COVID-19

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ มอบอำนาจกฎหมาย 31 ฉบับให้ ‘นายกฯ’ แก้โควิด

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ มอบอำนาจ ของ “รัฐมนตรี” ตามกฎหมาย 31 ฉบับให้ “นายกฯ” สั่งการแก้โควิด – 19

วานนี้ (27 เม.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

พระราชบัญญัติ

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ มอบอำนาจ ให้ “นายกฯ”

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง และมีประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 นั้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 ให้ยกเลิกประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 และให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมายโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน ดังต่อไปนี้

1.พระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ. 2558

2.พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510

3.พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561

4.พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456

5.พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497

6.พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.2560

7.พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551

8.พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562

9.พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535

10.พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522

11.พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542

12.พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ.2495

13.พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530

14.พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551

15.พระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ.2522

16.พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551

17.พระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ.2558

18.พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550

19.พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533

20.พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522

21.พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497

22.พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535

23.พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

24.พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544

25.พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542

26.พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509

27.พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541

28.พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559

29.พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

30.พระราชบัญญัติ องค์การเภสัชกรรม พ.ศ.2509

31.พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522

ทั้งนี้ ให้รวมถึงกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวข้างต้นด้วย

ให้ส่วนราชการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายข้างต้นยังคงใช้อำนาจหน้าที่เช่นเดิมต่อไป ตามหลักเกณฑ์ที่นายกรัฐมนตรีกำหนด เว้นแต่จะมีประกาศหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2564 เป็นต้นไป

อนุชา ชี้แจง มติ ครม.

“โฆษกรัฐบาล” แจงแค่เปิดช่องสั่งการตรง ไม่ใช่ยึดอำนาจ

ก่อนหน้านี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงเรื่อง ประกาศการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) ว่า

จากประกาศดังกล่าว รัฐมนตรียังมีอำนาจอยู่ ยกเว้นบางเรื่องที่นายกรัฐมนตรีสั่งการได้ จากเดิมที่จะต้องผ่านรัฐมนตรีเท่านั้น​ ซึ่งไม่ใช่เป็นการไปยึดอำนาจจากรัฐมนตรีมาทั้งหมด แต่เป็นการเสริมอำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการได้โดยตรงมากกว่า

เมื่อถามว่ารัฐมนตรีจะไม่อำนาจอนุมัติหรืออนุญาตในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมายทั้ง 31 ฉบับที่อยู่ในประกาศฉบับนี้ใช่หรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า สามารถดำเนินการได้​ เพียงแต่ว่า นายกรัฐมนตรีอาจจะมีคำสั่งเฉพาะเรื่อง​ที่สามารถสั่งการได้โดยตรงได้ จากเดิมที่จะต้องสั่งการไปยังรัฐมนตรีก่อน​

ขอยืนยันว่าไม่ได้ไปยึดอำนาจรัฐมนตรี แต่เป็นเหมือนให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งการได้ด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo