COLUMNISTS

8 เหตุผล ทำไมคอเลสเตอรอลไม่ (เคย) ลด

Avatar photo
Longevity Inspirationist ผู้เชี่ยวชาญสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการรักสุขภาพ
1342

ถือเป็นภาคต่อจากบทความที่แล้ว ที่ผู้เขียนเขียนในหัวข้อ “7 วิธีลดน้ำตาลในเลือด..ไม่ง้อยา” มีผู้อ่านเขียนอีเมล์มาแบบถูกใจมากมาย อยากให้เขียนเกี่ยวกับ เหตุผลทำไมไขมันในเลือด (คอเลสเตอรอล) ไม่ยอมลด สักที จัดให้ค่ะ สำหรับบทความนี้ น่าจะถูกใจคอแฟนคลับไขมันในเลือดสูงกันเยอะ คอเลสเตอรอล คือ ไขมันที่พบได้ที่ผนังของเซลล์เส้นเลือด ซึ่งตัวร่างกายเองสามารถผลิตคอเลสเตอรอลได้ 2 ทาง คือ ผ่านทางอาหารที่เรากินเข้าไปนั่นแหละ และอีกทางคือร่างกายก็สามารถผลิตสร้างขึ้นได้เอง

คนที่มีปัญหาเรื่องคอเลสเตอรอลสูง ถึงแม้ว่า จะเป็นห่วงกับเจ้าตัวผลเลือดจากการเจาะเลือดที่ รพ.ในใบตรวจสุขภาพ พอเห็นปั๊บ มีตกใจ แต่ก็แอบคิดในใจไม่ได้ว่า “พยายามลดแล้วนะ ทั้งอาหารก็ควบคุมแล้ว ทำไมตัวเองยังสูงอยู่” แต่ในขณะที่บางคน ก็ปล่อยผลเลือดค่าคอเลสเตอรอลที่สูง ไปเรื่อย ๆ เพราะรู้สึกว่า เรายังแข็งแรงอยู่หนิ ไม่เห็นเป็นอะไรเลย เดี๋ยวเป็นอะไร ค่อยมาว่ากัน เป็นซะงั้นไป แล้วถ้าปล่อยไปเรื่อย ๆ โดยปล่อยให้ค่าคอเลสเตอรอลนั้นสูงไปเรื่อย ๆ โอกาสที่จะทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดก็จะเพิ่มสูงขึ้นมากเช่นกัน

S 3563727

คอเลสเตอรอลสูง ในวัย 50+

คอเลสเตอรอลสูง ไม่จำกัดอายุเพียงแค่ 50 ปีขึ้นไป อย่างที่เราท่านพบกันบ่อย ๆ คือ คนวัยทำงาน วัยรุ่น คอเลสเตอรอลสูงนั้น มีเยอะมากเช่นกัน เพียงแต่ว่า คนที่อายุน้อย เขามีวิธีเผาผลาญอาหาร เช่น ออกกำลังกายบ้าง เข้ายิมบ้าง โยคะบ้าง ฯลฯ เท่านั้นเอง (ยกเว้นบางท่านออกกำลังกายก็จริง แต่การรับประทานอาหารยังทานไม่เลือกเหมือนเดิม) ต้องยอมรับว่า ไขมันในเลือดสูง หรือ คอเลสเตอรอลสูง ถือเป็นสัญญาณที่พบบ่อยในวัย 50+ ไม่ว่าจะเป็นคอเลสเตอรอลรวมก็สูง HDL ในเลือดก็ต่ำ

วันนี้ ผู้เขียนจะไม่ลงในรายละเอียดอะไรคือ ไขมันอิ่มตัว หรือ ไขมันไม่อิ่มตัว เพราะมั่นใจว่า ผู้อ่านส่วนใหญ่ทราบกันดีอยู่แล้ว เพราะมีความเกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบโดยตรงก็ว่าได้ มนุษย์ปกติอย่างเรา ที่มาของคอเลสเตอรอลในเลือด มาด้วยกัน 2 ทาง นั่นคือ การสังเคราะห์ขึ้นเองจากตับ และสอง คือ การบริโภคอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น อาหารทะเลนานาชนิด เนื้อติดมัน รวมถึงพวกไข่แดง และใช่คะ ถ้าอยากให้คอเลสเตอรอลลด ก็เพียงแค่ลดอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง นั่นเอง (พูดง่ายเนอะ ทำยากมาก)

บางคนอาจจะเลี่ยงด้วยคำพูดที่ว่า “นาน ๆ กินที” หรือ “ถ้ามีหนัง เดี๋ยวลอกออก แล้วทานแต่เนื้อแดง” โดยหารู้ไม่ว่า ในเนื้อแดงมีไขมันแทรกอยู่มากถึง 30 – 40% กันเลยทีเดียว อ้าว…แล้วจะให้ทานอะไร โน่นก็มัน นี่ก็ทอด นั่นก็ของหวาน สรุปทรมานมากกว่าจะหยิบอาหารเข้าปากแต่ละอย่าง ต้องคำนวณแล้ว คำนวณอีก ครั้นจะออกกำลังกาย ก็ขี้เกียจ (ทีตอนอายุน้อย ๆ เราไม่เคยคำนึงถึงอะไร ๆ พวกนี้เลย ถูกมั๊ย 🙂

ของมันต้องมี “คอเลสเตอรอลในเลือด”

จริง ๆ แล้วในร่างกายคนเรา คอเลสเตอรอลถือเป็นสารที่ร่างกายจำเป็นต้องมี (ในปริมาณที่เหมาะสม นะคะ) เพราะอะไร ? เพราะเป็นส่วนประกอบสำคัญ ที่จำเป็นไปสร้างเยื่อบุผนังเซลล์ สร้างฮอร์โมนต่าง ๆ และที่สำคัญคือ นำไปสร้างน้ำดีไว้ย่อยไขมันในลำไส้ อาจจะฟังแล้วแปลกดี นำไขมันไปย่อยไขมัน และเจ้าตัวน้ำดีที่ออกมาในลำไส้นี้ ก็จะถูกดูดซึมกลับไปยังตับอีก วนเวียนแบบนี้

แล้วยาลดคอเลสเตอรอล มันทำงานอย่างไร ?

เมื่อเราทราบแล้วว่า คอเลสเตอรอลสร้างมาจากตับ ถ้าในกรณีที่ทานยา ลดคอเลสเตอรอล จะเข้าไปยับยั้งการสร้างคอเลสเตอรอลจากตับ (โดยตรงเลย) เราเรียกยากลุ่มนี้ว่า Statin ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง เพื่อนผู้เขียนบางท่าน จึงจำเป็นต้องทานยาตามแพทย์สั่ง เพราะไม่ชอบออกกำลังกาย ไม่ชอบควบคุมอาหาร แต่ทานได้ระยะหนึ่ง เริ่มมีอาการปวดตามกล้ามเนื้อตามร่างกาย จึงหยุดยาไป

paella 1167973 1280

8 เหตุผล ทำไมคอเลสเตอรอลไม่ (เคย) ลด สักที

1. ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์

หยิบมาไว้อันดับหนึ่งเลย เพราะภาวะไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรม (Familial Hypercholesterolemia : FH) เป็นภาวะที่ระดับคอเลสเตอรอลเกิดจากกรรมพันธ์ โดยที่ระดับคอเลสเตอรอล แอลดีแอล (LDL ในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากผลกระทบที่ยีนมากกว่า 100 ยีนในร่างกาย มีต่อการจัดการระดับคอเลสเตอรอลของร่างกาย อธิบายเข้าใจคือว่า เราจะได้รับยีนจากฝ่ายพ่อหรือแม่ แต่มีบางกรณีที่เป็นส่วนน้อย ที่เด็กจะได้รับยีนจากพ่อและแม่ ในกรณีที่ได้รับยีนมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เด็กมีโอกาสถึงร้อยละ 50 ที่จะได้รับยีนที่กลายพันธ์ เมื่อพ่อหรือแม่มียีนหนึ่งผิดปกติ และอีกยีนหนึ่งในคู่เดียวกัน

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเพศ และความเสี่ยงในการเกิดภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจตั้งแต่ยังเด็ก แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่า คอเลสเตอรอลสูงของเรามาจากพันธุกรรม แน่นอน ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยภาวะไขมันในเลือดสูงจากแพทย์ที่โรงพยาบาล โดยการตรวจเลือด และตรวจพันธุกรรม เป็นต้น

2. เกิดจากโรคเบาหวาน, โรคอ้วน

“อ้าว…มันเกี่ยวกันด้วยหรือ?” ผู้ป่วยท่านนึงเคยถามมา คนที่เป็นโรคเบาหวาน มักจะจูง ไขมันในเลือดสูงตามมาด้วย เพราะภาวะไขมันในเลือดสูง มักจะพบร่วมกับโรคเบาหวาน ซึ่งจะเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูง (น่าสนใจแล้วใช่ไหมค่ะ)

ผู้ป่วยเบาหวาน มักจะมีไขมันประเภทใดสูง? นี่สิ คือคำถามที่พบบ่อยมาก ความผิดปกติของไขมันเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยทั้งในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ ชนิดที่ 2 และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน และแน่นอนค่ะว่า ระดับความผิดปกติของไขมัน จะขึ้นอยู่กับการควบคุมเบาหวานว่า สามารถควบคุมได้ดีเพียงใด หากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี แน่นอนไขมันในเลือดก็จะอยู่ในระดับคนปกติ และหากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดี ระดับไขมันในเลือดก็สูงตามไปด้วย และระดับไขมันที่สูง จะเห็นชัดคือ ระดับไตรกลีเซอไรด์, ระดับไขมันเลว LDL

3. ยาสเตียรอยด์ และยาบางชนิด

ผู้อ่านหลายท่านทราบกันดีถึงผลดีและผลด้อยของยาสเตียรอยด์ และหลายท่านพยายามหลีกเลี่ยง สเตียรอยด์ ถือเป็นสารสังเคราะห์ที่มีผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายทุกระบบ (ย้ำว่า ทุกระบบ) ดังนั้นการใช้ยาเสียรอยด์ ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์เป็นสำคัญ ด้วยเพราะยาสเตียรอยด์ จะกดภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ภูมิคุ้มกันน้อยลง ทำให้ติดเชื้อง่าย เป็นแผลที่ผิวหนังตามร่างกาย แขน ขา นิ้วมือ สเตียรอยด์ ทำให้ผู้ป่วยเบาหวาน ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ (เพราะจะมีระดับน้ำตาลสูง) และยาสเตียรยอด์ ยังทำให้ผู้ป่วยความดันเลือด ไม่สามารถควบคุมระดับความดันเลือดให้ปกติได้ จะมีระดับความดันเลือดสูง แต่ไม่มีอาการเตือน เป็นภัยเงียบ ที่อาจทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองแตก เสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤต – อัมพาตได้

4. ชอบอาหารไขมันสูง

หยิบมาไว้เป็นข้อที่ 4 เรื่องการทานอาหาร เพราะถือเป็นอันดับแรก (ในกรณีคนปกติที่ไม่มีโรคประจำตัวหรือกรรมพันธุ์ แต่ชื่นชอบการทานอาหารทุกสิ่งอย่าง ขอได้ลิ้มรส เป็นอันชอบ) ที่ควรปรับพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร โดยงดทานอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งผู้อ่านบางท่าน อาจยังไม่ทราบว่าอาหารที่เราควรงดนั้นมีอะไรบ้าง บางท่านคิดถึง แค่อาหารทอด อาหารมัน แต่จริง ๆ แล้ว ยังมีอาหารอีกมากที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์แฝงอยู่มากค่ะ เช่น กลุ่มเนย มาการีน ครีมเทียม อาหารเหล่านี้ เราอาจไม่ได้กินมันโดยตรง แต่เรามักนำไปประกอบเป็นอาหารอย่างอื่น เช่น พวกขนมปัง เบเกอรี่ เป็นต้น

5. ชอบอาหารทอด

ปาท่องโก๋ กล้วยแขกทอด หมูทอด ไก่ทอด เฟรนด์ฟราย ฯลฯ ชอบแบบเป็นชีวิตจิตใจเลยทีเดียว ทั้ง ๆ ที่เรายังไม่ทราบเลยว่า ร้านที่เราไปซื้อ เขาใช้น้ำมันอะไรทอด (จริงมั๊ย) ได้มีการเปลี่ยนน้ำมันบ่อยแค่ไหน ซึ่งปัญหาใช้น้ำมันซ้ำ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คอเลสเตอรอลสูงปรี๊ดด ได้เช่นกัน

6. ชอบอาหารทะเล

ข้อนี้ ผู้เขียนเอง ก็ (เคย) ชอบ แต่ปัจจุบันลดทานได้เยอะแล้ว อาหารทะเล ถูกจัดเป็นอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง ผู้ที่ต้องการลดคอเลสเตอรอล จึงควรลด งด อาหารทะเลซีฟู้ด ยกเว้น เนื้อปลา ยังทานได้นะคะ เพราะไม่กระทบกับปัญหาคอเลสเตอรอล เนื้อปลาทานเท่าไหร่ ก็ได้เลยค่ะ โดยนำมานึ่ง จะดีที่สุด

7. ชอบดื่ม

“มักชอบดื่มเหล้า ไวน์ แอลกอฮอล์ สังสรรค์เฮฮากับเพื่อน ๆ บ่อยครับ” ถือเป็นคำบอกเล่าที่ผู้เขียนได้ยินจากเพื่อนสนิทบ่อยค่ะ การดื่มเหล้า เครื่องดื่มแอลกฮอล์ ที่นอกจากทำร้ายตับตัวเองแล้ว ทำให้ตับอ่อนอักเสบแล้ว การดื่มเหล้าทำให้ไตรกลีเซอไรด์ พุ่งกระฉูดเลยทีเดียว

8. ไม่ชอบออกกำลังกาย

“ไม่มีเวลาค่ะ” “ไม่มีเวลาครับ” ยอมรับเลยว่า เพื่อนผู้เขียนหลายคนก็เปรยประโยคนี้เหมือนกัน บางคนถึงกับบอกว่า “มีอะไรทำให้คอเลสเตอรอลลด เอาแบบไม่ต้องออกกำลังกายนะ” การออกกำลังกาย เป็นสิ่งพื้นฐานที่เราทุกคนควรทำให้เป็นกิจวัตร ไม่ว่าจะเป็นการคาร์ดิโอ การวิ่ง การปั่นจักรยาน หรือเดินรอบหมู่บ้าน ฯลฯ ในที่นี้ ไม่ต้องออกกำลังการแบบหักโหมนะคะ เอาแบบ เหนื่อยแต่ยังสามารถพูดเป็นประโยคได้ แนะนำเลยว่า ควรเน้นการออกกำลังกาย อย่างน้อย เบิร์นสิ่งที่เราทานเข้าไปเยอะ ก็ยังดี จริงมั๊ย

ทราบหรือยังค่ะว่า ระดับไขมันในเลือดสูง เปลี่ยนแปลงช้ามากในระดับเดือน ไม่เหมือนระดับน้ำตาลในเลือด ที่เปลี่ยนแปลงเร็วในระดับชั่วโมง แต่ทั้งสองอย่างก็เกี่ยวข้องกันมาก ตามที่กล่าวมาด้านบนแล้ว ไขมันในเลือดสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ และแน่นอน ผู้ที่ไขมันในเลือดสูง จึงมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคหัวใจขาดเลือด สมองขาดเลือด ได้มากกว่าคนปกติ พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ

(เครดิต : What Cause High Cholesterol ? www.medicalnewstoday.com, High cholesterol – Illnesses and condition, www.nhsinform.scot, www.steroidsocial.org, www.siamhealth.net, www.ram-hosp.co.th, www.i-kinn.com)

อ่านข่าวเพิ่มเติม