Business

‘BTS’ ลั่นฟ้อง ‘กทม.’ ทวงหนี้ 3 หมื่นล้าน ยันไม่เกี่ยวแลกสัมปทานรถไฟฟ้า

“BTS” ลั่น ฟ้อง “กทม.” ทวงหนี้ 3 หมื่นล้าน ปกป้องผู้ถือหุ้น ยันไม่เกี่ยวแลกขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

วันนี้ (26 เม.ย.) เวลา 11.00 น. นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) ได้ชี้แจงความคืบหน้าเรื่อง “การดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว” ผ่านทางเพจ Facebook : รถไฟฟ้า BTS ดังนี้

สืบเนื่องจากบริษัทส่งหนังสือติดตามทวงถามตามกฎหมายให้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ชำระหนี้แก่บริษัท ซึ่งปรากฏในสื่อและหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมาก

BTS ฟ้อง กทม. ทวงหนี้รถไฟฟ้า 1

ซึ่งเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 60 วัน ตามที่บริษัทได้ระบุไว้ในหนังสือทวงถามนั้น บริษัทก็ยังไม่ได้รับแจ้งถึงแนวทางการชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนจากภาครัฐแต่อย่างใด และต่อมาเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564  บริษัทได้ออกจดหมายและคลิปวีดีโอชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเดิน รถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้ผู้โดยสาร และประชาชนทั่วไปรับทราบ โดยบริษัทยืนยันว่าการใช้สิทธิทางกฎหมายที่ผ่านมา บริษัทไม่เคยกระทำการใด ๆ ที่ส่งผลกระทบหรือเรียกร้องให้ภาครัฐใช้อำนาจตามกฎหมายกำหนดอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้น

ณ ปัจจุบัน ทางบริษัทกำลังประสบปัญหาอย่างมาก จากการต้องแบกรับภาระหนี้จำนวนมากเป็นระยะเวลานานกว่า 4 ปี นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 ที่เริ่มเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ได้แก่ ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าโดยสารให้แก่ประชาชน

ตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้พยายามติดต่อ กทม. และกรุงเทพธนาคม เพื่อหาทางออกกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนถึงแนวทางการชำระหนี้ ทำให้ ณ ปัจจุบัน ภาระหนี้สะสมที่ภาครัฐบาลมีต่อบริษัทเพิ่มขึ้นสูงกว่า 30,000 ล้านบาท ประกอบด้วยหนี้ค่าจ้างเดินรถตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 จนถึงเดือนมีนาคม 2564 จำนวน 10,903 ล้านบาท และหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ จำนวน 20,768 ล้านบาท

ล่าสุดตามที่เป็นข่าวของการประชุมสภา กทม. เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา สภา กทม. ได้ปฏิเสธการใช้งบประมาณของ กทม. มาชำระหนี้ดังกล่าว และได้เสนอทางเลือกให้กับฝ่ายบริหารในการขอให้รัฐบาลสนับสนุนหรือร่วมลงทุนกับเอกชน ตามแนวทางของคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา BTS

“BTS” ลั่น ฟ้อง “กทม.”

ดังนั้นในฐานะที่ BTSC เป็นบริษัทลูกของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นประชาชนร่วมลงทุนอยู่จำนวนกว่า 101,700 ราย รวมถึงมีเจ้าหนี้ที่ให้เงินกู้แก่บริษัท มาประกอบธุรกิจอีกเป็นจำนวนมาก จึงได้ใช้สิทธิตามสัญญาในการติดตามทวงถาม กทม. และกรุงเทพธนาคม ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย และไม่ได้มีความประสงค์ที่จะนำหนี้ค้างชำระดังกล่าว มาเป็นเงื่อนไขในการแก้ไขสัมปทานโครงการ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2562 แต่อย่างใด

แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามหาทางแก้ไขปัญหาภาระหนี้ โดยในปี 2562 ได้เสนอขอให้ทางบริษัทเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงในผลประกอบการในระยะยาว แทนการเรียกหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวกับภาครัฐบาลซึ่งนำมาสู่ผลการเจรจาร่างสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ได้รับความเห็นชอบโดยคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2562 และผ่านการตรวจสอบในการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยในขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจและดุลพินิจของภาครัฐบาล ที่จะกำหนดใช้แนวทางใดตามที่เห็นสมควร โดยพิจารณาถึงประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน

ที่สำคัญบริษัทรับทราบว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อพยายามแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเดิน รถไฟฟ้าสายสีเขียว และบริษัทได้ให้ความร่วมมือด้วยดีกับภาครัฐบาลในการสนับสนุนและแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ส่วนแนวทางการดำเนินการต่อไปจะเป็นเช่นไรเป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจของรัฐบาล โดยบริษัทยังคงยืนยันที่จะดำเนินการใช้สิทธิตามกฎหมายและสัญญาในขั้นตอนต่อไป เพื่อปกป้องสิทธิผู้ถือหุ้นของบริษัท ซึ่งเป็นประชาชนรายย่อยที่ถือหุ้นอยู่จำนวนมาก

ตอนนี้เราก็คุยกับทางทนายอยู่ ก็คงเร็ว ๆ นี้จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพราะเราเป็นบริษัทมหาชน เป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องทำ โดยจะยื่นฟ้องศาลปกครองหรือศาลแพ่ง แต่เท่าที่คุยกับทนายเบื้องต้นน่าจะเป็นศาลปกครอง ส่วนใช้เวลานานแค่ไหน อันนี้ผมตอบแทนศาลไม่ได้ แต่ก็หวังว่าจะใช้เวลาไม่นาน เพราะมีสัญญาระหว่างกันอย่างชัดเจนอยู่แล้ว

shutterstock 1693139587

ตลอดระยะเวลากว่า 21 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2542 บริษัทได้จัดให้มีบริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารและประชาชน ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร และมลภาวะในกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน แม้ว่าในบางช่วงเวลาที่ผ่านมาบริษัทจะเคยประสบปัญหาสถานภาพทางการเงินอย่างหนัก จนถึงกับต้องนำบริษัทเข้าฟื้นฟูผ่านศาลล้มละลายมาแล้ว

จากการที่ต้องรับภาระลงทุนในโครงการ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนหลักทั้งหมด ซึ่งเป็นเพียงโครงการเดียวในประเทศไทยที่กำหนดให้เอกชนต้องเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด รวมถึงงานโครงสร้างพื้นฐาน แต่บริษัทเลือกที่จะยึดมั่นในหลักการที่จะให้บริการเดินรถที่ดีที่สุดแก่ประชาชน จึงทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทยังคงให้บริการเดินรถได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง โดยไม่ส่งผลกระทบใด ๆ และในอนาคตบริษัทจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผู้โดยสารทุกท่านได้รับบริการเดินรถที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดอย่างต่อเนื่องต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo