World News

มั่นใจ ‘วัคซีนไฟเซอร์ – ไบออนเทค’ สู้โควิด – 19 กลายพันธุ์ในอินเดียได้

มั่นใจ “วัคซีนไฟเซอร์ – ไบออนเทค” สู้โควิด-19 กลายพันธุ์ในอินเดียได้ ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนทดสอบประสิทธิภาพ

อูกูร์ ซาฮิน ซีอีโอของไบออนเทค (BioNTech) แสดงความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ร่วมพัฒนากับไฟเซอร์ (Pfizer) บริษัทเภสัชภัณฑ์ของสหรัฐว่า สามารถต้านเชื้อไวรัสโควิด ชนิดกลายพันธุ์ ที่พบครั้งแรกในอินเดียได้

วัคซีนไฟเซอร์ โควิดอินเดีย 111

ซาฮิน ผู้ร่วมก่อตั้งไบออนเทค บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของเยอรมนี ออกมาแสดงความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของวัคซีน ขณะเชื้อไวรัสฯ “ชนิดกลายพันธุ์คู่” กำลังแพร่ระบาดหนักในอินเดียและสร้างความกังวลแก่สาธารณชนเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน

ซาฮินระบุว่า วัคซีนของไบออนเทค/ไฟเซอร์ ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพต่อเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ กว่า 30 สายพันธุ์ โดยมากแล้วประสิทธิภาพของวัคซีนต่อเชื้อไวรัสฯ เหล่านั้นอยู่ในระดับเดียวกันกับเชื้อไวรัสฯ ชนิดดั้งเดิม และปัจจุบันมีการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนต่อเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ที่พบในอินเดียต่อไป

เมื่อเร็ว ๆ นี้ เชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์ บี.1.617 (B.1.617) แพร่ระบาดหนักในอินเดีย ซึ่งตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มมากกว่า 300,000 รายต่อวันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ดังกล่าวเกิดจากการกลายพันธุ์ 2 ครั้ง ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์บางส่วนคาดว่าอาจทำให้มีการติดเชื้อและแพร่ระบาดสูงกว่าเดิม รวมถึงวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจด้อยประสิทธิภาพลง

ด้านสถาบันโรแบร์ตค็อก (RKI) หน่วยงานป้องกันและควบคุมโรคของเยอรมนี ระบุว่าเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ดังกล่าว ที่อยู่ภายใต้การสังเกตการณ์เป็นพิเศษ ถูกพบในเยอรมนีเป็นบางช่วงเท่านั้นและยังไม่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ทั้งยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากพอจะระบุว่าเชื้อไวรัสฯ ตัวนี้ “จะสร้างความกังวล” ให้เยอรมนี

วัคซีนโควิดไฟเซอร์คืออะไร

วัคซีนโควิดไฟเซอร์ (Pfizer-covid vaccine) มีชื่อทางการว่า BNT162b2 เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่คิดค้นโดยบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ร่วมกับบริษัทสัญชาติเยอรมันชื่อ ไบออนเทค

จากการศึกษาวัคซีนไฟเซอร์ กับผู้อาสาสมัครกว่า 43,000 คน พบว่าวัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพถึง 95% ซึ่งสูงกว่าที่องค์การอาหารและยาสหรัฐ (Food and Drug Administration: FDA) ตั้งไว้ในการอนุมัติฉุกเฉินอยู่ที่ 50%

วัคซีนโควิดไฟเซอร์ฉีดอย่างไร

วัคซีนโควิดไฟเซอร์ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 21 วัน ใช้วิธีการฉีดเข้ากล้ามเนื้อแขนด้านบน

วัคซีนโควิดไฟเซอร์เหมาะกับใคร

บริษัทไฟเซอร์และไบโอเอ็นเท็คแนะนำให้ผู้ที่มีเงื่อนไขต่อไปนี้ อาจเหมาะสมสำหรับวัคซีนไฟเซอร์

  • ผู้ที่อายุ 16 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่อายุเกิน 65 ปีขึ้นไป แต่จากการศึกษาพบว่าร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาที่มีก็ยังอาจมีความเป็นไปได้ที่คนกลุ่มนี้จะได้ประโยชน์จากวัคซีนชนิดนี้

ปัจจุบันบริษัทไฟเซอร์ได้เริ่มการทดลองวัคซีนในเด็กอายุ 12 ปี และวางแผนศึกษาในเด็กอายุต่ำกว่านั้น จึงต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป

shutterstock 1901704972

วัคซีนโควิดไฟเซอร์ไม่เหมาะกับใคร

  • ผู้ที่มีอาการแพ้ หรือโรคภูมิแพ้ทั้งแบบรุนแรง และไม่รุนแรง ต่อส่วนผสมของ mRNA ในวัคซีนโควิด-19 ไม่ควรรับวัคซีนชนิดนี้
  • ผู้ที่มีอาการแพ้โพลี เอธิลีน ไกคอล (Polyethylene glycol: PEG) และ พอลิซอร์เบต (Polysorbate) เป็นสารชนิดหนึ่งที่ใช้ในเครื่องสำอาง และยาบางชนิด

ผลข้างเคียงของวัคซีนโควิดไฟเซอร์

เป็นธรรมดาของวัคซีนหลายชนิดที่อาจส่งผลข้างเคียงได้ วัคซีนโควิดไฟเซอร์เองก็เช่นกัน ดังนี้

  • มีไข้ หนาวสั่น
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • อ่อนเพลีย
  • ปวด บวม บริเวณที่ฉีด

โดยผลข้างเคียงเหล่านี้อาจเริ่มใน 1-2 วัน หลังจากรับวัคซีน จากกลุ่มทดลองพบว่า ผลข้างเคียงเกิดขึ้นหลังจากฉีดเข็มที่ 2 และควรจะหายไปในไม่กี่วัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo