Business

ไร้กระดาษ!! ‘นฤตม์’เข็นบีโอไอสู่เซอร์วิสยุคดิจิทัล

ภารกิจหลัก ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ ภารกิจหลักคงหนีไม่พ้นการกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการลงทุนทั้งจากต่างประเทศ และภายในประเทศ การดึงดูดการลงทุนด้วยการให้การส่งเสริมการลงทุนผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี และสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี  ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน

แต่ด้วยโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้บีโอไอ จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเองให้ทันสมัยแบบว่า “โลกเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยน”

thumbnail IMG 6726 bb
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ยอมรับว่าเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วทำให้บีโอไอ จำเป็นต้องปรับตัวเองให้เร็วด้วย ตามยุทธศาสตร์ใหม่ของบีโอไอ นฤตม์  กล่าวกับ” The Bangkok Insight” ว่าอันดับแรกเราจะเน้นเรื่อง “คนและเทคโนโลยี” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ แต่ด้วยนโยบายของรัฐบาลเราก็ต้องเข้าใจด้วย บีโอไอเป็นกลไกหนึ่งของรัฐ จำเป็นต้องตอบโจทย์อื่นด้วยนอกจาก 2 โจทย์นี้ อย่างเช่น ด้านสังคม ความมั่นคง เราก็ต้องตอบโจทย์นี้ด้วย

ด้านสังคมเรื่องความเหลื่อมล้ำ ยอมรับเป็นเรื่องใหญ่ คิดตลอดว่าบีโอไอจะเข้าไปช่วยได้อย่างไร นฤตม์  บอกว่าเมื่อก่อนเราเคยเชื่อในทฤษฎี “ถ้วยชา” เชื่อว่าถ้าน้ำล้นแก้วแล้วจะล้นมาที่จานรองเอง ฉะนั้นเราก็เปรียบเสมือนส่งเสริมที่ตัวแก้ว พอน้ำล้นมันก็จะมาเอง เราก็มองว่า “ชนบท” ก็เหมือน “จานรอง” เราส่งเสริมที่รายใหญ่ถึงเวลาตัวเล็ก ตัวน้อยก็จะได้ประโยชน์เอง

แต่ใน “ความเป็นจริงไม่เสมอไป” บางทีมันก็มาไม่ถึง น้ำในแก้วมันไม่เคยล้นสักที พยายามคิดตลอดว่ามีกลไกอะไรที่จะไปช่วยได้โดยตรงบ้าง เคยมีมาตราการมาครั้งหนึ่งที่ส่งเสริมรายใหญ่ให้ไปช่วยรายเล็ก แต่บังเอิญกลไกภาษีไม่ได้ตอบโจทย์เสียทีเดียว

เช่นเดียวกับภาคเซอร์วิส มองว่าความสำคัญของภาคบริการ มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มูลค่าก็สูงตรงกับที่ว่าทำน้อยได้มาก นฤตม์ มองว่าเครื่องมือของบีโอไอในอดีตถูกออกแบบมาสำหรับภาคการผลิต ยอมรับว่าตั้งแต่บีโอไอออกกฎหมายมาเมื่อปี 2520 ตอนนั้นบีโอไอต้องการสร้างภาคอุตสาหกรรมการผลิตให้เกิดขึ้น ขณะที่ปัจจุบันกับอนาคตเป็นเรื่องของ “ภาคบริการ”แล้ว

44112854 695523677470732 8297221695920406528 n5555

นฤตม์ ย้ำว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากที่เราต้องปรับใช้เครื่องมือที่เรามี เพื่อตอบโจทย์เพื่อตอบโจทย์ภาคบริการในอนาคต โดยเฉพาะด้าน “ดิจิทัล” อันนี้สำคัญมาก เราพยายามทำอยู่ พยายามปรับและพัฒนามาตลอด แต่มันก็ยังไม่พอต้องพยายามทำต่อเนื่อง โดยมองไปในอนาคตด้วย เพื่อให้เครื่องมือไม่แข็งตัวเกินไป และต้อง ให้สอดคล้องความเป็นไปของธุรกิจ

เรื่องดิจิทัลสำคัญมากกับองค์กร แม้อดีตบีโอไอจะพยายามพัฒนาด้านบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e Service) มาตลอด  แต่ปัจจุบันความคาดหวังของลูกค้าก็เปลี่ยนแปลงไป มีมากขึ้นทุกวัน อันนี้เป็นโจทย์ท้าทาย ทำอย่างไรที่บีโอไอจะปรับบริการต่างๆของบีโอไอ
แต่วันนี้พอเป็นโลกดิจิทัล ก็ต้องปรับให้เป็น“ทุกที่ ทุกเวลา” ไม่ต้องมาถือเอกสารมาเป็นปึกไปที่บีโอไออีกแล้ว วันนี้บีโอไอก็เดินแนวนี้อยู่ “ตอนนี้เราได้ประกาศยกเลิกสำเนาบัตรประชาชนไปแล้ว”
id 2

นฤตม์ อธิบายต่อว่ามันจะไม่จบสิ้นเพียงแค่ยกเลิกสำเนาบัตรประชาชน แต่สิ่งที่กำลังทำต่อไป นั่นคือการที่เราตั้งเป้าที่จะการ “ยกเลิกการขอสำเนาเอกสารราชการทั้งหมดไม่เฉพาะบัตรประชาชน” ปัจจุบันเราขอเอกสารราชการ เช่น หนังสือบริคณห สนธิ ใบอนุญาต รง. 4 ของกระทรวงอุตสาหกรรม  สิ่งเหล่านี้บีโอไอ ต้องขอสำเนาจากบริษัททั้งหมด เอกสารทั้งหมดที่หน่วยราชการเป็นคนออกต่อไปบีโอไอจะไม่ต้องขออีกแล้ว โดยจะเชื่อมต่อกับหน่วยงานเหล่านี้ รวมทั้งกรมที่ดิน การจัดการเรื่องเอกสารเป็นดิจิทัล บีโอไอเราคาดว่าภายใน 1 ปีข้างหน้าต้องทำให้ได้ 

อย่างไรก็ดี การที่จะทำให้ระบบไอทีเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างกันสำเร็จต้องอาจใช้เวลา 3-5 ปี เบื้องต้นทำอย่างไรที่ ไม่ต้องไปขอจากบริษัท  แต่บีโอไอต้องเป็นคนขอแทนได้ไหม?  แทนที่จะให้บริษัทไปขอ วิธีการมีการส่งต่อเอกสารด้วยกันจะเป็น email หรือ แพลตฟอร์ม ที่สร้างขึ้นมา หรือสร้าง แอปพลิเคชั่น อะไรขึ้นมาได้ไหม โดยที่บีโอไอไม่ต้องไปเรียกร้องจากบริษัท

โดยจำนวนบริษัทที่ทำกับเราอยู่ปัจจุบันมีประมาณ 7,000-8,000 บริษัท ถ้าจำนวนโครงการก็มีประมาณ 10,000 โครงการ นี่คือลูกค้าที่บีโอไอต้องดูแลไม่เฉพาะแต่ที่ขอรับการส่งเสริมเท่านั้น ยังมีกระบวนการใช้สิทธิประโยชน์

collage2

สิ่งเหล่านี้เป็นงานท้าทายมากเพราะว่าระบบไอทีของแต่ละหน่วยงานก็พัฒนามาคนละแพลตฟอร์ม การที่จะปลั๊กเข้าด้วยกันเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายาม แต่ต้องทำ ต้องยอมรับว่าโลกดิจิทัลมันเร็วมาก อย่างการยกเลิกสำเนาบัตรประชาชน ทุกหน่วยงานได้รับนโยบายมาใช้เวลาประมาณครึ่งปี ก็ต้องทำให้ได้ภายในเวลาจำกัด
นฤตม์  บอกด้วยว่าในส่วนของบัตรส่งเสริมการลงทุน ปัจจุบันทำอยู่เป็น “ฮาร์ดก็อปปี้”  เป็นปกแข็งมี “ตราครุฑ” ข้างในเป็นเอกสาร ระบุว่าส่งเสริมบริษัทอะไร ทำอะไร ตั้งอยู่ที่ไหน มูลค่าเท่าไหร่คล้ายๆใบ “กรมธรรม์ชีวิต” ทุกวันนี้ยังทำแบบนี้อยู่ อันนี้เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ บีโอไอจะทำเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์  ปัจจุบันเป็นยัง “ฮาร์ดก็อปปี้” เวลาเอกชนแก้ไขโครงการก็ต้องเอาบัตรส่งเสริมเก่ามาแก้ หอบเอกสารมาให้บีโอไอแก้ใส่ข้อมูลเพิ่มเติม
ดังนั้นต่อไปสิ่งต้องเป็นอิเล็กทรอนิกส์ นี่ก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่บีโอไอต้องทำให้เสร็จภายใน 1-2 ปี ต้องทำให้ได้ พอเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ข้อดีเราก็จะเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นได้  ปัจจุบันบีโอไอมีอุปสรรคกับบัตรส่งเสริมการลงทุน อย่างกระทรวงการคลัง ศุลกากร สรรพากร เป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านภาษี หน่วยงานต่างๆที่ต้องใช้ข้อมูลจากบัตรส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ  แต่เรายังต้องส่งเป็น “ฮาร์ดก็อปปี้” ให้
“สิ่งสำคัญมากถ้าทำสำเร็จก็จะเป็นอานิสงส์ ถึงหน่วยงานอื่นๆ เอาไปทำงานต่อไปบีโอไอเอง ก็ต้องทำแบบทูเวย์ เอกสารที่มาจากที่อื่นเราก็ต้องทำให้เชื่อมต่อได้ แต่เราต้องทำตัวเราให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยเพื่อไปเสริฟคนอื่น ดาต้า ที่เอามาเชื่อมไม่ได้มีแต่การลงทุน แต่มันมีสารพัดอย่าง”
c1
นฤตม์  ย้ำว่าที่บีโอไอปรับอยู่อย่างต่อเนื่องและไม่มีวันเสร็จนั่นคือ การใช้สิทธิประโยชน์ทุกชนิด  อย่างภาษี เรามีระบบ E-TAX เพื่อรองรับภาษีเงินได้ มีอีก 2 ระบบเพื่อรองรับภาษีอากรเครื่องจักร วัตถุดิบ และมีอีกระบบหนึ่งรองรับ เรื่องผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เข้ามา มีระบบไอที 3-4 ระบบรองรับสิทธิประโยชน์แต่ละอย่าง ระบบพวกนี้ไม่ตายตัว ไม่ได้หยุดนิ่ง ต้องพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ใหม่ๆตลอดเวลา
อย่างวัตถุดิบเดิมไม่ได้อิเล็กทรอนิกส์ทุกขั้นตอน หวังว่าอีกไม่นานก็จะใช้เป็นอิเล็กทรอนิกส์สมบูรณ์  คาดจะใช้เวลาอีก 1-2 ปี ต้องทำให้ได้ ช่วง 1-2 ปีนี้ คิดว่าจะไม่มีวันเสร็จเพราะต้องมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ
ขณะเดียวกันบีโอไอ เตรียมที่จะนำระบบเอไอ มาช่วยวิเคราะห์การอนุมัติโครงการที่ขอส่งเสริมการลงทุน เป็นการช่วยกรองบางส่วน  สำหรับเอไอจะนำมาใช้บางส่วน เพื่อตรวจสอบว่าขั้นตอนไหนผิดปกติหรือไม่ ซึ่งอาจต้องคอยดูเป็นพิเศษ แต่ขั้นตอนสุดท้ายการวิเคราะห์ก็ต้องมีเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเพราะถือว่ามีประสบการณ์

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight