Business

วิกฤติ แรงงานไทย ‘แบกหนี้ท่วม’ หาได้ไม่พอจ่าย รัดเข็มขัดแน่นขึ้น 67.6% ไม่มีเงินเก็บ

ม.หอการค้า เปิดผลสำรวจ แรงงานไทย แบกหนี้ท่วม โควิด-19 ซัดหนัก หนี้ครัวเรือนพุ่งกว่า 2 แสนบาท รายได้ไม่พอใช้จ่าย ไม่มีเงินเก็บ หวั่นการงานไม่มั่นคง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า จากการสำรวจ สถานภาพแรงงานไทย ปี 2564 โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 1,256 ตัวอย่าง ทั่วประเทศระหว่างวันที่ 18-22 เม.ย. 2564 พบว่า แรงงานไทย แบกหนี้ท่วม จากพิษโควิด-19 โดยกลุ่มตัวอย่าง 98.1% มีหนี้สินครัวเรือน เฉลี่ยต่อครัวเรือน 205,809.81 บาทผ่อนชำระรวม 8,024.47 บาทต่อเดือน

แรงงานไทย แบกหนี้ท่วม

ทั้งนี้ แบ่งเป็นหนี้สินในระบบ 71.6% ผ่อนชำระต่อเดือน 7,781.31 บาทต่อเดือน ดอกเบี้ย 11.25%ต่อปี นอกระบบ 28.4% ผ่อน 3,223.02 บาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 19.00% ต่อเดือน

จากภาวะหนี้ที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่มาจาก การเป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การชำระหนี้เก่า ส่งผลทำให้สภาพคล่องของแรงงานลดลง มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย จนต้องมีการก่อหนี้เพิ่ม ส่งผลทำให้หนี้ของแรงงานในปีนี้ขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ 29.56% รวมทั้งต่อเงินสะพัดในช่วงวันแรงงานปีนี้เหลือ 1,790 ล้านบาท ลดลง 19.7% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี

เมื่อเปรียบเทียบการใช้จ่ายในช่วงวันแรงงาน ช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คือปี 2562 กับปี 2564 พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ในปี 2562 ใช้จ่ายเท่าเดิม 50.1% จำนวนปริมาณการซื้อ ส่วนใหญ่น้อยลง 49.1%

.หอการค้า 1

ขณะที่การใช้จ่ายวันแรงงาน 1 พฤษภาคมปีนี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 65.1% ตอบว่า จะใช้จ่ายน้อยลง รวมทั้งด้านจำนวนปริมาณการซื้อส่วนใหญ่ กลุ่มตัวอย่าง 66.4% ตอบว่า ลดปริมาณการซื้อลง และ 66.3% ระบุว่า บรรยากาศวันแรงงานปีนี้ จะไม่คึกคัก

นอกจากนี้ ยังพบว่า แรงงานไทย มีความวิตกกังวลเกี่ยวกันงานที่ทำ ซึ่งส่วนใหญ่มองว่า ไม่มีความมั่นคง โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้มีอาชีพรับจ้างได้เงินเป็นรายเดือน และผู้ที่รับจ้างรายวัน รายสัปดาห์ รับเป็นชิ้นงาน และส่วนใหญ่จะเร่งหางานใหม่ทำ ก่อนจะออกจากงานเดิม

ที่น่าเป็นห่วงคือ 58.2% ของกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า เงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ไม่เกิน 3 เดือน ขณะที่อีก 25.9% คาดการณ์ไว้ที่ 4-6 เดือน ส่วนระยะเวลา 7-9 เดือน อยู่ที่ 2.4%, ระยะเวลา 10-12 เดือน อยู่ที่ 2.6% และมากกว่า 12 เดือน อยู่ที่ 2.6% ภาพรวมโดยเฉลี่ยอยู่ได้ 4.6 เดือน

หอการค้า การออม

ในส่วนของการออมของ แรงงานไทย พบว่า 67.6% ไม่มีเงินเก็บ มีเพียง 32.4% ที่มีเงินเก็บและเก็บเพียง 9.14% ของรายได้ ซึ่งลดลงจากปี 2562 ที่มีการเก็บ 14.9% ของรายได้ โดยปัจจุบันกลุ่มตัวอย่างระบุการเก็บออมแบ่งเป็นต่ำกว่า 500 บาทต่อเดือน 9.0% เก็บ 500-1,000 บาท 57.4% เก็บ 1,001-2,500 บาท 28.7% เก็บ 2,501-5,000 บาท 4.9% รวมเฉลี่ยต่อเดือนเก็บออม 896.93 บาทต่อเดือน

ขณะเดียวกัน กลุ่มแรงงานยังมีความกังวลต่อประเด็นต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจของประเทศไทย, การแพร่ระบาดของโควิด-19, การไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19, ราคาสินค้าในปัจจุบัน, ราคาสินค้าในอนาคต, รายได้ปัจจุบัน, การตกงาน, รายได้ในอนาคต และเงินไม่พอชำระหนี้ เป็นต้น

“ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่าง เคยผิดนัดชำระหนี้ 85.1% โดยมีสาเหตุมาจากการขาดสภาพคล่อง, รายจ่ายเพิ่ม, เงินไม่พอจ่าย, รายได้ไม่พอ, การแพร่ระบาดของโควิด-19, ตกงาน, เศรษฐกิจไม่ดี

ขณะที่สถานภาพทางการเงินของแรงงาน กรณีที่รายได้ไม่พอกับรายจ่ายในปัจจุบัน 71.5% ระบุว่า มีปัญหารายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย สาเหตุมาจากภาระหนี้สินมากขึ้น 24.5%, ราคาสินค้าแพงขึ้น 23.0%, รายได้ไม่เพิ่ม 16.9%, อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น 13.6%, มีของที่ต้องการซื้อเพิ่มขึ้น 13.6% และรายได้ลดลง 8.2%

ตกงานหนี้ ปิดกิจการ ๒๑๐๔๒๗ 0

ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย มาจากการกู้ยืมเงินในระบบ 47.2%, นอกระบบ 13.6%, นำเงินออมออกมาใช้ 12.0%, ขายจำนำสินทรัพย์ที่มี 12.3%, ขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้อง 9.6% และหาอาชีพเสริม 5.3%

สำหรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ สิ่งที่แรงงานไทยต้องการมากที่สุดคือ ความช่วยเหลือในด้านหนี้สินครัวเรือน จากมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมจากสถานการณ์โควิด 86.05%, ลดอัตราดอกเบี้ย 13.95%, ลดภาระค่าครองชีพ ผ่านมาตรการต่าง ๆ ทั้งคนละครึ่ง เราชนะ ม.33 เรารักกัน เราไม่ทิ้งกัน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และลดค่าน้ำค่าไฟฟ้า 1.49%

ด้านความเห็นเกี่ยวกับความพร้อมของการรับวัคซีนส่วนใหญ่ 42.0% มีความพร้อมมาก 29.9% ปานกลาง 19.5% ระบุมีความพร้อมน้อย 19.5% ไม่พร้อมเลย 8.6% โดยกลุ่มที่ระบุว่า พร้อมน้อย และไม่พร้อมเลย เนื่องจากกลัวมีอาการแพ้ กลัวมีผลข้างเคียง และกังวลเรื่องคุณภาพวัคซีน อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวใหญ่ส่วนใหญ่ เชื่อมั่นว่า วัคซีนจะช่วยป้องกันการระบาดของโรคได้

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า แรงงานไทย ยังมีความเสี่ยงว่างงานสูงสุดในรอบ 5ปี โดยอัตราการว่างงานเฉลี่ยตอนนี้อยู่ที่ 1.6%ซึ่งอาจถือว่าเป็นอัตราไม่สูง เพราะไทยไม่มีการปลดคน และพยายามประคองการจ้างงาน แต่หากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิดได้ สถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น ต่อเนื่องไป 3เดือนก็อาจจะมีแรงงานกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ออกมาอีก 5-7แสนคน ที่เสี่ยงจะออกมาแล้วหางานทำไม่ได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo