Finance

ลุ้น!! หุ้นไทยทะยานแตะ 1,800 จุดก่อนเลือกตั้ง

ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในเดือนพฤศจิกายน 2561 ดูท่าทีน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นจากเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงไป 5% โดยไปแตะระดับต่ำสุดที่ 1,623.37 จุด แต่ระหว่างวันดัชนีได้ปรับตัวลดลงหลุด 1,600 จุด

จากการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ คาดว่า แนวโน้มเดือนนี้มีทิศทางที่ดีขึ้นได้ ขณะที่ปัจจัยเชิงลบที่สำคัญ คือแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งมีการประเมินว่าจะลดลง ส่วนปัจจัยสนับสนุนน่าจะเป็นแรงซื้อจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) รวมทั้งผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในงวด 9 เดือนและไตรมาส 3 ปีนี้หากออกมาในทิศทางที่ดี ก็จะช่วยประคองดัชนีได้อีกทาง ดังนั้น จึงทำให้เชื่อได้ว่ามีโอกาสที่ดัชนีตลาดหุ้นจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ รวมทั้งในระยะกลางคาดว่า ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสแตะระดับ 1,800 จุดได้ก่อนเลือกตั้งเกิดขึ้น

set25 1

บล.ฟินันเซียไซรัส ระบุว่า กลยุทธ์การลงทุนเดือนพฤศจิกายน 2561 ตลาดหุ้นไทยในเดือนที่ผ่านมาปรับลงผิดคาด ปัญหางบประมาณอิตาลีส่งผลให้เม็ดเงินไหลออกจากหุ้นทั่วโลก และทำให้ปัจจัยบวกเฉพาะตัวของไทยถูกบดบังไป แต่เชื่อว่าในช่วงโค้งสุดท้ายของปีที่เข้าใกล้วันหยุดยาวของต่างชาติ แรงซื้อ LTF, RMF แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของกนง.ในช่วงสิ้นปี และประเด็นเลือกตั้ง จะทำให้บรรยากาศการลงทุนในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีดีขึ้น

สำหรับเดือนพฤศจิกายน 2561 ซึ่งเป็นเดือนแห่งผลประกอบการ ฝ่ายวิจัยคาดกำไรไตรมาส 3 ปี 2561 ทรงตัวจากไตรมาส 2 ปี 2561 แต่เพิ่ม 10 – 15% จากงวดเดียวกันปีก่อน และไม่น่ามีประเด็นที่น่ากังวล เพราะผ่านการปรับลดประมาณการมาแล้ว ยังเชื่อว่าดัชนี มีโอกาสทดสอบ 1,800-1,850 จุดก่อนการเลือกตั้ง แต่เป้าสิ้นปีนี้ยังคงไว้ที่เดิม 1,750 จุด หุ้นที่เลือกในเดือนนี้เน้นหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวและราคาหุ้นปรับฐานแล้วได้แก่ CHG, CK, TISCO, PRM, PTTEP

การเปลี่ยนแปลงราคาหุ้นใหญ่เดือนต.ค.v222 01

ขณะที่อัตราส่วนมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด( Market Cap) ต่อจีดีพีของไทยก็ลดลงจาก 120% ในปีก่อน เหลือ 109% ใกล้เคียงค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ 110% ระยะสั้น จึงยังคาดหวังการฟื้นตัวของดัชนีหุ้นไทยต่อเนื่อง โดยหุ้นใหญ่ที่ยังปรับตัวขึ้นไม่มาก (Laggard) และงบไตรมาส 3 ปี 2561 โตสวยทั้งจากไตรมาส 2 ปี 2561 และจากงวดเดียวกันปีก่อน คือ BJC, BCH, CK และ PRM

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุว่า กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยเดือนนี้ประเมินค่อนข้างลำบากจากหลายประเด็นที่ยากต่อการคาดผลลัพธ์ อย่างไรก็ตามคาดกรอบการแกว่งตัวที่ 1,620 – 1,685 จุด โดยแนะสะสม BEM, GPSC, MACO, CPN

ทั้งนี้ ภาพรวมในเดือนตุลาคม ตลาดหุ้นทั่วโลกในเดือนที่ผ่านมา รวมถึงดัชนีหุ้นไทย ปรับตัวลงเป็นส่วนใหญ่ โดย MSCI Asia Pacific Ex, Japan ปรับลดลง 10.1% (ดัชนีหุ้นไทยลดลง 5.2% ) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ภายหลัง IMF ปรับเป้าจีดีพี โลกและการค้าลดลง เป็นผลให้ราคาสินค้า Commodity หลายประเภทรวมถึงน้ำมันปรับลดลง

บล.ยูโอบีเคย์เฮียน(ประเทศไทย) คาดว่า ตลาดหุ้นไทยระยะสั้นขึ้นแรงโดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการซื้อคืนหุ้นที่ถูกขายชอร์ต (cover short) กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ รวมถึงบรรยากาศการลงทุนในภาพรวมที่ผ่อนคลายขึ้น ทำให้ยังมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นต่อ ทดสอบแนวต้าน 1,680 และ 1,700 จุดตามลำดับ โดยมีแนวโน้มจะเผชิญความผันผวนระยะสั้นที่สูงขึ้นจากแรงทำกำไรในหุ้นที่ปรับขึ้นเร็ว รวมทั้งจากการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบที่กดดันต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์

การเปลี่ยนแปลงราคาหุ้นใหญ่เดือนต.ค 01
กลยุทธ์การลงทุนยังแนะนำเลือกซื้อหุ้นพื้นฐานดีและกลุ่มปลอดภัย (defensive) อาทิ สื่อสาร ไฟฟ้า กอง REIT รวมถึงหุ้นปันผลสูงที่คาดแข็งแกร่งกว่าตลาดโดยรวม อาทิ ADVANC, DTAC, CPALL, BCPG, CKP, JASIF, DIF, BCP, ESSO

อย่างไรก็ตาม แนะนำหุ้นที่เป็นเป้าหมายซื้อคืน โดยหุ้นที่ถูกเปิดสถานะขายก่อนแล้วซื้อกลับ( short )มากที่สุดในเดือนตุลาคมและมีโอกาสตกเป็นเป้าหมายการซื้อคืน ได้แก่ PTTEP, KBANK, PTTGC, BEAUTY, PTT, CPALL, TOP, IVL, MTC, SCB, EA, BBL, KTC, IRPC, AOT, ADVANC, BANPU, AMATA, TRUE, WORK, MINT, KTB, SCC, CBG, WHA

บล.เอเซียพลัสระบุว่า แนวโน้มเงินทุนต่างชาติในเดือนพฤศจิกายน 2561 แม้สถิติในอดีตย้อนหลัง 10 ปี ต่างชาติมักขายหุ้นไทยมากสุดในเดือนพฤศจิกายน เฉลี่ย 1.4 หมื่นล้านบาท แต่ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ต่างชาติขายหุ้นไทยหนักสุดในปีนี้ กดดันให้ตลาดหุ้นปรับฐานแรงกว่า 5% (ปรับฐานแรงสุดเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ปลายปี 2558 เป็นต้นมา) ทำให้เชื่อว่า เดือนพฤศจิกายน 2561 แรงขายต่างชาติน่าจะเบาลง และสลับกลับมาซื้อบ้าง ประกอบกับสถาบันฯน่าจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยพยุงตลาดในช่วงที่เหลือของปี เนื่องจากในช่วงท้ายของปี คาดว่าจะมีเม็ดเงินแอลทีเอฟ ทยอยเข้ามาหนุนตลาดฯ ราว 59.7% ของเม็ดเงินซื้อทั้งปี (เดือน พ.ย. 12.7% และ ธ.ค. 47%)

หากเปรียบเทียบกับปี 2560 ที่มียอดซื้อทั้งปี 6.45 หมื่นล้านบาท น่าจะมีเม็ดเงินแอลทีเอฟเข้ามาหนุนตลาดฯช่วงที่เหลือของปี ราว 3.85 หมื่นล้านบาท สอดคล้องกับสถิติในอดีตย้อนหลัง 10 ปี ใน 2 เดือนสุดท้ายดัชนีหุ้นไทยมักปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.44% และให้ผลตอบแทนเป็นบวกถึง 7 ใน 10 ปี

Avatar photo