The Bangkok Insight

สื่อฮ่องกงชี้ ‘บิ๊กตู่’ เจอวิกฤติความเชื่อมั่น ‘โควิด-วัคซีน’ เขย่าเก้าอี้

สื่อดังฮ่องกงระบุ “ประยุทธ์” กำลังเผชิญวิกฤติความเชื่อมั่น ในช่วงเวลาที่ไทยกำลังเผชิญกับการระบาดอย่างหนัก ของไวรัสโควิด และจากเรื่องที่รัฐบาลจัดหาวัคซีนป้องกันโควิดอย่างล่าช้า

วันนี้ เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยระบุว่า ผู้นำไทย กำลังตกอยู่ในวิกฤติความเชื่อมั่น ตกเป็นเป้าโจมตีอย่างหนัก กรณีรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย รวมถึง ความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด

IMG 20210427091503000000

รายงานระบุว่า การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศ ถือเป็นกุญแจสำคัญของไทย ในการเปิดภาคการท่องเที่ยว ที่กำลังซบเซาอย่างหนัก โดยก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิดนั้น ภาคอุตสาหกรรมนี้ ทำรายได้คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทย

แต่กระบวนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด ที่ดำเนินไปอย่างล่าช้า ทำให้แผนเปิดอุตสาหกรรมทองเที่ยว ตกอยู่ในความเสี่ยง ทั้งยังจุดชนวนให้ภาครัฐตกอยู่ท่ามกลางวิกฤติความเชื่อมั่น

ปัจจุบัน ไทยได้รับวัคซีนจากซิโนแวคมาแล้ว 2.5 ล้านโดส และคาดว่าจะได้รับเพิ่มอีก 1 ล้านโดส ในเดือนพฤษภาคมนี้ ทั้งระหว่างเดือนมิถุนายน-ธันวาคม คาดว่า จะมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่ผลิตในประเทศ ออกมาอีกราว 61 ล้านโดส ทั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์  ยังเปิดเผยว่า ได้เปิดเจรจากับไฟเซอร์ และบริษัทสัญชาติรัสเซีย เพื่อจัดหาวัคซีนเพิ่ม จาก 2 แหล่งดังกล่าว ประมาณ 5-10 ล้านโดส แต่ยังไม่ระบุวันส่งมอบ

ขณะนี้ มีชาวไทยเพียง 1% จากจำนวประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรด้านสาธารณสุข รวมถึงประชากรกลุ่มเสี่ยง ทำให้ภาคเอกชน เริ่มกดดันไปยังรัฐบาล ให้เร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม โดยหวังว่าจะเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เร็วขึ้น

รัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตนักการทูตไทย ที่ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว ให้ความเห็นว่า รัฐบาลตั้งความหวังกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่ผลิตในประเทศมากเกินไป ซึ่งจริง ๆ แล้วไทยควรเข้าร่วมโครงการจัดหาวัคซีนระดับนานาชาติ อย่าง โคแวกซ์ ควบคู่ไปกับการผลิตวัคซีนในประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (27 เม.ย.) 2564 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนกำลังพยายามจัดหาวัคซีนเพิ่ม ทั้ง 2 ส่วน จะหาแนวทางการทำงานร่วมกัน และรัฐบาล ต้องรับผิดชอบ กับผลกระทบ ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน

shutterstock 1938615013

ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ เกิดขึ้นจากแรงกดดัน ทั้งจากผู้ประกอบการธุรกิจเอกชน ไปจนถึงบุคลากรสาธารณสุข อาทิ บนโลกออนไลน์ เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา มีการเปิดหัวข้อบนเว็บไซต์ Change.org เรียกร้อง ให้ปลด “อนุทิน ชาญวีรกูล” ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 1 แสนคนภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ท่ามกลางสถานการณ์ที่ระยะเวลาเพียง 25 วันแรกของเดือน เมษายน 2564 ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ถึง 26,000 คน มากกว่าตลอดทั้งปี 2563 ที่พบผู้ติดเชื้อเพียง 7,000 คน

นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวจากกลุ่มที่เรียกตนเองว่า “ไทยไม่ทน” ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มผู้สนับสนุน “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกกองทัพทำรัฐประหารในปี 2549 ขณะที่ตัวของ ทักษิณ เองก็เคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ด้วยการปราศรัยผ่านแอพพลิเคชั่นคลับเฮาส์ โดยใช้นามแฝงว่า โทนี วูดซัม มีผู้ใช้แอปคลับเฮาส์ติดตามกว่า 200,000 คน

เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ทักษิณ อ้างว่าตนสามารถเจรจากับ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน  แห่งรัสเซีย ในการจัดหาวัคซีนสัญชาติรัสเซียอย่างสปุตนิก วี เพราะตนกับปูติน ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

พร้อมกับเสนอให้ 2 มหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของไทยอย่าง ธนินท์ เจียรวนนท์ จากซีพี และ เจริญ สิริวัฒนภักดี จาก  ไทยเบฟ ใช้ความสัมพันธ์ที่มีกับประเทศจีนและสิงคโปร์ตามลำดับ ช่วยจัดหาวัคซีนสำหรับประเทศไทยอีกทาง

เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์  ยังรายงานอ้างการแสดงความคิดเห็นของ “ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์” นักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่ระบุว่า การมุ่งเน้นในรูปลักษณ์ภายนอก และความเชื่อมั่นในธุรกิจของทักษิณ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีภูมิหลังมาจากอาชีพทหาร

108152636 2685651118203301 3638489990623507445 n
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

ทักษิณได้รับความสนใจเพราะเคยชนะการเลือกคั้ง ต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่เข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารในปี 2557 และแม้ต่อมาจะชนะการเลือกตั้งในปี 2562 แต่การเลือกตั้งหนดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

ขณะที่ “พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช  อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไม่ขอยืนยันว่า ทักษิณจะประสานกับรัฐบาลรัสเซียได้หรือไม่ แต่ยืนยันว่าทักษิณยังมีความสัมพันธ์อันดี กับผู้นำรัสเซีย และอีกหลายประเทศ แม้ว่าทักษิณจะไม่มีอำนาจแล้วก็ตาม

ทักษิณรู้จักการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลระหว่างผู้นำทั่วโลกที่นอกเหนือระเบียบการปกติ และมีครั้งหนึ่ง ที่ตนติดตามทักษิณไปรัสเซียตามกำหนดการอย่างเป็นทางการ ในครั้งนั้น ปูติน เป็นคนขับรถพาทักษิณไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์เป็นการส่วนตัว

ส่วน เติมศักดิ์ เฉลิมพลานุภาพ นักวิชาการรับเชิญ สถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ประเทศสิงคโปร์ มองว่า ท่าทีของ ทักษิณ อาจเป็นเพราะกลัวจะถูกสังคมไทยลืม จึงต้องออกมาเคลื่อนไหว อย่างน้อยก็บนโลกออนไลน์

แต่ก็ยอมรับว่าทักษิณนั้นฉลาดมากที่หยิบยกเรื่องการมีเพื่อนฝูงเป็นบุคคลระดับสูงขึ้นมากล่าวอ้าง ในขณะที่ความเชื่อมั่นของ พล.อ.ประยุทธ์ ลดลงจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกล่าสุด

ถึงกระนั้น นักวิเคราะห์หลายคนก็มองว่า แม้จะมีกระแสความไม่พอใจจากประชาชน แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นเป็นภัยคุกคามต่อสถานะทางอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์

เมื่อต้นเดือนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ พรรคการเมืองซึ่งสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ไปดำเนินโครงการพัฒนา ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นความเคลื่อนไหว เพื่อหาฐานเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้ง

พล.อ.ประยุทธ์ ยังให้คำมั่นเรื่องการจัดงบประมาณ ราว 380,000 ล้านบาท เพื่อเยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้จะทำให้หลายคนกังวลเรื่องปัญหาหนี้ของภาครัฐก็ตาม

อีกทั้ง การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ของกลุ่มไทยไม่ทน ที่นำโดย จตุพร พรหมพันธุ์  อดีตแกนนำกลุ่มเสื้อแดง ที่เคยชุมนุมประท้วงกองทัพในปี 2553 กลับถูกมองว่า เป็นเพียงการใช้ประโยชน์ จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่รวมถึงประเด็นสถาบันกษัตริย์

รายงานข่าวนี้ ทิ้งท้ายด้วยความเห็นของ ปวิน ที่มองว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะล้มเหลวในการรับมือโรคระบาด แต่ก็ยังมีฐานเสียงจากกองทัพ ตลอดจนชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ให้การสนับสนุน

ส่วน พอล แชมเบอร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะชี้ชัดว่า การเคลื่อนไหวของจตุพร ได้รับการสนับสนุนจากทักษิณหรือไม่ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถใช้สถานการณ์โรคระบาด เพื่อปราบปรามการชุมนุมได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo