Business

‘กระทรวงการคลัง’ ไม่เผยไต๋ปมแผนฟื้นฟู ‘การบินไทย’ รอลุ้นยกมือโหวต 12 พ.ค.

“กระทรวงการคลัง” ยังไม่เผยท่าทีต่อแผนฟื้นฟู “การบินไทย” รอลุ้นทีเดียววัน “เจ้าหนี้” ยกมือโหวต 12 พ.ค. “ชาญศิลป์” ปัดขอกลับเป็น รสก.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังเข้าหารือเรื่องบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันนี้ (23 เม.ย.) ว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปใด ๆ เกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย เนื่องจากอยู่ระหว่างพิจารณาแผนฟื้นฟูฯ และอยู่ที่พิจารณาของเจ้าหนี้ด้วย

ด้านกระแสข่าวที่จะนำการบินไทยกลับมาเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอีกครั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะมีการประชุมโหวตแผนฟื้นฟูฯ ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 นี้

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ กระทรวงการคลัง การบินไทย

กรณีที่มีกระแสข่าวว่า ผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยเข้าพบรัฐบาล เพื่อขอให้เปลี่ยนสถานะการบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง เนื่องจากเกรงว่า แผนฟื้นฟูฯ จะไม่ผ่านการพิจารณาของ ศาลล้มละลายกลาง นั้น

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และหนึ่งในผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ เปิดเผยว่า ตนไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และไม่ได้หารือประเด็นดังกล่าวกับรัฐบาล

ที่ผ่านมาตนและคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูฯ ทำงานตามหน้าที่ ซึ่งขณะนี้แผนฟื้นฟูฯ แล้วเสร็จและเสนอให้ศาลล้มละลายฯ ไปแล้ว จากนั้นจะมีการจัดประชุมเพื่อให้เจ้าหนี้โหวตแผนวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 และศาลฯ จะทำการตัดสินว่า รับหรือไม่รับแผนฟื้นฟูฯ ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2564

สำหรับกรณีที่นายกรัฐมนตรีเรียก กระทรวงการคลัง และหน่วยงานต่าง ๆ เข้าประชุมเรื่อง การบินไทย ในวันนี้ นายชาญศิลป์กล่าวว่า การบินไทยไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเข้าร่วมประชุมด้วย เนื่องจากรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง มีฐานะเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของการบินไทย เพราะฉะนั้นจึงมีการหารือเรื่องแผนฟื้นฟูฯ ตามปกติ

ส่วนรัฐบาลหรือกระทรวงการคลังจะมีจุดยืนอย่างไรกับแผนฟื้นฟูฯ ตนไม่ทราบ ต้องรอผลการโหวตในการประชุมเจ้าหนี้วันที่ 12 พฤษภาคม โดยช่วง 3 – 4 วันก่อนการประชุมเจ้าหนี้ ศาลฯ จะเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ สามารถแก้ไขแผนได้เป็นครั้งสุดท้าย

ตามขบวนการแผนฟื้นฟูฯ เรามีหน้าที่ทำแผนพื้นฟูฯ เสนอต่อเจ้าหนี้และศาลฯ เท่านั้น แผนจะผ่านหรือไม่ผ่านขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้ ว่าจะโหวตรับหรือไม่ หากเจ้าหนี้รับก็ตั้งผู้บริหารแผนเดินหน้าฟื้นฟูต่อไป แต่หากเจ้าหนี้ไม่รับแผน เจ้าหนี้ก็สามารถเสนอศาลฯ ขอทำแผนฟื้นฟูเองได้ จะทำแผนแบบใด มีการปรับโครงสร้างแบบใดก็ขึ้นกับเจ้าหนี้

shutterstock 1347562142

“การบินไทย” เจอวิกฤติโควิด ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการการบินไทย ซึ่งคำสั่งดังกล่าวส่งผลให้การบินไทยเข้าสู่สภาวะการพักชำระหนี้ (Automatic Standstill) กับเจ้าหนี้ทุกรายตามกฎหมาย

สำหรับรายละเอียดที่การบินไทยใช้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายมีดังนี้ บริษัท การบินไทย (ขณะนั้น) มีทุนจดทะเบียน 26,989 ล้านบาท หนี้สินรวม 354,494 ล้าน สินทรัพย์รวม 349,636 ล้าน มีหนี้ถึงกำหนดชำระ ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 รวม 10,200 ล้าน ซึ่งการบินไทยอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้

โดยเหตุผลที่ศาลฯ ควรพิจารณาให้ฟื้นฟูกิจการ คือ ธุรกิจการบินไทยมีพื้นฐานดี มีการประกอบธุรกิจมานาน เเละยังได้รับรางวัลต่อเนื่อง รวมทั้งมีธุรกิจอื่นช่วยสร้างรายได้ ทั้งการขนส่งสินค้า บริการภาคพื้น และครัวการบิน ซึ่งปัญหาหนี้สินเกิดจากภาพรวมอุตสาหกรรมในและต่างประเทศมีการแข่งขันสูง รวมถึงสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่กระทบธุรกิจการบิน การบินไทยปรับตัวไม่ทันกับสถานการณ์เพราะอยู่ภายใต้กฎหมายหลายฉบับ หากไม่ได้รับการฟื้นฟูจะเสียหายต่อเจ้าหนี้ ลูกหนี้ พนักงาน เเละเศรษฐกิจของประเทศชาติ

ทั้งนี้ การบินไทยยังสามารถมีช่องทางการฟื้นฟู ดังนี้ 1. ต้องปรับโครงสร้างหนี้, 2. ต้องเปลี่ยนการบริหารจัดการองค์กร ลดต้นทุน, 3. ปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบิน, 4. ปรับปรุงหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และ 5. ปรับปรุงการหารายได้

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดคือ การบินไทยได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้วเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 และเตรียมจัดการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เพื่อลงคะแนนให้แผนฟื้นฟู ถ้าหากผ่านการพิจารณาจากเจ้าหนี้ ก็ต้องเสนอให้ศาลฯ พิจารณาเห็นชอบและแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูต่อไป

ผลประกอบการ การบินไทย ย้อนหลัง 2563 (อัพเดท)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo