอบแท็บเล็ต ที่มี แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ จำนวนมากให้กับเด็ก ๆ ทั่วโลก

ทั้งนี้ เพื่อที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก สามารถเข้าถึงการศึกษาพื้นฐาน เช่น การอ่าน การเขียน ผ่านแท็บเล็ต ที่เต็มไปด้วยแอปพลิเคชั่น การศึกษา เกมเพื่อการเรียนรู้ เพลงหรือภาพยนตร์

Nicholas ให้สัมภาษณ์ว่า เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ทุกอย่างจากแท็บเล็ตนี้ ภายใน 4 นาที พวกเขาจะไม่ได้แค่เปิดกล่องได้ แต่จะเจอปุ่มเปิดและปิดเครื่อง ภายใน 5 วัน พวกเขาจะเข้าถึงแอปมากกว่า 47 แอพต่อวัน ภายใน 2 สัปดาห์ พวกเขาจะร้องเพลง ABC ในหมู่บ้าน และภายใน 5 เดือน พวกเขาอาจแฮ็กระบบการทำงาน แอนดรอยด์ ก็เป็นได้

โครงการนี้ได้ถูกต่อยอดโดย XPRIZE ในปี 2560 เพื่อจะยกระดับการช่วยเหลือด้านการศึกษาให้สูงขึ้นไปอีกขั้น โดยได้รับทุนสนับสนุน 15 ล้านเหรียญฯ ในการทำโครงการ Global Learning XPRIZE ซึ่งทุนนี้มาจาก Elon Musk และการสนับสนุนของพันธมิตร กูเกิล เป้าหมายคือ ช่วยเด็กจำนวน 263 ล้านคนให้สามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องมีโรงเรียน

พวกเขารวมรวบรับสมัคร ทีมพัฒนาซอฟท์แวร์ กว่า 700 ทีมทั่วโลกในการพัฒนาแอปที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และคัดเลือกที่สุดของทีม จำนวน 5 ทีม เพื่อให้ทุน 1 ล้านเหรียญฯ ในการพัฒนาแอปและอัพโหลดไว้ใน Pixel C Tablet จำนวน 5,000 เครื่อง ที่ได้รับการสนับสนุนจากกูเกิล

technologysocial media ๒๑๐๕๐๔ 0

หลังจากนั้น 2 ปี มี 2 ทีมที่สามารถทำเงินด้วยแอปได้มากกว่า 10 ล้านเหรียญต่อปี นั่นคือ KitKit School จากเกาหลีใต้และ Onebillion จากเคนย่า ซึ่งทั้งสองทีมคือ ผู้ชนะจาก 5 ทีมสุดท้าย โครงการนี้ ได้ทำให้การศึกษาในประเทศแทนซาเนีย เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู รวมถึงคุณภาพการศึกษาได้

 

โรงเรียนในปี 2573 โรงเรียนแห่ง #VR #AI #AR #MR #XR

คลาสเรียนต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อระบบ Virtual Reality (VR) คือ จุดเริ่มต้นและไปต่อที่ MR (Mixed Reality) และ XR (Extended Reality) โดยในปี 2561 ประเทศอียิปต์ แก้ปัญหาที่คนจำนวนมากอาจไม่ได้เข้าชมสุสานฟาโรต์ เพราะสุสานจำนวนมาก มีช่วงเวลาที่ต้องบูรณะบ่อยครั้ง และมีข้อจำกัดด้านจำนวนผู้เข้าชม

Philip Rosedale, CEO แห่ง High Fidelity ได้สแกน 3-D Laser ทั่วทั้งสุสานของราชินีเนเฟอร์ติติ และสร้าง Virtual Tomb ได้อย่างน่าทึ่ง ทำให้คุณสามารถเดินทางเข้าไปยังสุสานและสัมผัสประสบการณ์ต่างๆ เสมือนจริง Philip และทีมของเข้าใจการออกแบบ UX และ UI เป็นอย่างดี ทำให้ทุกการเดินทางผ่านหน้าจอเข้าไปยังสุสาน คุณสามารถเดินชมได้เหมือนกับการเดินเข้าไปในสุสานของจริง

ความน่าสนใจของอนาคตการศึกษาคือ การผสมผสานระหว่าง VR กับ AI ด้วยการเชื่อมต่อระดับ 5G คือ แนวโน้มของห้องเรียนแห่งอนาคต VR มีหน้าที่สร้างสภาพแวดล้อมเสือนจริงให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ การได้สัมผัสและรับรู้แบบเสมือนจริง ขณะที่ AI ทำให้เทคโนโลยีทุกอย่างทำงานร่วมกันได้แบบเหมาะสม ด้วยความเข้าใจความต้องการของผู้เรียนเพื่อตอบสนองตามความต้องการ

technologysocial media ๒๑๐๕๐๔ 1

VR + AI ไม่ใช่เรื่องใหม่ คนในวงการนี้รู้ดีว่านี่คือ อนาคตของโลกการศึกษาและในอีกหลายอุตสาหกรรม ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการใช้ VR เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงรีสอร์ต ห้องพัก สภาพแวดล้อมต่าง ๆ สมือนจริง ก่อนการตัดสินใจเข้าพัก และมี AI คอยดูแล เสมือนพนักงานที่สามารถจัดการกองที่พัก จองการเดินทาง หรือจัดการแผนการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวได้

การผสมผสาน VR + AI จึงแก้ปัญหาได้ ทั้งด้านปริมาณที่จำนวนครูไม่พอ หรือปัญหาคุณภาพ ด้วยการลบ One-size-fit-all ออกไปจากรูปแบบการศึกษาในอนาคต ซึ่งเราจะไม่เห็นการศึกษานี้อีกต่อไป หรือเห็นน้อยลง เพราะบางสาขาที่เป็นพวกวิชาชีพ อาจยังต้องใช้ แต่ก็ใช้แค่ช่วงเวลาที่ AI กำลังเรียนรู้การทำงานแทนมนุษย์นั่นเอง

VR + AI จึงเป็นโลกอนาคตของการศึกษาในยุคสมัยใหม่ และเมื่อเพิ่ม AR หรือ Augmented Reality เข้าไป (นึกถึง Pokemon Go) การผสม AR เข้าไปคือ MR หรือ Mixed Reality ที่สร้างสภาพแวดล้อมเสมือนจริงผ่านดวงตา รวมไปถึงการสัมผัสจับตรงผ่านโฮโลแกรม

ลองนึกถึงการเรียนแพทย์ ที่ร่างกายมนุษย์จะฉายออกมาแบบเสมือนจริง แล้วเราสามารถที่จะสัมผัสจุดต่างๆ หรือเลื่อนไปมาและขยายให้เล็กหรือใหญ่ได้ ทำให้เราเห็นภาพทุกอย่างเสมือนจริง และตอบรับกับประสาทสัมผัสของเรา

เหนือกว่าอื่นใด คือ XR หรือ Extended Reality ที่รวมเอา VR AR และ MR เข้าไว้ด้วยกัน เป็นการต่อขยายเอาโลกเสมือนจริงและโลกจริง ๆ มารวมกัน ลองนึกภาพที่คุณเดินไปท่องเที่ยวกลางป่าเขา กับเพื่อนของคุณ โดยที่ตัวคุณอยู่ ณ กลางป่า และเพื่อนของคุณเที่ยวไปพร้อมคุณผ่านห้องนั่งเล่นของเขา

ปัจจุบัน XR กำลังถูกศึกษาอย่างหนัก และการทำงานของมันต้องใช้แว่นตา VR อยู่ อีกไม่กี่ปีต่อจากนี้เราคงเห็น Prototype ของ XR มาให้เห็นกันบ้าง เพราะหลายอุตสาหกรรมกำลังทดลองใช้อย่างหนัก ไม่เพียงแต่ด้านการศึกษา

อนาคตต่อจากนี้

อนาคตครูของลูกหลานเรา อาจไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป พวกเขาอาจเป็น AI หรืออุปกรณ์และ ซอฟท์แวร์ บางอย่าง ซึ่งทำงานได้ดี ตอบสนองความต้องการของนักเรียนแต่ละคนได้ และเชื่อมโยงโลกเสมือนจริงและโลกจริง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน เรียกได้ว่าประสบการณ์ของการศึกษาคงจะเปลี่ยนแปลงไปในระดับที่คนยุคเราที่ผ่านเรียน การสอบเข้ามหาวิทยาลัยคงนึกภาพไม่ออก

การมาของ XR คงทำให้หลาย ๆ อุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือได้เช่นกัน ลองคิดดูว่าถ้า XR มีการใช้อย่างสมบูรณ์แบบ คุณจะไปที่ไหนของโลกก็ได้ และจะกระทำอะไรก็ได้แบบเสมือนจริง ซึ่งโครงสร้างต่างๆ ทั้งกฎหมาย การเดินทาง และการใช้ชีวิตคงเปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว ถ้ามาช่วง โควิดนี้ เราคงไม่ต้อง “เที่ยวทิพย์” กันตลอดสงกรานต์ครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo