Business

ผู้ป่วยโควิด รักษาฟรี! สปสช. เน้นย้ำ รพ.ห้ามเก็บเงินเพิ่ม เปิดค่าใช้จ่ายให้รู้ชัด ๆ เช็คเลย!

ผู้ป่วยโควิด รักษาฟรี สปสช.ย้ำ โรงพยาบาลรัฐ-เอกชน ห้ามเรียกเก็บเงินเพิ่ม ยืนยันจ่ายครอบคลุมทุกกรณี ทั้งค่ายา ค่ารถส่งต่อ ค่าตรวจแล็บ ชุด PEE ห้องความดันลบ รพ.สนาม ฮอสพิเทล

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายดูแลคนไทยทุกคน ด้านการรักษาพยาบาล และการตรวจโควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดังนั้น ผู้ป่วยโควิด รักษาฟรี โรงพยาบาลห้ามเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยในทุกสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นกรณีสงสัยว่า ติดเชื้อ และกรณีที่ติดเชื้อแล้ว และไม่มีคำว่า เรียกเก็บส่วนที่เกินจากที่รัฐบาลจ่ายให้ เพราะรัฐบาลจ่ายให้ครอบคลุมในทุกกรณีแล้ว

ผู้ป่วยโควิด รักษาฟรี

ในส่วนของการตรวจโควิด-19 โรงพยาบาลจะเบิกจ่ายจาก กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองทั้งหมด แต่ในส่วนการรักษาพยาบาล หลังตรวจพบเชื้อ จะเบิกจ่ายตามสิทธิหลักประกันสุขภาพที่มี เช่น สิทธิประกันสังคม เบิกจ่ายกับ สำนักงานประกันสังคม สิทธิข้าราชการ เบิกจ่ายจาก กรมบัญชีกลาง และสิทธิบัตรทองเบิกจ่ายกับ สปสช. เป็นต้น

ทั้งนี้ พบว่า มีข้อร้องเรียนทาง โซเชียลมีเดีย ประชาชนบอกว่าถูกเรียกเก็บเงิน หรือต้องจ่ายเงินเอง ขอเรียนข้อเท็จจริงว่า หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19 และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ทั้งภาครัฐและเอกชน ในกรณีของโรงพยาบาลเอกชน นั้น สปสช.ได้ทำข้อตกลงกับภาคเอกชนแล้วว่า จะไม่มีการเรียกเก็บเงิน จากผู้ป่วยโดยเด็ดขาด

แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยบางราย มีประกันสุขภาพเอกชน ก็อาจจะต้องใช้ส่วนนั้นไปก่อน ส่วนการจ่ายชดเชยให้โรงพยาบาลเอกชนนั้น จะเป็นไปตามระบบ UCEP หรือรักษาฉุกเฉินเร่งด่วน โรงพยาบาลไม่ต้องกังวล ได้รับค่ารักษาแน่นอน

“ที่ผ่านมา มีค่ารักษาผู้ป่วยโควิด 1 ราย โรงพยาบาลส่งเบิกมา 8 แสนบาท ซึ่งเป็นกรณีวิกฤติหรือสีแดง ตรงนี้ สปสช.ก็เบิกจ่ายให้กับโรงพยาบาลไปแล้ว หรือกรณีผู้ป่วยโควิด-19 สีเหลืองอาการไม่รุนแรง ที่โรงพยาบาลส่งเบิกเข้ามาตามหลักเกณฑ์ มี 1 รายที่มีค่ารักษาประมาณ 4 แสนบาท สปสช.ก็เบิกจ่ายให้กับโรงพยาบาลไปแล้วเช่นกัน” นพ.จเด็จ กล่าว

ดังนั้น ขอยืนยันว่า สปสช. จะจ่ายชดเชยให้ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยครอบคลุม ทั้งผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน โดยกรณีผู้ป่วยนอก (OP) จะจ่ายค่าห้องปฏิบัติการ (Lab) ค่าเก็บตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายในกรณีที่มียารักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือค่ารถส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ บ้าน ค่าด่านตรวจคัดกรองหรือ State Quarantine (SQ)

กรณีผู้ป่วยใน (IP) จะมีการจ่ายชดเชย ค่า Lab ค่ายารักษา และค่าชุด PPE หรืออุปกรณ์ที่ป้องกันการแพร่กระจ่ายเชื้อ จะมีการจ่ายชดเชยตามจริง ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ได้เข้าไปสัมผัสผู้ติดเชื้อ ขณะที่ค่าห้องนั้น ถ้าจำเป็นต้องรักษาในห้องความดันลบ (Negative Pressure) ทาง สปสช. ก็จะจ่ายชดเชยให้ 2,500 บาทต่อวัน

ส่วนค่าหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ เช่น โรงพยาบาลสนาม และ ฮอสพิเทล (Hospitel) หากโรงพยาบาลเห็นว่า มีความจำเป็นต้องย้ายผู้ป่วย ไปรักษาตัวยังสถานที่นั้น ๆ ก็จะมีการจ่ายชดเชยให้ไม่เกิน 1,500 บาท ต่อคนต่อวัน รวมไปถึงค่ารถ ที่ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังจุดต่าง ๆ ด้วย

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

เปิดเกณฑ์การจ่ายชดเชยโควิด-19 ให้หน่วยบริการหรือโรงพยาบาล เพิ่มเติมจากระบบปกติ ครอบคลุม ดังนี้

  • กรณีผู้ป่วยนอก (OP)

1. ค่าตรวจ Lab + ค่าเก็บตัวอย่าง

2. ค่ายาที่เป็นการรักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อCovid 19 จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาทต่อราย

3. ค่ารถส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ, บ้าน , ด่าน ,SQ + ชุด PPE +ยาฆ่าเชื้อ (จ่ายตามจริงตามระยะทาง+3,700บาท)

  • กรณีผู้ป่วยใน (IP)

1. ค่าตรวจ Lab + ค่าเก็บตัวอย่าง

2. ค่ายาที่เป็นการรักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อ Covid 19 จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาทต่อราย

3. ค่าชุด PPE เหมาจ่าย 740 บาท ต่อ ชุด หรือ ค่าอุปกรณ์อื่นเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ตามอาการเล็กน้อย จ่ายตามจริงไม่เกิน 11,100 บาท ต่อวัน หรือ อาการรุนแรงจ่ายตามจริงไม่เกิน 22,200 บาท ต่อวัน

4. ค่าห้อง

1) ค่าห้องควบคุม หรือห้องดูแลการรักษาภายในรพ. จ่ายตามจริงไม่เกิน 2,500 บาทต่อวัน

2) ค่าหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ Covid 19 จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,500 บาทต่อวัน (หอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 คือ สถานที่อื่นของหน่วยบริการ ที่จัดให้เป็นหอผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของหน่วยบริการนั้น ๆ ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือแนะนำ เช่น Cohort ward, Camp Isolation, โรงพยาบาลสนาม Hospitel เป็นต้น)

สปสช. 1

5. ค่ารถส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ, บ้าน, ด่าน, SQ + ชุด PPE +ยาฆ่าเชื้อ (จ่ายตามจริงตามระยะทาง+ค่าอุปกรณ์ป้องกันและทำความสะอาด 3,700บาท)

ขณะที่ค่าตรวจ Lab + ค่าเก็บตัวอย่าง หรือค่าตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ครอบคลุมบริการตรวจคัดกรอง 4 รายการ ได้แก่

1. การตรวจด้วยวิธี RT-PCR โดยการทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแลปจ่ายตามจริงไม่เกิน 1,600 บาท ค่าบริการเหมาจ่าย 600 บาท ค่าเก็บตัวอย่างเหมาจ่าย 100 บาท

2. การตรวจด้วย RT-PCR โดยการทำแบบรวมตัวอย่าง ทั้งตัวอย่างน้ำลายแบบรวมตัวอย่าง (Pooled savila samples) และตัวอย่างป้ายหลังโพรงจมูกและป้ายลำคอแบบรวมตัวอย่าง (Pooled swab samples) แยกเป็น

  • การตรวจตัวอย่างน้ำลายแบบรวมตัวอย่าง (Pooled saliva samples) อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแลปจ่ายตามจริงไม่เกิน 320 บาท ค่าบริการเหมาจ่าย 100 บาท ค่าเก็บตัวอย่างเหมาจ่าย 100 บาท
  • การตรวจตัวอย่างป้ายหลังโพรงจมูก และป้ายลำคอแบบรวมตัวอย่าง (Pooled nasopharyngeal and throat swab samples) อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแลปจ่ายตามจริงไม่เกิน 400 บาท ค่าบริหารเหมาจ่าย 75 บาท และค่าเก็บตัวอย่างเหมาจ่าย 100 บาท
  • การตรวจด้วยวิธี Realtime RT-PCR กรณีการทำ Pooled Sample มีผลตรวจเป็นบวก อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแลปจ่ายตามจริงไม่เกิน 1,600 บาท ค่าบริการและเก็บตัวอย่างรวมเหมาจ่าย 200 บาท

3. การตรวจภูมิคุ้มกัน (Antibody) ค่าบริการเหมาจ่าย 350 บาท

4. การตรวจเชื้อไวรัส (Antigen) สำหรับหน่วยบริการที่ทำการตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันเชื้อโควิด-19 นี้ ต้องผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการและได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,200 บาท โดยในกรณีฉุกเฉินตรวจร่วมกับ RT-PCR กำหนดจ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo