Business

คมนาคมข้องใจแผนแก้ปัญหา ขอการบินไทยเคลียร์ด่วน 3 ประเด็น!

 แก้ปัญหาการบินไทย คมนาคมถกแผนแก้ปัญหาการบินไทย ตั้ง 3 ประเด็น ขอการบินไทยเคลียร์ให้ชัด ข้องใจใช้สินทรัพย์จาก 5 BU ไม่ปรากฎในแผนระดมทุน  การทำการบินไทยให้เป็น Holdings  ระบุข้อเสียซื้อหุ้นคืนกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ หวั่นพนักงานฟ้องกลับ 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้มีการประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยที่ประชุม เห็นว่าแผนแก้ไขปัญหาการบินไทยที่จะหาทางออกร่วมกัน ยังมีรายละเอียดจึงต้องหารือกระทรวงการคลังเพื่อขอแผนฟื้นฟูการบินไทย ที่ผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย และกระทรวงคลังทำขึ้น ประชุมพิจารณาคู่ขนานเพื่อช่วยหาทางออกให้การบินไทย ก่อนที่จะมีการเสนอให้ นายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ในที่ประชุมของกระทรวงคมนาคม ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแผนการแก้ปัญหาการบินไทย ใน 3 ประเด็น พร้อมส่งให้การบินไทยพิจารณาแก้ไขแล้วประกอบด้วย

 แก้ปัญหาการบินไทย

1. การใช้สินทรัพย์จากหน่วยธุรกิจ (Business Unit : BU) ทั้ง 5 กิจการ ประกอบด้วย 1.ธุรกิจครัวการบิน 2.ธุรกิจคาร์โก้ 3.ธุรกิจบริการภาคพื้น 4.ธุรกิจลานจอด และ 5 ธุรกิจซ่อมบำรุง  ทำไมไม่ปรากฎในแผนทั้งการระดมทุน และการทำการบินไทยให้เป็น Holdings

2. การทำประมาณการตัวเลข หลังจากใส่เงินไป 50,000 ล้านบาท เป็นในเชิงแนวปฏิบัติที่ดี (Best practices) ในสายการบินชั้นนำระดับโลก ซึ่งยากต่อการควบคุมให้การบินไทยมีต้นทุนต่ำ จนกว่าจะมีผลกำไรคืนทุน จึงควรทำ sensitivities คือ ในเชิงต้นทุนเพิ่มขึ้น หรือหากกิจการไม่ สามารถดำเนินการในระยะ 1 ปีครึ่งจะทำอย่างไร

3. สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความน่าเชื่อถือขององค์กร หากไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการบริหารแบบเอกชน จะทำอย่างไร

 แก้ปัญหาการบินไทย

 

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่าในส่วนของกระทรวงคมนาคม ที่ผ่านมาได้มีการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการบินไทย ซึ่งเป็นแนวทางที่ภาครัฐสามารถนำพิจารณา ใน 2 แนวทาง คือ

ทางเลือกที่ 1 ดำเนินการตามที่กระทรวงการคลัง และการบินไทยเสนอให้รัฐเข้าซื้อหุ้นการบินไทยให้ได้กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ

ทางเลือกที่ 2 เสนอให้จัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่ เพื่อกำหนดเป็นสายการบินแห่งชาติในอนาคต  ปล่อยให้ การบินไทย เป็นบริษัทเอกชนเช่นเดิม และดำเนินการไปตามกระบวนการฟื้นฟูของศาลต่อไป

โดยได้เปรียบเทียบให้เห็นว่า แนวทางที่ 1 หากรัฐเข้าไปซื้อหุ้นการบินไทยจะมีความเสี่ยงตามในเรื่องของ พ.ร.บ. และกฎหมายต่างๆ ที่ทำให้เกิดเป็นภาระทั้งบริษัท และรัฐ  ที่สำคัญรัฐจะตอบสังคมอย่างไรกรณีเปลี่ยนสภาพไปมา ส่วนพนักงานที่ออกไปแล้วอาจกลับมาฟ้องร้องบริษัทได้ ขณะเดียวกันรัฐอาจต้องมีภาระสนับสนุนเงินทุนในรูปแบบต่างๆ อีก ปีละกว่า 50,000 ลล้านบาท ตาม KPI ของสำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยรัฐอาจจำเป็นต้องเข้าไปค้ำประกันไม่น้อยกว่า 3-5 ปี จนกว่าการบินไทยจะกลับมามีกำไร คาดว่ารัฐต้องใช้เงินค้าประกันหรือสนับสนุนเงินลงทุนกว่า 150,000-250,000 ล้านบาท ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า

หากแผนฟื้นฟูไม่สำเร็จภาระจะกลับมารัฐทันที ที่สำคัญปัจจัยความสำเร็จต่างๆ ของการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูที่คมนาคมเสนอไว้ในการประชุม คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. ได้มีการดำเนินการหรือยัง หากยังจะมั่นใจได้อย่างไรว่าแผนฟื้นฟูสำเร็จ

 แก้ปัญหาการบินไทย

ส่วนแนวทางเลือกที่ 2 รัฐตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่  ให้การบินไทยดำเนินการฟื้นฟูต่อไป จะเห็นว่า หากรัฐตั้งองค์กรใหม่ขึ้นเป็นสายการบินแห่งชาติในอนาคต ข้อดีคือ บริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้นจะมีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากเป็นการดำเนินการจากเล็กไปใหญ่ ไม่มีหนี้สินใช้เงินลงทุนไม่เกิน 50,000 ล้านบาท บริษัทใหม่สามารถคัดบุคลากรใหม่ นำมืออาชีพทั้งจากภายนอก และภายในองค์กรการบินไทยเข้ามาร่วมงาน

 แก้ปัญหาการบินไทยจบไม่ลง

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาการบินไทย ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ตัวแทนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ, สำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ, บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด บริษัทผู้จัดทำแผนฟื้นฟู, ที่ปรึกษาทางการเงิน, ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และ การบินไทย

โดยแนวทางของกระทรวงการคลัง ต้องการนำการบินไทย กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ด้วยการให้กองทุนวายุภักษ์ขายหุ้นการบินไทยตั้งแต่ 2.15% ขึ้นไปแก่บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ (DAD) ที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 100% เมื่อรวมกับหุ้นการบินไทยที่กระทรวงการคลังถืออยู่ 47.86% จะทำให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง

ขณะที่กระทรวงคมนาคมเห็นว่า แนวทางดังกล่าวจะทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระหนี้สินของการบินไทยเป็นหนี้สาธารณะ ปัจจุบันการบินไทยมีหนี้สินเพิ่มขึ้นจาก 2 แสนล้านบาท เป็น 3 แสนล้านบาทได้ เห็นควร ตั้งองค์กรใหม่ขึ้นเป็นสายการบินแห่งชาติในอนาคต

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมพร้อมให้การสนับสนุน กระทรวงการคลัง และการบินไทยที่จะแก้ไขปัญหาการบินไทย หากแผนฟื้นฟูที่จัดทำขึ้นมีความสมบูรณ์ แต่หากกระทรวงคมนาคมพิจารณาแผนแล้วเห็นว่าไม่เรียบร้อย เรื่องนี้ก็ต้องมาหารือร่วมกันว่า ไม่เรียบร้อยเรื่องไหน อยากให้แก้ไขสำเร็จเพราะการบินไทยคือ สายการบินของคนไทย ส่วนแนวทางที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้มีการจัดตั้งสายการบินแห่งชาติขึ้นมาใหม่  ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทาง  ที่ประชุมมีสิทธิ์ที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight