COVID-19

เตียงทิพย์ อย่านับ ‘หมอนิธิพัฒน์’ ลั่นจัดการเตียงโควิด ต้องเปิดข้อมูลจริง

เตียงทิพย์ อย่านับ “หมอนิธิพัฒน์” ชี้ปัญหาเตียงผู้ป่วยโควิด ต้องให้ข้อมูลจริง เพื่อให้เห็นความชัดเจน แก้ปัญหาได้ตรงจุด ชี้ภาคการแพทย์ มีข้อจำกัดเรื่องกำลังคน เบ่งไม่ไหวแล้ว

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “นิธิพัฒน์ เจียรกุล” ถึงปัญหาการจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด อย่านับรวม เตียงทิพย์ ต้องเอาข้อมูลจริงมาพูด พร้อมแนะแนวทางแก้ปัญหา โดยระบุว่า

เตียงทิพย์

บรรลุวัตถุประสงค์แล้วสำหรับประเด็นร้อน เรื่อง (บน) เตียง ที่โยนสู่สาธารณะ หากทำให้เกิดความขัดข้องหมองใจของคนที่เกี่ยวข้องที่ทำงานหนักอยู่แล้วก็ขออภัย หากทำให้คนหน้างานที่หลังแอ่นกันอยู่ขณะนี้ผ่อนคลาย ก็แสนจะดีใจ หากทำให้คนที่มีอำนาจกำหนดทิศทางการรับมือวิกฤติโควิดระลอกหนักนี้ได้นำไปไตร่ตรองใช้ได้บ้างก็จะดีใจเป็นที่ยิ่ง

แต่สำหรับพวกมาแจม โดยใช้คำพูดสร้างความจงเกลียดจงชัง (hate speech) ขอร้องช่วยไปไกล ๆ และถ้ามีหลุดเข้ามา ก็ขอให้ช่วยกันปล่อยวาง อย่าไปโต้ตอบ ผมไม่เชื่อว่าใครที่ทำเช่นนี้ จะคิดหรือทำเพื่อส่วนรวมจริงจังอะไรนัก ตามที่พวกเขาพร่ำบ่น

กลไกการรับมือวิกฤติโควิดทางการแพทย์ แบ่งได้เป็น 2 ส่วน ฝ่ายนโยบาย คือ รัฐบาล (ข้าราชการการเมืองทางตรงและทางลัด) และ ข้าราชการประจำ ส่วนฝ่ายปฏิบัติการ คือ ข้าราชการประจำ (เช่น สังกัดกระทรวงสาธารณสุขหรือกลาโหม กทม.) ข้าราชการกึ่งประจำ (เช่น ผมเองที่เป็นพนักงานของรัฐ สังกัดกระทรวงอุดมศึกษา) และ สังกัดอื่น ๆ รวมทั้งภาคเอกขน

ธรรมชาติฝ่ายปฏิบัติการ จะทำงานหนัก และปิดทองหลังพระ เหมือนที่พ่อหลวงสอนเราไว้ ส่วนฝ่ายนโยบายที่ทำงานหน้าพระ เป็นคนตัดสินทิศทาง และมีหน้าที่ทำให้ประชาชน ที่เป็นทั้งคนดู และคนรับผลได้รับประโยชน์สูงสุด

หมอนิธิพัฒน์

ดังนั้นข้อมูลเรื่องเตียงดูแลผู้ป่วยโควิด ที่ตรงกับความเป็นจริง จึงมีความสำคัญในการกำหนดนโยบาย ถ้าเรายังสื่อสู่สาธารณะว่า เอาอยู่ เพราะยังมีเยอะ ด้านหนึ่ง จะทำให้พวกประชาชนนอกแถว ยังไม่สำนึก แต่ด้านที่สำคัญ คือ ทำให้ฝ่ายนโยบายไม่สำนึก เพื่อเร่งควบคุมปัญหาไม่ให้บานปลาย

เชื่อว่าตัวเลขเตียงว่างที่แจ้งเมื่อวาน เป็นเรื่องจริง แต่ไม่ทั้งหมด ผมเสนอให้ต่อไป ควรแบ่งเป็นสองส่วนก่อน คือ เตียงที่พร้อมใช้งานในช่วง 3 วัน (มีสถานที่ มีบุคลากร และมีอุปกรณ์) และที่จะพร้อมใน 4-7 วัน (กำลังจัดเตรียม ถ้าพร้อมเมื่อไรก็เปลี่ยนสถานะไปเป็นส่วนแรก)

ส่วนเตียงในอนาคตกว่านี้ หรือเตียงทิพย์ ยังไม่ควรนับ และไม่ควรนำมาแถลง โดยในแต่ละส่วนให้แบ่งย่อยไปอีกว่า เป็นเตียงไอซียูโควิด เตียงโควิดในโรงพยาบาลหลัก หรือเตียงโควิดใน hospitel หรือโรงพยาบาลสนาม เพราะจะทำให้เห็นความชัดเจน ในการเตรียมรับมือกับปัญหาได้ตรงจุด ส่วนระบบการแจ้งเตียง ก็ต้องทำให้มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นภาระมากกับคนหน้างาน ตามโรงพยาบาลทุกประเภท

ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสีย 11 รายวันนี้ โดยเป็นไปตามคาดว่า ต้องเป็นเลขสองหลัก และอาจคงเป็นเช่นนี้ไปอีกพักหนึ่ง เพราะยังมีผู้ป่วยหนักอีก 500+ คน ซึ่ง 130+ ใส่เครื่องช่วยหายใจ (กลุ่มนี้มีอัตราเสียชีวิตราว 25-50% ขึ้นกับต้นทุนสุขภาพของผู้ป่วย และศักยภาพของโรงพยาบาล)

พวกเราอาจดีใจไปกับ อัตราตายระลอกสองที่ 0.1+% และเฉลี่ยสองระลอกที่ 0.3% แต่ระลอกนี้ผ่าน 0.17% ไปแล้ว และน่าจะไปต่อจนเกิน 0.3% แต่เราอาจช่วยไม่ให้สูงมากได้ ด้วยการลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ และรักษาผู้ป่วยตกค้างให้ทันท่วงที แต่กว่าจะเห็นผลก็ไม่น้อยกว่าหนึ่งสัปดาห์ พร้อมไปกับการพยายามใช้เตียงโควิดไอซียูที่มีอยู่ตอนนี้ ให้มีประสิทธิภาพ ด้วยระบบการเกลี่ยศักยภาพ และการช่วยเหลือกัน ระหว่างโรงพยาบาลต่าง ๆ ในพื้นที่ (ในกทม. ต้องแบ่งโซน) การเพิ่มเตียงไอซียูโควิดเฉพาะหน้านี้ ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะภาคการแพทย์ ได้เบ่งศักยภาพมาเกือบเต็มที่แล้ว และมีข้อจำกัดด้านกำลังคน ซึ่งจะสาธยายต่อไป

หมอนิธิพัฒน์

วันนี้ผมไปตรวจเยี่ยมส่วนหนึ่งของ ทีมโควิดศิริราช ในฐานะเป็นอาจารย์รับผิดชอบ ส่วนแรก ดูแลผู้ป่วยอาการปานกลาง จนถึงรุนแรงน้อย 18 เตียง ผลัดหนึ่งใช้แพทย์ 2-3 คน พยาบาล 8-10 คน สายสนับสนุน 2 คน (นอกเวลาราชการ/กลางคืนลดเท่าที่จำเป็น) และส่วนที่สอง ดูแลผู้ป่วยอาการรุนแรงมากจนถึงวิกฤติ 7 เตียง ผลัดหนึ่งใช้แพทย์ 3-4 คน พยาบาล 10-12 คน สายสนับสนุน 2 คน

ทั้งสองส่วน ถ้าผู้ป่วยอาการหนักขึ้น จะต้องเรียกกำลังพลมาเสริมกว่านี้อีก พวกเขาต้องทำงาน nine to five หรืออย่างน้อยวันละ 8 ชม. ต่อเนื่องกันมากว่าสองสัปดาห์ และคงจะต้องเป็นอย่างนี้ไปอีกอย่างน้อย 4 สัปดาห์ สำหรับโรงพยาบาลระดับรอง หรือโรงพยาบาลในภูมิภาค ด้วยปริมาณงานเท่ากันนี้ เขาใช้คนน้อยกว่าที่ผมใช้อีก คิดดูมันจะหนักหนาสาหัสขนาดไหน

ได้เวลาที่ทุกฝ่ายจะวางข้อขัดข้องใจต่าง ๆ ไว้เบื้องหลัง เราจะจับมือกันเดินไปข้างหน้า เพื่อหาทางรอดของประเทศชาติ

#ประเทศไทยต้องไปรอด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo