Business

เทียบให้ชัด! ซื้อบ้านใหม่ vs สร้างบ้านเอง แบบไหนโดนใจคนอยากมีบ้านยุคนี้

ซื้อบ้านใหม่ vs สร้างบ้านเอง ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เปิดผลสำรวจคนอยากมีบ้าน ต้องตอบโจทย์การอยู่อาศัยที่ครบครัน ดูทำเลที่ตั้งและระบบขนส่งสาธารณะ

การมีบ้านเป็นของตัวเอง ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมาย และความภาคภูมิใจในชีวิตของผู้บริโภคส่วนใหญ่ อีกทั้งอสังหาริมทรัพย์ ยังถือเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสามารถต่อยอดในอนาคตได้ นอกเหนือจากการอยู่อาศัยอีกด้วย แล้วสำหรับคนยุคนี้ ระหว่าง ซื้อบ้านใหม่ vs สร้างบ้านเอง แบบไหนตอบโจทย์ได้มากกว่ากัน

ซื้อบ้านใหม่ vs สร้างบ้านเอง

ข้อมูลจากผลสำรวจ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study โดย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ พบว่า ผู้บริโภคชาวไทย ให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อ หรือเช่าที่อยู่อาศัยโดยพิจารณาจากขนาดที่อยู่อาศัยเป็นหลัก 48% ตามมาด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก 44% และความคุ้มค่าในการใช้จ่ายโดยพิจารณาจากราคาเฉลี่ยต่อพื้นที่ใช้สอย 38%

ขณะที่ปัจจัยภายนอกโครงการ ที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ เช่าที่อยู่อาศัยนั้น ให้ความสำคัญในเรื่องทำเลที่ตั้งมากถึง 54% รองลงมาคือ ความสะดวกสบาย จากการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ 50% และความปลอดภัยในโครงการ 45%

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงให้ความสนใจไปที่การตอบโจทย์การอยู่อาศัยที่ครบครันเป็นหลักมากกว่าความสวยงาม โดยเฉพาะเรื่องทำเลที่ตั้งและระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นสองอันดับแรกที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญสูงสุด

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญในการอยู่อาศัยไม่แพ้กัน คือ ความปลอดภัยของที่อยู่อาศัย แม้เหตุผลที่หลายคนตัดสินใจเลือกซื้อบ้านใหม่ จากโครงการบ้านจัดสรร เพราะต้องการความครบครันพร้อมอยู่อาศัยอย่างเบ็ดเสร็จ และประหยัดเวลาในการใช้ชีวิตหลาย ๆ ด้าน แต่ต้องไม่ลืมว่า “การเลือกซื้อบ้านใหม่” นั้น ผู้อยู่อาศัยจริงไม่ได้มีบทบาทในการวางระบบความปลอดภัย ตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้าง

ในขณะที่การจะตัดสินใจ “สร้างบ้านเอง” ก็มีความกังวลในเรื่องการควบคุมคุณภาพการก่อสร้าง และการประสานงานกับผู้รับเหมา แล้วการมีบ้านหลังใหม่ในรูปแบบไหน ที่โดนใจมากกว่ากัน

ซื้อบ้านใหม่ vs สร้างบ้านเอง

ข้อควรรู้ก่อนซื้อบ้านใหม่

  • การซื้อบ้านใหม่ ทำให้ได้บ้านใหม่พร้อมเข้าอยู่ ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ง่ายกว่า

การเลือกซื้อบ้านในโครงการใหม่ จะมีราคาที่แน่นอน ซึ่งเป็นราคาที่ทางโครงการได้คำนวณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าที่ดิน ค่าก่อสร้าง ค่าบริหารจัดการต่าง ๆ รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านการขายและการตลาด

ดังนั้น บ้านจัดสรรจึงค่อนข้างมีราคาที่ชัดเจน ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถวางแผนงบประมาณเพิ่มเติม ในส่วนการตกแต่งภายใน หรือค่าเฟอร์นิเจอร์ได้ง่ายขึ้น ต่างจากการสร้างบ้านเอง ที่ต้องมีการวางแผนค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ขั้นตอนการจ้างสถาปนิกเขียนแบบ จนกระทั่งการเลือกผู้รับเหมา

นอกจากนี้ ข้อดีของการซื้อบ้านจากผู้พัฒนาอสังหาฯ คือ เจ้าของบ้านไม่ต้องเหนื่อย ในขั้นตอนการก่อสร้างหรือคุมงาน ปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบของผู้พัฒนาอสังหาฯ ได้โดยตรง

  • ยื่นขอสินเชื่อได้ง่ายกว่า มาพร้อมโปรฯ ดึงดูดใจ

การยื่นขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านในโครงการใหม่ มักมีข้อเสนอที่ดึงดูดความสนใจมากกว่า เนื่องจากผู้พัฒนาอสังหาฯ มักจับมือกับพันธมิตรที่เป็นธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆ ในการจัดทำโปรโมชั่น แคมเปญการตลาด มานำเสนออย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นยอดขาย และดึงดูดกำลังซื้อของผู้บริโภค

เมื่อผนวกกับมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รัฐบาลที่ให้ความสำคัญไปที่การซื้อบ้านใหม่ จากผู้พัฒนาอสังหาฯ เท่านั้น จึงทำให้การซื้อบ้านใหม่ในโครงการต่าง ๆ เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจยิ่งขึ้นในช่วงนี้ และมีโอกาสกู้ได้วงเงินที่สูงกว่าด้วย

บ้าน 1

  • พื้นที่ส่วนกลางตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์

พื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านจัดสรรส่วนใหญ่ ได้รับการออกแบบให้รองรับการทำกิจกรรม ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัยทุก เจนเนเรชั่น ทั้งการพบปะสังสรรค์ หรือเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นโซนพักผ่อนหย่อนใจในสวนสาธารณะเน้นใกล้ชิดธรรมชาติที่นอกจากจะได้ความร่มรื่นจากต้นไม้แล้วยังช่วยกรองมลพิษอีกด้วย หรือการมีห้องฟิตเนส สระว่ายน้ำ และพื้นที่ออกกำลังกายกลางแจ้งเพื่อสร้างสุขภาพที่ยั่งยืน

โครงการหมู่บ้านจัดสรร ยังมีระบบดูแลรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ที่คอยตรวจตราความสงบเรียบร้อย คัดกรองและบันทึกข้อมูลการเข้า-ออกของบุคคลภายนอก และมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วบริเวณโครงการ ซึ่งช่วยให้ลูกบ้านมีความมั่นใจเมื่ออยู่อาศัยหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้านมากขึ้น

  • ขยับขยายพื้นที่ลำบาก

บ้านจัดสรรในโครงการต่าง ๆ มักจะมีการออกแบบแปลนบ้านมาตรฐานไว้อยู่แล้ว และในโครงการหนึ่ง มักจะมีเพียงไม่กี่รูปแบบให้เลือก แน่นอนว่าย่อมไม่สามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัยของทุกครอบครัวได้อย่างครบถ้วน เพราะไม่ได้ออกแบบ โดยคำนึงถึงการใช้งานจริงของครอบครัวนั้น ๆ โดยเฉพาะ

ทั้งนี้ หากมีแผนขยายครอบครัวในอนาคต หากคิดจะขยับขยายหรือต่อเติมพื้นที่ใช้สอยเพิ่ม ก็เป็นเรื่องที่ลำบาก และต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพราะที่ดินมีพื้นที่จำกัด และการต่อเติม ต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิของเพื่อนบ้าน รวมทั้งต้องตรวจสอบข้อตกลง ข้อกำหนดของโครงการบ้านจัดสรรที่ได้บัญญัติไว้อีกด้วย

  • วัดดวงกับนิติบุคคล และเพื่อนบ้านในอนาคต

โครงการบ้านจัดสรร จะมีนิติบุคคลเป็นตัวแทนหมู่บ้าน คอยจัดประชุมตามวาระต่าง ๆ รักษาความสงบเรียบร้อย ในการใช้งานทรัพย์สินส่วนกลาง และควบคุมการบังคับใช้กฎระเบียบของสมาชิกในหมู่บ้าน เพื่อสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

กรณีที่เป็นโครงการอสังหาฯ จากผู้ประกอบการรายกลางหรือรายเล็ก อาจมีการคัดเลือกทีมนิติบุคคลจากผู้อยู่อาศัย ขึ้นมาเป็นตัวแทน ในการดูแลบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ แทนลูกบ้าน ซึ่งอาจจะไม่มีประสบการณ์บริการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ ได้เทียบเท่าบริษัทรับบริหารนิติบุคคลมืออาชีพ

อีกประการสำคัญคือ การเลือกซื้อบ้านใหม่ในโครงการบ้านจัดสรร จะไม่สามารถคาดเดาได้ว่า เพื่อนบ้านที่ย้ายเข้ามาใหม่ จะมีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอย่างไร หากต้องเผชิญปัญหากระทบกระทั่งระหว่างเพื่อนบ้าน ที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวไม่น้อย ถ้านิติบุคคลไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการปัญหาให้จบด้วยดีได้

ซื้อบ้านใหม่ vs สร้างบ้านเอง

ข้อควรรู้ก่อนสร้างบ้านเอง

  • ได้บ้านตรงตามอุดมคติ

การสร้างบ้านเอง ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยมีความผูกพันกับบ้าน และเพิ่มความภูมิใจเมื่อเป็นเจ้าของมากขึ้น เนื่องจากได้มีส่วนร่วมด้วยตนเอง ตั้งแต่การออกแบบบ้าน การคัดสรรวัสดุที่ใช้ รวมไปถึงเลือกผู้รับเหมาด้วยตัวเอง สามารถวางแผนตกแต่งในสไตล์ที่ชอบได้ตั้งแต่แรก ซึ่งจะลดปัญหาค่าใช้จ่ายในการรีโนเวทที่ตามมาในภายหลังได้

นอกจากผู้บริโภคที่สนใจสร้างบ้านเอง จะได้บ้านใหม่ตรงตามที่วาดฝัน และแน่นอนว่า บ้านนี้จะตอบโจทย์การอยู่อาศัย และไลฟ์สไตล์ที่แตกต่าง ของสมาชิกในครอบครัวได้ครบถ้วนที่สุด

  • ได้บ้านในทำเลที่โดนใจ เพื่อนบ้านรู้ใจ

ทำเลที่ตั้งของที่อยู่อาศัยมีผลต่อการตัดสินใจซื้อไม่น้อย แม้หลายโครงการบ้านจัดสรร จะมีระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันแต่หากอยู่ในทำเลที่ไม่ดี เดินทางไม่สะดวกก็ถือว่าไม่ตอบโจทย์มากพอ เมื่อเมืองหลวงและหัวเมืองใหญ่ มีการพัฒนาความเจริญในหลายด้าน ย่อมทำให้ทำเลทองบางแห่งมีราคาสูงตามไปด้วย หรือทำเลที่ดีบางแห่ง อาจมีขนาดพื้นที่ไม่เพียงพอที่จะพัฒนาเป็นโครงการอสังหาฯ ขนาดใหญ่

ดังนั้นการที่ผู้บริโภคเลือกที่จะซื้อที่ดินในทำเลที่ดี และเป็นมงคลตามความเชื่อมาเก็บไว้ ก่อนที่จะดำเนินการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในอนาคต จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากที่ดินจะมีมูลค่าเพิ่มเรื่อย ๆ แม้จะเก็บไว้เป็นเวลานาน

การสร้างบ้านในที่ดินตนเอง ยังทำให้รู้ว่าเพื่อนบ้านของเราเป็นใครบ้าง มีอุปนิสัยหรือประกอบอาชีพอะไร เพื่อประเมินสถานการณ์เบื้องต้นที่อาจเกิดขึ้น เมื่อย้ายเข้ามาอยู่อาศัย หรือหากใครมีที่ดินเปล่าในบริเวณใกล้เคียงกับบ้านญาติพี่น้องก็ถือเป็นข้อดี เพราะเมื่อก่อสร้างบ้านในที่ดินนั้นก็จะยิ่งเพิ่มความสบายใจและอุ่นใจ เมื่อได้อาศัยท่ามกลางเพื่อนบ้านที่คุ้นเคยกัน

อสังหา ภาษี

  • ควบคุมคุณภาพ อัปเกรดความปลอดภัยได้ตามใจ

การเลือกสร้างบ้านเองนั้นทผู้บริโภคจะสามารถเลือกวัสดุที่ใช้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้บ้านได้ด้วยตนเองได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่งานโครงสร้างจนถึงงานสถาปัตย์ อีกทั้งยังสามารถเลือกใช้เทคโนโลยี มาช่วยวางระบบความปลอดภัยในบ้าน ผ่านการติดตั้งกล้องวงจรปิด ระบบดักจับควัน ระบบดักจับการเคลื่อนไหวในบ้านเพิ่มเติมได้ ซึ่งจะช่วยให้อุ่นใจว่า ได้เสริมเกราะป้องกันให้บ้านปลอดภัยดได้ดีขึ้นอีกระดับ

  • เสี่ยงดวงกับผู้รับเหมา

การจ้างผู้รับเหมาถือเป็นความท้าทายอันดับต้น ๆ ของคนสร้างบ้าน เพราะไม่มีอะไรมาการันตีได้ว่างานที่ได้จะออกมามีคุณภาพตามที่คิดหรือไม่ หากเจ้าของบ้านไม่มีความรู้เลย ก็อาจเสียเปรียบหรือโดนหลอกโกงสเปกวัสดุได้ง่าย ๆ งานที่ได้อาจไม่มีคุณภาพมากเพียงพอเท่าราคาที่เสียไป

ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรหมั่นศึกษาหาความรู้พื้นฐาน เรื่องการก่อสร้างอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นแนวทางในตรวจเช็กเอกสาร สเปกวัสดุ ตรวจสอบค่าใช้จ่ายในเอกสารแสดงรายการวัสดุและค่าใช้จ่าย (Bill of Quantities หรือ BOQ) เพื่อป้องกันการเสียรู้ให้ผู้รับเหมาในเบื้องต้น และต้องตกลงรายละเอียดงานและสัญญาว่าจ้างให้ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดในภายหลัง

  • เสี่ยงงบบานปลาย ต้องวางแผนการเงินอย่างดี

การเลือกสร้างบ้านเองนั้นแม้จะได้บ้านที่ถูกใจมากกว่า แต่แน่นอนว่าย่อมแลกกับการที่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ทั้งในส่วนค่าที่ดิน ค่าออกแบบแปลน ค่าสถาปนิก ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าแรงผู้รับเหมา รวมถึงค่าตกแต่งเพื่อความสวยงาม หากผู้บริโภคไม่มีประสบการณ์ในการรับมือปัญหาเหล่านี้ หรือไม่มีการวางแผนทางการเงินที่รัดกุมเพียงพอ อาจนำไปสู่ปัญหางบบานปลาย คุมค่าใช้จ่ายไม่อยู่ เนื่องจากค่าวัสดุอุปกรณ์มีการปรับเปลี่ยนตามเกรด และอาจมีการเบิกค่าใช้จ่ายที่ผู้รับเหมาไม่ได้แจ้งล่วงหน้า หากไม่กำหนดเพดานค่าใช้จ่ายที่ชัดเจนหรือสำรองเงินไว้เพียงพอ อาจเกิดปัญหาในภายหลังได้

การเลือกทำบัญชีรายรับ–รายจ่ายเพื่อบันทึกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตั้งแต่วางแผนมีบ้าน จนเริ่มก่อสร้าง และอัปเดตงบประมาณที่ตั้งไว้ตลอด เพื่อประมาณการค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม การมีบ้านเป็นของตัวเองนั้น ไม่ว่าจะเลือกซื้อบ้านใหม่ หรือสร้างบ้านเอง ผู้บริโภคต้องคำนึงเสมอว่า ความต้องการของผู้อยู่อาศัย คือสิ่งสำคัญที่สุด แต่ต้องไม่ลืมว่า การพิจารณางบประมาณที่มีให้เหมาะสม กับการซื้อ หรือสร้างบ้าน ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo