COVID-19

ทำความรู้จัก ‘สปุตนิก วี’ วัคซีนโควิด ที่ไทยสั่งซื้อ แต่ ‘บราซิล’ ชี้ ‘บกพร่องรุนแรง’

วัคซีนโควิด สปุตนิก วี : เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ชื่อของ “สปุตนิก วี” (Sputnik V) วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 กลายมาเป็นที่สนใจของใครหลายคนในประเทศไทย หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาบอกว่า ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ยินดี ที่จะให้การสนับสนุนไทย ในการซื้อวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดตัวนี้  ในรูปแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี 

สถานการณ์ดังกล่าว จะทำให้ วัคซีนโควิด สปุตนิก วี ที่พัฒนาขึ้นโดยสถาบันกามาเลยา ของรัสเซีย กลายมาเป็น 1 ใน 5 วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ทางการไทยจะจัดซื้อเข้ามา เพื่อฉีดให้กับประชาชนในประเทศ ท่ามกลางการเผยแพร่ข้อมูล ที่แสดงให้เห็น่ว่า วัคซีนโควิดสัญชาติรัสเซียตัวนี้ มีคุณภาพสูง การทดลองแสดงให้เห็ถึงประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้มากถึง 97.6%

วัคซีนโควิด สปุตนิก วี

บราซิลชี้ “สปุตนิก วี” เสี่ยงเกินไป

เรื่องข้างต้น กลับตรงกันข้ามกับเหตุการณ์ในบราซิล ที่ล่าสุด คณะกรรมการ 5 คน ของ “อันวิซา” (Anvisa) หน่วยงานคุมกฎระเบียบด้านสาธารณสุขของบราซิล ประเทศที่มียอดสะสมผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ลงมติเป็นเอกฉันท์ ไม่อนุญาตให้ใช้ “สปุตนิก วี” ในประเทศ ตามคำร้องขอของผู้ว่าการรัฐต่าง ๆ ที่ต้องการใช้วัคซีนตัวนี้ เพื่อรับมือกับการระบาดที่รุนแรงอย่างมาก

มติดังกล่าวมีขึ้น หลังเจ้าหน้าที่เทคนิคในบราซิล ย้ำว่า วัคซีนดังกล่าว มี “ปัจจัยเสี่ยงแฝงอยู่”  และมี “ข้อบกพร่องรุนแรง” อีกทั้งยังขาดข้อมูลยืนยัน ในเรื่องความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิภาพในการป้องกันโรค

ขณะที่ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการเฝ้าระวังด้านสุขภาพของอันวิซา ระบุว่า เมื่อพิจารณาเอกสารทั้งหมด ข้อมูลที่ตรวจสอบเอง และข้อมูลจากหน่วยงานอื่น ๆ พบว่า วัคซีนสปุตนิก วี มี “ปัจจัยเสี่ยง” แฝงอยู่มากเกินไป

นอกจากนี้ ผู้จัดการฝ่ายยาชีววัตถุของอันวิซายังกล่าวว่า วัคซีนดังกล่าว มีอะดีโนไวรัส ที่อาจแพร่พันธุ์ได้ ซึ่งถือเป็นข้อบกพร่องรุนแรง

ทั้งนี้ บราซิลได้ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 โดสแรกให้แก่ประชาชนราว 27.3 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 13 จากประชากรทั้งหมด 211 ล้านคน โดยในขณะนี้ บราซิลมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมราว 14.4 ล้านคน และผู้เสียชีวิตเกือบ 400,000 คน โดยที่พบผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

วัคซีนโควิด สปุตนิก วี

ทำความรู้จัก “สปุตนิก วี”

ชื่อ สปุตนิก วี  ของวัคซีนตัวนี้ เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามดาวเทียมสปุตนิก หมายเลข 1-4 (Sputnik I-IV)  ที่รัสเซีย ส่งขึ้นไปโคจรนอกโลก ก่อนใครเพื่อน  ซึ่งรัสเซียตั้งชื่อนี้ ให้กับวัคซีนป้องกันโควิด เพื่อสื่อว่า สามารถผลิตวัคซีนได้ก่อนใครในโลก จึงตั้งชื่อเดียวกับดาวเทียมดังกล่าว แล้วนำลำดับที่ 5 มาต่อท้ายชื่อวัคซีน

วัคซีนสปุตนิก-วี ได้รับการอนุมัติใช้ในหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่ สถาบันกามาเลยาของรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้พัฒนาวัคซีนดังกล่าว และกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติรัสเซีย (RDIF) เผยเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า จากข้อมูลการทดสอบในกลุ่มผู้ทดลอง 3.8 ล้านคนทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์ของรัสเซีย พบว่า วัคซีนสปุตนิก-วี มีประสิทธิภาพป้องกันโรคโควิด-19 ได้สูงถึงร้อยละ 97.6 โดยมีอัตราการติดเชื้อเพียงร้อยละ 0.027 เท่านั้น หลังได้รับวัคซีนโดสแรกแล้ว 35 วัน

อย่างไรก็ดี สหภาพยุโรปยังคงไม่อนุมัติใช้วัคซีนของรัสเซียเช่นเดียวกับอันวิซา โดยระบุว่าจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อยืนยันผลการทดลอง และกระบวนการผลิต

ชื่อของ “สปุตนิก วี” เป็นที่รู้จักของชาวโลกเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว จากการที่รัสเซีย ออกมาประกาศ ถึงความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ตัวแรกของโลก และว่า สปุตนิก ไฟฟ์  คือเครื่องพิสูจน์ว่า วงการวิทยาศาสตร์รัสเซียเป็นผู้นำโลก ดังเช่นที่เคยส่งดาวเทียมสปุตนิก ไปโคจรในอวกาศได้เป็นรายแรกของโลก

สปุตนิก วี เป็นวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (viral vector vaccine) แบบเดียวกับวัคซีนที่ “มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า” พัฒนาขึ้นในสหราชอาณาจักร และไม่ได้ใช้เชื้อตายแบบที่ซิโนแวค หรือ ซิโนฟาร์ม ใช้ 

วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ ผลิตขึ้นโดยใช้ไวรัสชนิดที่ทำให้อ่อนฤทธิ์แล้ว และไม่เป็นอันตรายต่อคน มาตัดต่อใส่สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ลงไป แล้วฉีดเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ เพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันจดจำเชื้อไวรัส จนสามารถตรวจจับ และต่อสู้กับเชื้อได้

วัคซีนสัญชาติรัสเซียตัวนี้  ใช้วิธีการผลิตแบบเวกเตอร์วัคซีน คือ ใช้ไวรัสที่อ่อนแอ และไม่ก่อโรค มาตัดต่อใส่พันธุกรรมโปรตีนหนามของโควิดเข้าไป ซึ่งด้วยวิธีนี้ วัคซีนที่ฉีดเข้าไป จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านไวรัสโควิดขึ้นมา โดย ตัววี ในชื่อ สปุตนิก วี นอกจากจะมาจากภาษาโรมัน ที่แปลว่า 5 แล้ว ยังเล่นคำมาจาก คำว่า “เวกเตอร์ ไวรัส” ซึ่งเป็นเทคนิคการผลิตวัคซีนที่นิยมใช้ และที่ผ่านมา ก็ใช้กับหลายโรคเช่น โรคโปลิโอ เป็นต้น

วัคซีนโควิด สปุตนิก วี

ขณะที่เฟซบุ๊ก “Anan Jongkaewwattana” ของ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์ และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)  โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ สปุตนิก วี ตอนหนึ่งว่า

….. วัคซีน Sputnik V ออกแบบ มาเป็นแบบ 2 เข็ม โดยเข็มแรกใช้ไวรัส Adenovirus 26 ฉีดไปแล้ว 3 อาทิตย์ ต้องกระตุ้นด้วยเข็มที่ 2 ที่ใช้ไวรัส Adenovirus 5

สาเหตุที่ต้องใช้ไวรัส 2 ชนิด เพราะ Adenovirus ก็เป็นไวรัสเหมือนกัน การฉีด Adenovirus 26 เข็มแรกไป ร่างกายก็จะรู้จัก และสร้างภูมิต่อ Adenovirus 26 เช่นกัน

ดังนั้น เพื่อให้การกระตุ้นเข็มที่สองไม่ถูกรบกวนจากภูมิดังกล่าว เข็มสองจึงใช้ไวรัสต่างชนิดกัน คือ Adenovirus 5 [ตรงนี้เห็นมีการรายงานออกมาสลับกัน จริง ๆ ต้อง 26 แล้วตามด้วย 5 ไม่ใช่ 5 ตามด้วย 26 นะครับ มีเหตุผลในการใช้แบบนี้นะครับ แต่จะยาวเกิน ขอไม่อธิบาย]

จะว่าไป Sputnik V ก็คือการใช้วัคซีนของ Johnson & Johnson (ซึ่งก็คือ Adenovirus 26 เหมือนกัน) แล้ว ฉีดกระตุ้นด้วย วัคซีนของ Cansino Biologics ของจีน (ซึ่งก็คือ Adenovirus 5) คล้าย ๆ กับเราใช้วัคซีน 2 ยี่ห้อนี้ พร้อม ๆ กันนั่นเอง แต่การออกแบบแอนติเจนจะต่างกันเล็กน้อย

โดย J&J บอกว่า ของเขาไม่ต้องกระตุ้นก็ได้ ใช้เข็มเดียวอยู่ แต่ Sputnik V ก็บอกว่า ถ้ากระตุ้น ประสิทธิภาพของวัคซีนขึ้นสูงไปถึง มากกว่า 90%

ข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีน Sputnik V นับว่าสูงมาก (ข้อมูลแบบไม่เป็นทางการล่าสุดออกมาจากรัสเซียว่าได้สูงถึง 97%) แต่ข้อมูลการป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์ ที่เป็นปัญหาเช่น แอฟริกาใต้ และ บราซิล ยังไม่มีออกมา และ ทางบริษัทยังไม่มีการพบอาการลิ่มเลือดอุดตัน ที่พบในวัคซีน Viral vector ชนิดอื่น ๆ

ซึ่ง Absence of evidence is not evidence of absence คงต้องดูกันยาว ๆ ไปครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo