Business

‘โซลาร์รูฟท็อป’ โอกาสสร้างรายได้ธุรกิจอสังหาฯ คาด 10 ปีตลาดพุ่ง 1.37 แสนล้าน

โซลาร์รูฟท็อป ภาคครัวเรือน โอกาสสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ผู้ประกอบการอสังหาฯ ยุคโควิดพ่นพิษ กระทบรายได้ กำไรลด คาด 10 ปี มูลค่าตลาดแตะ 1.37 แสนล้านบาท

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยง จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นระลอกสาม ในประเทศไทย เนื่องจากส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในภาคอสังหาฯ ทั้งจากผู้ซื้อชาวไทย และต่างชาติ ที่ยังถูกจำกัดการเดินทางข้ามประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ต้องมองหาแหล่งสร้างรายได้เสริม เพื่อความอยู่รอด ซึ่งหนึ่งในโอกาสสร้างรายได้เสริม ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง คือ การติดตั้ง โซลาร์รูฟท็อป ภาคครัวเรือน

โซลาร์รูฟท็อป

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า รายได้ของผู้พัฒนาอสังหาฯ ในช่วง 1-3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตเพียง 3.6% ต่ำกว่าช่วงก่อนหน้าที่เคยเติบโตได้ 7.2% เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศ โดนกดดันจากเศรษฐกิจ ที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ไม่เร็วนัก และหนี้ครัวเรือนในระดับสูงที่ 89.3% ต่อจีดีพี

ขณะที่ กำลังซื้อของชาวต่างชาติ ถูกจำกัดจากมาตรการเดินทางระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ธุรกิจที่เคยเป็นแหล่งรายได้เสริม ให้กับผู้พัฒนาอสังหาฯ ไม่ว่าจะเป็นอพาร์ทเม้นท์ หรือโรงแรม ก็มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้าเช่นกัน เนื่องจากได้รับผลกระทบ จากการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ส่วนออฟฟิศสำนักงานให้เช่า ที่กำลังถูกดิสรัป จากการทำงานที่บ้าน (Work from Home) เป็น New Normal จึงเป็นการยากที่ธุรกิจเหล่านี้ จะสามารถช่วยประคับประคองผลการดำเนินงานได้ ทำให้มองว่าผู้พัฒนาอสังหาฯ จำเป็นต้องหาแหล่งรายได้เสริมใหม่

โซลาร์รูฟ

ดร.กิตติพงษ์ เรือนทิพย์ นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ธุรกิจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป มีศักยภาพในการเป็นแหล่งรายได้เสริม ให้กับผู้พัฒนาอสังหาฯ ได้ เนื่องจากมูลค่าตลาดมีแนวโน้มสูงถึง 1.37 แสนล้านในช่วง 10 ปีข้างหน้า

นอกจากกระแสรักษ์โลก และสิ่งแวดล้อมแล้ว ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ความต้องการใช้โซลาร์รูฟท็อป มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น มาจากความคุ้มค่าที่เพิ่มขึ้น และยังมีปัจจัยสนับสนุน จากราคาโซลาร์รูฟท็อป ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ราคารับซื้อไฟที่เพิ่มขึ้น รวมถึงโควตารับซื้อไฟของภาครัฐ ที่เพิ่มขึ้น ในอนาคตข้างหน้า

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2556 พบว่า ราคาแผงโซลาร์ในไทยลดลงกว่า 66% ประกอบกับราคารับซื้อไฟของภาครัฐ ที่เพิ่มขึ้นเป็น 2.2 บาท/หน่วย ทำให้ระยะเวลาคืนทุนจากการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เร็วขึ้นจาก 17-30.3 ปี ในปี 2556 เหลือ 6.1-13.9 ปี ในปี 2564 และอาจเหลือเพียง 5.3-12 ปี ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้าเนื่องจากราคาแผงโซลาร์ ยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

ราคา

ดังนั้น จึงประเมินว่า มีครัวเรือนไทยถึง 2.3 ล้านครัวเรือนที่สามารถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และคุ้มทุนได้ค่อนข้างเร็ว หากครัวเรือนกลุ่มนี้เพียง 20% หันมาติดแผงโซลาร์ ก็จะทำให้มูลค่าตลาดสูงถึง 1.37 แสนล้านบาท

ด้าน นายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ กล่าวเสริมว่า จากโครงการก่อสร้าง ของผู้พัฒนาอสังหาฯ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คาดว่าจะมีบ้านกว่า 1 แสนหลัง ที่มีโอกาสจะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งผู้พัฒนาอสังหาฯ มีข้อได้เปรียบในการนำเสนอ โซลูชั่น ให้กับครัวเรือน

ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการ ในธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ  ส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์อันดี กับลูกบ้านเดิมอยู่แล้ว และยังมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งอาจจะทำให้ลูกบ้านกล้าลงทุน ในระบบโซลาร์รูฟท็อป ที่มีอายุการใช้งานนานถึง 25 ปี เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในระยะยาว และยังสามารถสร้างรายได้เสริม ในครัวเรือนอีกด้วย

สำหรับกลยุทธ์ที่ผู้พัฒนาอสังหาฯ สามารถเข้าสู่ตลาดได้เร็ว คือ การเป็นพันธมิตร กับบริษัทรับติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ดังเช่น กรณีของบริษัท Stockland ซึ่งเป็นผู้พัฒนาอสังหาฯ รายใหญ่ในออสเตรเลีย เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo