COVID-19

‘คลัง’ วางมาตรการ ‘เยียวยาโควิด’ แต่รอจังหวะประชาชนพร้อมออกมาจับจ่าย

“คลัง” วางมาตรการ “เยียวยาโควิด” แต่รอจังหวะปล่อยของ เมื่อประชาชนพร้อมออกมาจับจ่าย ด้านวัคซีน 100 ล้านโดสยึดแผนเดิม “รัฐบาล” เป็นผู้จัดหา

วันนี้ (30 เม.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนในประเด็นต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องจากได้ประกาศให้สื่อมวลชนงดเข้าปฏิบัติงานในทำเนียบรัฐบาล ระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 7 พฤษภาคม 2564 เพื่อป้องกันไวรัสโควิด – 19 แพร่ระบาด

คลัง เยียวยาโควิด

นายอนุชา กล่าวถึงประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 (ศบค.) ที่เป็นการขอความร่วมมือแทนการล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่า จะได้ผลในการควบคุมโควิด – 19 หรือไม่ว่า

หากประชาชนให้ความร่วมมือ จะสามารถทำให้สถานการณ์ระบาดของโควิด – 19 ลดลงไปได้ และทำให้การทำกิจกรรมต่าง ๆ และประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ นอกจากนี้ในเรื่องยา เวชภัณฑ์ ที่ใช้รักษาโควิด – 19 ทางกระทรวงสาธารณสุขยืนยันมีความพร้อมในทุกเรื่อง มีการนำเข้าสำรองและสต็อกไว้เพิ่มเติมแล้ว

สำหรับห้องพยาบาล โดยเฉพาะห้องผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) ทุกหน่วยงานได้มีการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนเพื่อสามารถให้การรักษาได้เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยที่มีอาการสาหัสหรือต้องใช้ห้อง ICU ซึ่งวันเดียวกันนี้ ได้มีการรายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่าโรงพยาบาลพระมงกุฏฯ จากเดิมที่มีห้อง ICU ปกติ ก็ได้มีการเพิ่มขึ้นมาเป็น 37 เตียง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการสาหัส

เช่นเดียวกับมาตรการ เยียวยาโควิด และกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการ คลัง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ ได้มีการวางแผนมาตรการต่าง ๆ อยู่ แต่การออกมาตรการทั้งหมด ต้องดูจังหวะเวลาที่ประชาชนสามารถออกมาจับจ่ายใช้สอยได้ตามปกติ

172228357 3394041690695428 9142217998988865328 n

ด้านข้อสรุปของภาคเอกชนที่ได้หารือร่วมกับนายกรัฐมนตรี ในส่วนการจัดหาวัคซีน โควิด – 19 นั้น นายอนุชาย้ำว่า รัฐบาลไม่ปิดกั้นในการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดหาวัคซีน โดยจากการหารือทางภาคเอกชนได้มีการชี้แจงว่าได้มีการติดต่อจัดหาวัคซีนกับผู้ผลิตจากต่างประเทศไปแล้ว แต่ในเรื่องการส่งมอบอาจเกิดความล่าช้า เพราะผู้ผลิตแต่ละที่แจ้งว่าจะสามารถส่งมอบได้ในไตรมาสที่ 4 หรือภายในปลายปีนี้

ดังนั้นในขั้นตอนนี้อาจเกิดความล่าช้าและอาจทับซ้อนกับส่วนที่รัฐบาลจัดหามาได้ ดังนั้นมีข้อสรุปว่าจะให้รัฐบาลเป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาวัคซีนตามแผนเดิมตามที่กำหนดไว้ภายในสิ้นปีนี้ จำนวน 100 ล้านโดส แต่ในส่วนการจัดหาวัคซีนของทางโรงพยาบาลเอกชนก็ยังดำเนินการ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับส่วนที่ภาคธุรกิจเอกชนจัด

“ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนก็ยังคงดำเนินการตามกลไกของคณะกรรมการจัดหารวัคซีนฯ ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน ซึ่งเป็นการจัดหาวัคซีนทางเลือกที่ยังคงดำเนินการอยู่ และขณะนี้สามารถพูดคุยเจรจาเพิ่มเติมเพื่อนำเข้าวัคซีนได้อีกทางเลือกหนึ่ง ดังนั้นขอยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นเรื่องวัคซีน เอกชนสามารถดำเนินการเข้ามาได้ ถ้าหาวัคซีนได้ทันตามกำหนด”นายอนุชา กล่าว

นายอนุชา กล่าวถึงการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนขอรับวัคซีนป้องกัน โควิด – 19 ว่า ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ให้รีบลงทะเบียนเพื่อเข้ารับวัคซีนผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อมตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (1 พ.ค.) เป็นต้นไป

หากไม่มีสมาร์ทโฟนก็ให้ติดต่อนัดหมายที่โรงพยาบาลใกล้บ้านที่มีประวัติการรักษาอยู่แล้ว ขณะที่ต่างจังหวัดให้ไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือติดต่ออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ โดยในกลุ่มนี้ประมาณ 16 ล้านคน จะเริ่มฉีดวัคซีนภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ จากนั้นก็จะเป็นการฉีดให้ประชาชนทั่วไป ตั้งแต่อายุ 18 – 59 ปี ประมาณ 31 ล้านคน ซึ่งจะให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมและจะเริ่มฉีดเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป

ยอดติด โควิด - 19

ล่าสุดติด “โควิด – 19” สะสม 6.5 หมื่นราย

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 หรือ ศบค. อัพเดทสถานการณ์ โควิด – 19 วันนี้ 30 เมษายน 2564 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,583 คน ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสมล่าสุดอยู่ที่ 65,153 คน พบผู้เสียชีวิตรายใหม่ 15 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมทั่วประเทศอยู่ที่ 203 ราย ผู้ป่วยรักษาตัวหายกลับบ้านเพิ่ม 860 คน รวมยอดผู้ป่วยรักษาตัวหายกลับบ้านได้แล้ว 36,254 คน ยังเหลือรักษาตัวในโรงพยาบาล 28,696 คน

ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด – 19 ระลอกใหม่ หรือระลอกที่ 3 ซึ่งเริ่มต้นในเดือนเมษายน 2564 ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของประชาชนอย่างหนัก โดยล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 เหลือ 2.3% จากประมาณการครั้งก่อน ณ เดือนมกราคม 2564 อยู่ที่ 2.8%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo