COVID-19

‘มหาดไทย’ แจงด่วน 3 มาตรการคุมโควิด ละเอียดยิบ หลังนักวิชาการ ร้องรัฐเร่งแก้วิกฤติ

มหาดไทย แจงยิบ 3 มาตรการคุมโควิด ทั้งการสกัดการแพร่เชื้อจากต่างประเทศ ป้องกันการระบาดในประเทศ และรณรงค์คนไทยคุมเข้มป้องกันตัวเอง 

นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีนักวิชาการ เรียกร้องให้รัฐบาล เร่งควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมทั้งสิ้น 6 ประเด็น โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย คือ การควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อให้ได้ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้นั้น กระทรวงมหาดไทยได้มีข้อสั่งการ 3 มาตรการคุมโควิด ออกไปแล้ว

3 มาตรการป้องกันโควิด

สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้

พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด บูรณาการการทำงานในพื้นที่ เพื่อดำเนินการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด โดยมีข้อสั่งการให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด รวมทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯดำเนินการ ควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งมีมาตรฐานที่สำคัญ 3 มาตรการ ดังนี้

มาตรการที่ 1. การสกัดกั้นเชื้อจากต่างประเทศ

  • การปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดน

ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด ประสานการปฏิบัติวางมาตรการร่วมกับ ทหารในพื้นที่ ตำรวจตระเวนชายแดน ส่วนกำลังป้องกันชายแดน ให้เข้มงวด เพื่อควบคุมการลักลอบเข้าประเทศ และมีการลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าระวังและสกัดกั้นป้องกันมิให้มีการลักลอบเดินทางเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายตามช่องทางธรรมชาติ บริเวณพื้นที่ชายแดน หากพบการลักลอบเข้าประเทศ ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

  • การปฏิบัติงานในพื้นที่ตอนใน

ให้ประสานการปฏิบัติกับ ตำรวจภูธรจังหวัด สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งจุดตรวจจุดสกัด จุดคัดกรองโรค ทั้งบุคคลและการขนส่งสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อคัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้าเมือง รถขนส่งสินค้ารวมทั้งกำหนดให้มีผู้บัญชาการประจำเส้นทางผ่านแดนทุกแห่ง ที่มีการอนุญาตให้เข้าออกของบุคคล สินค้า และยานพาหนะเพื่อให้ปฏิบัติงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

  • การปฏิบัติในพื้นที่ชุมชน

ให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครในพื้นที่ ร่วมกันตรวจสอบบุคคล ที่เดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน ชุมชน หากพบแรงงานต่างด้าวเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ให้ประสานหน่วยงานความมั่นคง ดำเนินการตามกฎหมาย

  • การปฏิบัติงานในจังหวัดชั้นใน

ให้ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด จุดคัดกรองโรค โดยประสานการปฏิบัติกับจังหวัด ตำรวจนครบาล สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสกัดกั้นการเดินทางเข้าออก และการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว

มท.

มาตรการที่ 2. การป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศไทย

อาศัยความตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น พื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด รวมกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ควบคุม 59 จังหวัด โดยมีมาตรการที่สำคัญได้แก่

  • ปิดสถานที่เสี่ยง สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน
  • ห้ามการจัดกิจกรรม

ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของคนเกินกว่า 50 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรค รวมทั้ง งดจัดกิจกรรมทางสังคม ในลักษณะของการสังสรรค์ การจัดเลี้ยง งานรื่นเริง ยกเว้น วิธีการประเพณีนิยม ที่มีมาตรการป้องกันโรคอย่างเพียงพอ

  • งดหรือเลี่ยงการเดินทาง

ขอความร่วมมือให้ประชาชน งด หรือชะลอการเดินทาง หากไม่มีเหตุจำเป็น โดยเฉพาะการเข้าไปในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ที่มีการแพร่ระบาดของโลก เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อ

  • การค้นหาเชื้อเชิงรุก

ในกรณีที่พบว่าผู้ป่วยได้รับเชื้อจากภายในชุมชน ซึ่งในพื้นที่นั้นอาจจะมีผู้ป่วยรายอื่น จึงมีความจำเป็นต้องค้นหาเชิงรุกภายในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อดำเนินการแยกผู้ป่วยโดยเร็ว

การแยกผู้ติดเชื้อจากผู้ไม่ติดเชื้อ โดยจัดหาสถานที่ เพื่อใช้เป็นสถานที่รองรับดูแลรักษา และแยกกัก กักกัน ผู้ติดเชื้อหรือผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีเชื้อโดยด่วน โดยความร่วมมือจากสถานศึกษา มหาวิทยาลัย โรงแรม หอประชุม สถานที่ของเอกชน ที่มีความเหมาะสม มีการต้องเตรียมความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์อุปกรณ์เพื่อรองรับการบริหารจัดการ

มาตรการที่ 3. การรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

ได้แก่  การเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากาก การล้างมือบ่อย ๆ ตรวจวัดอุณหภูมิ ตรวจหาเชื้อโควิค และการใช้แอพพลิเคชั่นไทยชนะ หมอชนะ อย่างเคร่งครัด

สำหรับทั้ง 3 มาตรการดังกล่าว เป็นมาตรการที่สั่งการผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ให้ดำเนินการ นอกจากนี้ยังให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ สามารถออกประกาศ หรือคำสั่งกำหนดมาตรการที่เข้มข้นมากกว่าข้อกำหนด เพื่อให้มีความ เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo