Digital Economy

ตามดูจีน ก้าวอย่างไรให้เป็นผู้นำเอไอโลก

ประมาณสิบปีก่อนหน้า หนึ่งในข่าวคราวระหว่างการแข่งขันของจีนกับสหรัฐอเมริกาที่น่าสนใจอาจเป็นเรื่องของจีนที่ขาดแคลนชิปเซ็ต เนื่องจากยักษ์ใหญ่อย่างอินเทลถูกสหรัฐอเมริกาห้ามส่งออกชิปมายังประเทศจีน เพราะเกรงว่าจีนจะกลายเป็นมหาอำนาจด้านซูเปอร์คอมพิวเตอร์ แต่เหตุการณ์ในปัจจุบันคงสะท้อนให้เห็นภาพแล้วว่า จีนค่อย ๆ ก้าวข้ามอุปสรรคนั้น และขึ้นมายืนแถวหน้าของวงการเทคโนโลยีโลกได้อย่างสวยงาม

ตำรวจหญิงจีนสวมแว่นที่มาพร้อมเทคโนโลยี Facial Recognition ในการลาดตระเวนย่านสถานีรถไฟของจีน (ภาพจากเอเอฟพี)
ตำรวจหญิงจีนสวมแว่นที่มาพร้อมเทคโนโลยี Facial Recognition ในการลาดตระเวนย่านสถานีรถไฟของจีน (ภาพจากเอเอฟพี)

สำหรับโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นโลกที่การแข่งขันมีจุดตั้งต้นจากเอไอนั้น จีนก็ออกมาตั้งเป้าแล้วเช่นกันว่า ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) จีนจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเอไอของโลก โดยมีอุปสรรคที่โลกตะวันตกอย่าง สถาบันมนุษยชาติแห่งอนาคต (The Future of Humanity Institute) มหาวิทยาลัยออกฟอร์ดได้ศึกษา และวิเคราะห์เอาไว้ 3 ข้อ นั่นคือ

  • ด้านฮาร์ดแวร์ เช่น การพัฒนาชิปเช็ตต่าง ๆ
  • ด้านการวิจัยและการพัฒนาอัลกอริธึม
  • การนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์

โดยในรายงานชิ้นนี้ระบุด้วยว่า “การมีข้อมูลมหาศาลเพียงอย่างเดียวไม่อาจช่วยให้จีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเอไอได้”

ทั้งนี้ คะแนนด้านความพร้อมในการพัฒนาที่จีนได้จากผลวิจัยดังกล่าวอยู่ที่ 17 คะแนน ขณะที่สหรัฐอเมริกาได้มากกว่าเป็นเท่าตัวที่ 33 คะแนน โดยส่วนที่มีคะแนนต่ำสุดของจีนคือการผลิตฮาร์ดแวร์ เช่น ไมโครโปรเซสเซอร์ และชิปเซ็ทต่าง ๆ

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า จีนไม่ได้หยุดยั้ง แม้ภาพของเอไอจะทำให้หลาย ๆ ประเทศในโลกวิตกกังวลว่าจะถูกแย่งงาน หรือถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวด้านข้อมูล แต่เอไอสำหรับจีนนั้นคือเครื่องจักรสำคัญในการเติบโตทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ไปจนถึงด้านการแพทย์ และภาคการผลิต เหมือนเช่นที่ แจ็ค หม่า บอกว่า แทนที่จะผลิตสินค้า 2,000 ชิ้นเหมือน ๆ กัน เอไอและบิ๊กดาต้าจะช่วยให้เราผลิตสินค้า 2,000 ชิ้นที่แตกต่างกันตามความต้องการของผู้บริโภคได้

สี จิ้นผิง
ภาพการอวยพรปีใหม่ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่มีคนตาดีพบว่ามีหนังสือเบสส์เซลเลอร์แห่งปี 2558 เรื่อง The Master Algorithm ของ Pedro Domingos วางอยู่บนชั้นหนังสือด้วย โดยหนังสือเล่มนี้ ได้รับการยกย่องจากบิล เกตส์ว่า เป็นหนังสือควรค่าแก่การอ่าน

ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นจีนทุ่มสุดตัวในการพัฒนาเอไอ เห็นได้จากการลงทุนของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างไป่ตู้, อาลีบาบา และเทนเซ็นต์ที่สร้างศูนย์วิจัย และจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอเข้ามามากมาย

นอกจากนั้นจีนยังดึง 5 บริษัทชั้นนำด้านเอไออย่าง ไป่ตู้, อาลีบาบา, เทนเซ็นต์, SenseTime และไอฟลายเทค (iFlyTek) เข้ามาทำงานร่วมกับรัฐบาล โดยยกให้เป็นผู้นำในการพัฒนานวัตกรรมด้านต่าง ๆ เช่น สมาร์ทซิตี้, รถอัจฉริยะ, การวินิจฉัยโรคโดยใช้คอมพิวเตอร์วิชั่น, การรับคำสั่งด้วยเสียง ฯลฯ

ส่วนในภาคการศึกษา หนึ่งในเครื่องมือเตรียมความพร้อมเด็ก ๆ คือแบบเรียนชื่อว่า “Fundamentals of Artificial Intelligence” (พื้นฐานปัญญาประดิษฐ์ระดับมัธยม) ที่ภายในมีเนื้อหาเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของโลกในยุค 2028 (พ.ศ. 2571) หรือโลกในอีก 10 ปีข้างหน้าที่เอไอครองเมืองไปแล้วเรียบร้อย ตัวเอกในเรื่องอย่างหมิงหมิงจึงถูกปลุกในทุกเช้าด้วยผู้ช่วยดิจิทัล รับประทานอาหารที่ปรุงโดยฝีมือหุ่นยนต์ และเดินทางโดยรถอัจฉริยะไร้คนขับ

Fundamentals of Artificial Intelligence
Fundamentals of Artificial Intelligence แบบเรียนเอไอที่ผลิตขึ้นสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา

จุดมุ่งหมายของแบบเรียนดังกล่าวคือ ภาคต่อของการนำเทคโนโลยีเช่น Facial Recognition หรือ Autonomous Driving ไปใช้งานจริง มากไปกว่านั้น สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นของฮ่องกงอย่าง SenseTime ยังลงมาช่วยพัฒนาแบบฝึกหัดออนไลน์ให้กับเด็ก ๆ ในเรื่องเกี่ยวกับเอไอที่พวกเขาเรียนไปด้วย

Peng Yu อาจารย์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขหนังสือเล่มนี้เผยว่า “หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับเด็กที่ต้องการค้นหาตัวเองว่าเอไอเป็นสิ่งที่เขาอยากเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยหรือไม่ โดยภายในจะระบุให้ทราบว่ามีเนื้อหาวิชาใดบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเอไอ เช่น คณิตศาสตร์ เด็กจะได้เตรียมตัวถูกว่าเขาต้องมีความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ด้วยจึงจะสร้างเอไอได้”

อาจารย์ Yu บอกว่า ปัจจุบัน โรงเรียนมัธยมส่วนมากให้ความสนใจกับการทำโปรเจ็คเกี่ยวกับเอไอมากขึ้น ซึ่งเขาเองก็มีคลาสสอนเอไอเช่นกัน และมีเด็กสนใจมาเรียน 12 คน

“เรามีการสอนเกี่ยวกับเอไออยู่แล้ว แต่หนังสือเล่มนี้ช่วยให้เราสามารถสอนได้ดีขึ้น”

ภาพจากเอเอฟพี
ภาพจากเอเอฟพี

ทั้งหมดนี้คือภาพของการเตรียมความพร้อมสไตล์จีน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างคนเพื่อเข้ามาเสริมการเติบโตด้านเอไอ แถมยังเป็นการสร้างคนที่มีความเข้าใจ และมีแรงบันดาลใจที่จะทำงานด้านนี้มาตั้งแต่อายุยังน้อย หรือในด้านดาต้านั้น ปัจจุบัน จีนมีการใช้งานสมาร์ทโฟนมากกว่า 1,000 ล้านเครื่องในประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องยากที่ประเทศอื่นจะไล่ตามได้ทัน ส่วนอุปสรรคที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ดมองว่าขวางทางอยู่ทั้ง 3 ข้อนั้น เชื่อว่าเวลา 10 ปีอาจเพียงพอที่จะทำให้จีนก้าวข้ามปัญหานี้มาได้ เหมือนเช่นที่เคยก้าวข้ามหลาย ๆ อุปสรรคมาแล้วก่อนหน้านี้ และนี่คือสิ่งที่สะท้อนตัวตนของจีน รวมถึงสิ่งที่จีนจะเป็นในปี 2573 ได้เป็นอย่างดี

Source

https://www.shine.cn/news/metro/1804293918/

https://qz.com/1256330/artificial-intelligence-expert-pedro-domingos-reflects-on-chinas-xi-jinping-reading-his-book-the-master-algorithm/
https://www.scmp.com/tech/china-tech/article/2137887/china-trails-us-every-area-ai-development-except-big-data-oxford
https://www.abacusnews.com/digital-life/china-brings-ai-high-school-curriculum/article/2144442

Avatar photo