COVID-19

11 สภาวิชาชีพ ผนึกตั้งสมาพันธ์ฯ รวมใจสู้ภัยโควิด ชวนอาสาสมัคร ช่วยหมอ-พยาบาล

11 สภาวิชาชีพ ผนึกกำลัง ตั้งสมาพันธ์สภาวิชาชีพ รวมใจกู้ภัยโควิด-19 รับอาสาสมัคร ช่วยแพทย์-พยาบาลฯ ทำงาน 24 ชั่วโมง ติดเชื้อโควิดจากการดูแลผู้ป่วย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย น.ส.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล ในฐานะประธานสมาพันธ์สภาวิชาชีพ ร่วมกันแถลงข่าว 11 สภาวิชาชีพ ผนึกกำลัง ตั้งสมาพันธ์สภาวิชาชีพ รวมใจกู้ภัยโควิด-19 หลังบุคลากรทางการแพทย์ ทำงานสู้โควิดต่อเนื่อง 24 ชม. โดยเปิดรับอาสาสมัครทุกวิชาชีพ ร่วมบรรเทางานแพทย์ พยาบาล

11 สภาวิชาชีพ

สำหรับ 11 สภาวิชาชีพ ได้แก่ แพทยสภา, สภาการพยาบาล, สภาเภสัชกรรม, ทันตแพทยสภา, สภาวิศวกร, สัตวแพทยสภา, สภาเทคนิคการแพทย์, สภากายภาพบำบัด, สภาสถาปนิก, สภาทนายความ และสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์

ทั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาโควิด โดยนำทักษะเฉพาะด้านของสภาวิชาชีพต่าง ๆ มาช่วยสนับสนุนการทำงานของ กระทรวงสาธารณสุข อาทิ ทักษะด้านการออกแบบของสภาสถาปนิก มาออกแบบรพ.สนาม หรือสถานที่ฉีดวัคซีน หรือรถโมบายโคฮอต เพื่อให้ความปลอดภัย หรือแม้แต่ทักษะการฉีดยา ทั้งเภสัชกร สัตวแพทย์ ทันตแพทย์ มาอบรมเพิ่มและช่วยฉีดวัคซีนให้ประชาชน เป็นต้น

นายอนุทิน กล่าวว่า หากได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายวิชาชีพต่างๆ ที่มีสมาชิกมากกว่า. 5 แสนคน ช่วยเหลือสนับสนุน เชื่อว่าการฉีดวัคซีนให้กับคนไทยจำนวนมากจะเป็นไปตามเป้าหมาย โดยการฉีดวัคซีนไม่ได้จำกัดแค่คนไทย แต่รวมคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทยทุกคน พร้อมชื่นชมขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียสละ ทำงานท่ามกลางสถานการณ์ที่กดดัน น่ากลัว แต่ก็ยังทำงานอย่างต่อเนื่อง

วิชาชีพ1

น.ส.ทัศนา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์โควิด-19 จะพบว่า บุคลากรทั้ง แพทย์ พยาบาล ต่างทำงานอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชม. มีทั้งแพทย์ พยาบาล ติดเชื้อ และ ถูกกักตัวในแต่ละรพ. มีพยาบาลติดเชื้อกักตัว เฉลี่ย 20-30 คน โดยมีสถานพยาบาลใน กทม. ต้องกักตัวแพทย์พยาบาลมากถึง 17 แห่ง และ มีกลุ่มพยาบาลถูกกักตัวมาก 78 คน พบในโรงเรียนแพทย์ พื้นที่กทม. ทำให้สูญเสียบุคลากรในการทำงาน ทำให้งานหนักล้นมือ

“บางรพ. พยาบาล 1 คน ดูแลผู้ป่วยมากถึง 100 เตียง จากเดิม พยาบาล 1 คนดูแล 20 เตียงเท่านั้น จึงถือว่าเป็นภาวะวิกฤต จึงอยากเชิญชวนทุกวิชาชีพร่วมกันเป็นอาสาสมัครในการช่วยแก้ไขวิกฤติโควิด”น.ส.ทัศนา กล่าว

 

สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย ทั้ง 11 สภาวิชาชีพ ได้มีมติร่วมกัน ในการรวบรวม ผู้ประกอบวิชาชีพ ที่มีความรู้ และสามารถจัดสรรเวลาเพื่อมาเป็นอาสาสมัครร่วมปฏิบัติภารกิจที่จะสามารถปฏิบัติได้เพื่อช่วยแบ่งเบาการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข UHOSNET กรุงเทพมหานครและหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ โดยมีหลักการร่วมกัน ดังนี้

1. การปฏิบัติภารกิจในสถานการณ์นี้ ไม่ถือว่าเป็นการก้าวล่วงการปฏิบัติของวิชาชีพอื่น ที่มีกฎหมายกำกับอยู่

2. ต้องมีการเตรียมความรู้ และความพร้อมให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบุคลากรมีความปลอดภัย

วิชาชีพ

ประเด็นที่บุคลากรของแต่ละสภาวิชาชีพ จะร่วมปฏิบัติได้ มีดังนี้

  • การให้ข้อมูลและให้คำปรึกษา – ปฏิบัติได้ทุกสาขาวิชาชีพ
  • การฉีดวัคซีน – วิชาชีพแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ ปฏิบัติได้
  • การบริหารจัดการโรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม/ UHOSNET/ Hospitel – ปฏิบัติได้ทุกสาขาวิชาชีพ
  • การให้บริการ การดูแลในหอผู้ป่วยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ผู้ป่วย COVID- 19 – วิชาชีพการพยาบาล ปฏิบัติได้
  • การตรวจคัดกรอง และ swab เพื่อหาเชื้อ COVID-10 – ปฏิบัติได้ทุกสาขาวิชาชีพสุขภาพที่ได้รับการอบรมเพิ่มเติม
  • การจัดเตรียมโรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม ดัดแปลงอาคาร ห้องความดันลบ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องมือ
  • ปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงการบริหารจัดการพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีความปลอดภัย – วิชาชีพวิศวกร สถาปนิก ปฏิบัติได้

พร้อมกันนี้ แต่ละสภาวิชาชีพ ได้โพสต์แบบรับลงทะเบียนอาสาสมัครใน websiteของแต่ละสภาวิชาชีพ ในหัวข้อ “สมาพันธ์สภาวิชาชีพรวมใจ สู้ภัยโควิด-19”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo