Environmental Sustainability

รู้จักกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(3) เครื่องมือพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

“กองทุนพัฒนาไฟฟ้า” เป็นกองทุนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เป็นทุนหมุนเวียนที่ไม่มีสถานะเป็น “นิติบุคคล” ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายในสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อเป็นทุนสนับสนุนให้มีการให้บริการไฟฟ้าไปยังท้องที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง และกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น อีกทั้งพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย โดยคำนึงถึงความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า

กองทุนพัฒนาไฟฟ้า

การนำส่งเงิน และการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เป็นไปตามระเบียบที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนด ภายใต้กรอบนโยบายของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) รวมถึงตามมติ คณะรัฐมนตรี (ครม.)

การบริหารเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) จะเป็นผู้รับ เบิกจ่าย และเก็บรักษาไว้ ตลอดจนการบริหารจัดการตามระเบียบของ สำนักงาน กกพ. โดยเงินส่วนนี้จะแยกออกจากงบประมาณรายจ่ายของ สำนักงาน กกพ. ซึ่งจะมีการตรวจสอบการใช้เงินจาก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และต้องรายงานต่อ คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา รวมถึงเปิดเผยต่อสาธารณชน

กองทุนพัฒนาไฟฟ้า

ตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 กำหนดเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการดังต่อไปนี้

1. เพื่อชดเชยและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ซึ่งให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส หรือเพื่อให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง หรือเพื่อส่งเสริมนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค

2. เพื่อชดเชยผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งต้องจ่ายค่าอัตราไฟฟ้าแพงขึ้น จากการที่ผู้ได้รับใบอนุญาตที่มีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้ากระทำการฝ่าฝืน ตามมาตรา 87 วรรคสอง

3. เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า

4. เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยี ที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

5. เพื่อการส่งเสริมสังคม และประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนักและมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า

6. เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน

ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มีข้อกำหนดการใช้เงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ในมาตรา 97 ซึ่งส่วนสำคัญของมาตรา 97(3) ได้กำหนดให้ใช้เงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อการพัฒนา หรือฟื้นฟูท้องถิ่น ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า

ทั้งนี้การจัดตั้งโรงไฟฟ้า ถือเป็นการลงทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานสำคัญ ที่จะช่วยนำพาความเจริญทางด้านเศรษฐกิจเข้าสู่ท้องถิ่นนั้น ๆ แต่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ ย่อมมีกระทบเกิดขึ้น และต้องผ่านการยอมรับของกลุ่มคนในพื้นที่ หรือ ที่เรียกว่า “ผู้เสียสละ” ซึ่งตามมาตรา 97(3) จึงกำหนดให้มีการดูแลคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของคนกลุ่มนี้ให้ดีขึ้นกว่าเดิม

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จึงมีบทบาทและภารกิจสำคัญ ในการดูแล “ผู้เสียสละ” ให้ได้รับการตอบแทนอย่างเป็นธรรม ด้วยการจัดตั้ง กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ภายใต้การจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(3)

ที่มาและเงิน กองทุนพัฒนาไฟฟ้า

กองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(3) คือ เงินกองทุนในพื้นที่ประกาศของ กกพ. เพื่อเรียกเก็บจาก ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 เพื่อนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า โดยให้เรียกเก็บดังนี้

กองทุนพัฒนาไฟฟ้า

1. ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า (รายใหม่) คือ ผู้ที่เพิ่งได้รับใบอนุญาตฯ ก่อสร้างโรงไฟฟ้า ตามการออกระเบียบ และประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้า ในแต่ละโครงการของ กกพ. โดยกำหนดให้นำส่งเงินเข้ากองทุน ดังนี้

ช่วงระหว่างการก่อสร้าง (นับตั้งแต่วันที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ตามสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาเพื่อดำเนินการก่อสร้าง จนถึงวันที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ให้จ่ายเงินเป็นรายปี ตามกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง ในอัตรา 50,000 บาท/เมกะวัตต์/ปี

โดยในปีแรกให้จ่ายภายใน 5 วันทำการนับจากวันที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า สำหรับปีถัดไปให้จ่ายภายใน 5 วันทำการแรกของปี

ช่วงระหว่างการผลิตไฟฟ้า (นับตั้งแต่วันที่เริ่ม COD เป็นต้นไป) ให้จ่ายเงินเข้ากองทุนเป็นรายเดือน ตามปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าตามชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยจำแนกตามชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าใน อัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมติ กพช. ดังนี้

ก๊าซธรรมชาติ จัดเก็บ 1 สตางค์ต่อหน่วย
น้ำมันเตาและดีเซล จัดเก็บ 1.5 สตางค์ต่อหน่วย
ถ่านหินและลิกไนต์ จัดเก็บ 2 สตางค์ต่อหน่วย
พลังงานหมุนเวียน ประเภทลมและแสงอาทิตย์ จัดเก็บ 1 สตางค์ต่อหน่วย
พลังงานหมุนเวียน ประเภทพลังน้ำ จัดเก็บ 2 สตางค์ต่อหน่วย
พลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น เช่น ก๊าซชีวภาพ ชีวมวล กากและเศษวัสดุเหลือใช้ ขยะชุมชน และอื่นๆ จัดเก็บ 1 สตางค์ต่อหน่วย

2. ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า (รายปัจจุบัน) คือ ผู้ที่รับใบอนุญาตฯ ก่อตั้งโรงไฟฟ้าตามระเบียบของ กกพ. ไปแล้ว โดยกำหนดให้จ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า เฉพาะช่วงระหว่างการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น
3. ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้านำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าเป็นรายเดือน โดยหักจากอัตราค่าบริการ ตามอัตราที่ กกพ. ประกาศกำหนด

โดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) จะจัดสรรให้กองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ ประกาศใช้จ่ายเพื่อการพัฒนา หรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบ จากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ตามมาตรา 97(3) โดยแยกเป็นรายบัญชีตามโรงไฟฟ้า และให้ต่อท้ายด้วยชื่อของโรงไฟฟ้า ชื่อตำบล ชื่ออำเภอ หรือชื่อจังหวัดที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่

หลักการบริหารเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้กำหนดนโยบายบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ ดังนี้

1. มีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการสู่ชุมชน เพื่อให้มีระบบการบริหารจัดการที่ดี มีธรรมาภิบาล โปร่งใส และตรวจสอบได้

2. สนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาศักยภาพชุมชน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เสริมสร้างระบบสวัสดิการของประชาชน และชุมชนอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

3. ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชน ภายในพื้นที่ประกาศ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและบูรณาการ การทำงานร่วมกันกับภาคีต่าง ๆ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการ องค์กรชุมชน สถานศึกษา ศาสนสถาน เป็นต้น

4. ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูล การเรียนรู้ การบริหารจัดการ การติดตามตรวจสอบ การประชาสัมพันธ์สู่สาธารณชน การพัฒนาระบบข้อมูลระหว่างกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศทุกระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

5. มีการชดเชยเพื่อเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ทั้งด้านสุขภาพ อาชีพ และสิ่งแวดล้อม

6. ส่งเสริม สนับสนุน การฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเฝ้าระวังทางสังคม สุขภาวะ สิ่งแวดล้อม

การจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

กำหนดจัดสรรให้ใช้ในกิจการของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ประกาศที่โรงไฟฟ้าของผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้านั้น ๆ ตั้งอยู่ โดยให้จัดสรรเป็น 2 ส่วน คือ การจัดสรรตามมาตรา 97(3) คิดเป็น 95% ของเงินจัดเก็บ และอีก 5% จัดสรรตามมาตรา 97(6)

การจัดสรรตามมาตรา 97(3) ได้แบ่งเป็น 2 ส่วน เพื่อให้กับกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ โดยส่วนที่ 1 ไม่เกินร้อยละ 15 เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการประจำปี สำหรับกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ และส่วนที่ 2 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 เป็นเงินอุดหนุนการพัฒนา หรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า โดยการเสนอโครงการชุมชนเพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ประกาศ

สำหรับการจัดสรรตามมาตรา 97(6) ตามระเบียบกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ได้กำหนดให้กันเงินไว้ไม่เกินร้อยละ 5 เพื่อดำเนินการในกิจการ ดังนี้

1. สำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เพื่อเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายในเบื้องต้น จากผลกระทบที่มีสาเหตุจากโรงไฟฟ้าตามที่ กกพ. เห็นสมควร

2. อุดหนุนให้กับการพัฒนา หรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบ จากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่ได้รับการจัดสรรเงินจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น ส่วนจำนวนเงินที่จะสนับสนุนให้กับแต่ละท้องถิ่นให้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมตามที่ กกพ. กำหนด

3. เพื่อการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

กองทุนพัฒนาไฟฟ้า

กองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(3) ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น หรือ ผู้เสียสละ ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ในรัศมี 1 ถึง 5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 67 จังหวัด ปัจจุบัน กกพ. ได้ปรับปรุงประเภทกองทุน ที่มีอยู่ 3 ประเภท ดังนี้

กองทุนพัฒนาไฟฟ้าขนาดใหญ่ คือ กองทุนที่ได้รับเงินมากกว่า 50 ล้านบาทต่อปี คงไว้เหมือนเดิม

กองทุนพัฒนาไฟฟ้าขนาดกลาง คือ กองทุนที่ได้รับเงินมากกว่า 3-50 ล้านบาทต่อปี

กองทุนพัฒนาไฟฟ้าขนาดเล็ก คือ กองทุนที่ได้รับเงินไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาทต่อปี จากเดิมไม่เกิน 1 ล้านบาท

ได้มีการยกเลิกค่าบริหารจัดการ โดยให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้ตัดสินใจในการใช้เงินกองทุน โดยมีวงเงินอุดหนุนกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี และเริ่มจัดสรรเงินให้กับชุมชนตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ถึงปี 2563 ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. ก็มีการสนับสนุนการทำโครงการไปแล้วมากกว่า 57,847 โครงการ มูลค่ากว่า 21,471.77 ล้านบาทแล้ว

ขณะที่ ปี 2564 กกพ. ได้เปิดให้ผู้สนใจยื่นเสนอโครงการเพื่อขอรับเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ หรือเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(3) ในปีงบประมาณ 2564 ในวงเงินงบประมาณกว่า 2,800 ล้านบาท ใกล้เคียงกับงบประมาณในปี 2563

กกพ. คาดหวังว่า การจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(3) ในปี 2564 จะก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ประมาณ 30,000 คน นับเป็นงบต่อเนื่องจากงบปี 2563 ที่มีกรอบวงเงินใกล้เคียงกันที่เน้นแก้ปัญหาภัยแล้ง และพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก นับเป็นอีกส่วนที่สำคัญจากเงินกองทุนฯนี้

นอกจากจะดูแลคุณภาพชีวิตของ “ผู้เสียสละ” แล้ว ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight