COVID-19

วัคซีนเรื่องด่วน ‘บิ๊กตู่’ ตั้งทีมจัดหาวัคซีนทางเลือก เปิดทางเอกชนฉีดเอง

ตั้งทีมจัดหาวัคซีนทางเลือก “บิ๊กตู่” ตั้ง “หมอปิยะสกล” หัวหน้าทีมจัดหา เพิ่มทางเลือกให้เอกชนฉีดเอง ยันเปิดทางโรงพยาบาลเอกชนช่วยภาครัฐ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข, ศบค. และสภาความมั่นคงแห่งชาติ  ถึงสถานการณ์ล่าสุดการเผยแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และแผนการแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ข้อสรุปในการ จัดตั้งทีมจัดหาวัคซีนทางเลือก โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตรมว.สาธารณสุข เป็นหัวหน้าทีม

ตั้งทีมจัดหาวัคซีนทางเลือก

ทั้งนี้ ตนให้ความสำคัญกับการแพร่ระบาดในช่วงนี้ ทุกครั้งที่มียอดผู้ติดเชื้อมากขึ้นก็เป็นธรรมดาที่เราต้องมาพูดคุยกัน หาความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งวันนี้ได้เชิญทุกฝ่ายมาทำความเข้าใจร่วมกัน ทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และวันนี้ได้เชิญทางโรงพยาบาลเอกชนมาด้วย โดยเฉพาะสมาคมโรงพยาบาลเอกชน

ประเด็นในการหารือในหลักการสำคัญคือ ทำอย่างไรจะมีวัคซีนเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ต้องไปแก้ไขเรื่องของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือ องค์การเภสัชกรรม ที่จะนำเข้าได้หรือไม่ อย่างไร ถือเป็นวัคซีนทางเลือกเพราะตอนนี้มีวัคซีนเฉพาะที่รัฐบาลนำเข้า ก็ต้องไปหาทางจะเอาวัคซีนเข้ามาได้อย่างไร เพราะกติกาตอนนี้คือเป็นวัคซีนฉุกเฉินก็ต้องมีการพูดคุยหารือกัน

“เรากำลังเดินหน้าไปสู่วัคซีนทางเลือกอีกอันหนึ่ง ซึ่งอันนี้จะมีผลต่อโรงพยาบาลเอกชนที่ยังไม่มีวัคซีนอยู่ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตด้วย ต้องคุยกับเขาเพราะมีหลักการหลายอย่างโดยเฉพาะทางด้านกฎหมายต้องไปหารือกันให้เรียบร้อย สำหรับผมยินดีที่โรงพยาบาลเอกชนแสดงความจำนง จะหาวัคซีนช่วยภาครัฐ ซึ่งภาครัฐก็ไม่ได้ปิดกั้นอะไรอยู่แล้ว”นายกรัฐมนตรี กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้วางแนวทางการดำเนินงาน ทั้งในส่วนของวัคซีนที่รัฐจัดหา และวัคซีนทางเลือก ที่จะนำเข้ามาใหม่เพิ่มเติมโดยภาคเอกชน ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับ อย.และองค์การเภสัชฯด้วย ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะ รวมทั้งการดูระยะเวลาการเข้ามาของวัคซีนเพิ่มเติม ซึ่งเดือน เม.ย.จะเข้ามาอีก 1.5 ล้านโดส

นายก

“ประเด็นสำคัญที่เราตระหนกก็คือ มีจำนวนการติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 200 – 300 – 400 คน แต่เราควบคุมได้ โดยหาตัวบุคคลที่ติดเชื้อมาตรวจ โดยมาอยู่ในสถานที่ควบคุม ซึ่งเราเตรียมการไว้ทั้งหมดว่าหากแพร่ระบาดมากขึ้นจะทำอย่างไร โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เรากังวล แต่ยืนยันว่านายกฯ ไม่ทอดทิ้งใคร”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หมอ พยาบาล ติดเชื้อ จึงคิดว่าจะทำอย่างไร ไม่ให้เชื้อโควิดเข้าไประบาดในโรงพยาบาล ดังนั้น จึงต้องมีโรงพยาบาลสนาม เพื่อตรวจคัดกรอง คนที่ไม่รักษา ก็ไม่ต้องรักษาไปอยู่โรงพยาบาลสนาม แทนจะได้แบ่งเบาภาระไปได้ด้วย ส่วนเรื่องน้ำยาตรวจ ยืนยันว่ามีเพียงพอ ไม่ได้มีปัญหาอะไร

สำหรับการฉีดวัคซีนนั้น ภาคเอกชนก็พร้อมที่จะฉีดช่วยรัฐบาลในระยะแรก ซึ่งรัฐบาลก็จะจัดสถานที่ฉีดให้ ซึ่งเดิมก็ทำอยู่แล้ว แต่ต่อไปถ้ามีวัคซีนทางเลือกเข้ามาใหม่ เขาก็สามารถให้บริการของเขาเองได้ อันนี้ก็เป็นกติกาของเรา

อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกคนระมัดระวังตัวเอง ขอให้ใส่หน้ากาก เว้นระห่าง ล้างมือ และเว้นไปในที่อโคจร ซึ่งที่อโคจรคือที่ที่ไม่ควรไป นี่คือมนุษย์ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร นายกฯจะไปสั่งห้ามมันก็ไม่ใช่ มันก็มีอย่างเดียวคือปิดสถานบริการ ซึ่งวันนี้ก็มีแผนในการปิดอยู่แล้ว โดยปิดไปแล้ว 190 กว่าแห่ง เหลืออีก 41 จังหวัด ก็จะปิดไปอีก

“มันต้องร่วมมือกันทั้งหมด โทษกันไปกันมาไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้น เดี๋ยวคนรวยติด คนจนติด เราไปแบ่งแยกคนได้อย่างไร เพราะทุกคนก็คือคนไทย เราต้องทำงานเพื่อคนไทย นายกฯเข้ามาก็อย่างนี้แหล่ะ มันต้องทำให้เกิดความเป็นธรรม และวันหน้าก็จะมีวัคซีนที่เข้ามาจำนวนมาก ไปเพิ่มเติมตามจังหวัดต่าง ๆ ด้วย ก็ต้องบริหารจัดการให้ดี”นายกฯ กล่าว

สิ่งสำคัญที่สุดคือกลุ่มเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง พวกนี้ก็ต้องไปรับการดูแล รัฐบาลก็สามารถใช้มาตรการอื่นเพิ่มเติม สงกรานต์ปีนี้ขอให้เป็นสงกรานต์นิวนอร์มอล ที่ปลอดภัยได้หรือไม่ การสรงน้ำพระ ก็ยังมีอันตรายอยู่ ที่ไหนก็ตาม ที่มีคนจำนวนมาก ติดได้หมด เพราะผู้ที่ติดเชื้อบางคนไม่แสดงอาการ สิ่งสำคัญคือ การรดน้ำพระพุทธรูปที่บ้านดีที่สุด

shutterstock 1767084407 2 e1616774853332

ส่วนหากจะมีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ก็ขอให้ใส่หน้ากากกันทั้งสองฝ่ายด้วย ไม่ใช่ข้างหนึ่งใส่ ข้างหนึ่งไม่ใส่ ไหว้และรดน้ำพระพุทธรูปได้กุศลที่สุดแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดนอกจากไหว้พระแล้วก็ต้องทำกุศล ทำบุญกับพระก็ได้พระ แต่ทำกุศลให้กับคนยากไร้คนจน เราต้องช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน มีจิตสำนักรู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติ ทุกศาสนาก็มีคำสอนอยู่แล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตอนนี้ห่วงช่วงเดือนรอมฎอน วันนั้นก็ประกาศไปแล้ว ขอให้ระมัดระวังอย่างที่สุด สถานการณ์โลกยังไม่หยุด มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวันบางประเทศมีผู้เสียชีวิตเป็นแสนคน ของเราก็ไม่ได้มากหรือน้อยเพราะชีวิตก็คือชีวิต แต่ก็ช่วยดูว่าสถานการณ์ภายนอก อาเซียนและเราเป็นอย่างไร

“สิ่งสำคัญต้องบริหารความเข้าใจ บริหารความรู้สึกคนให้ได้ ลดความแตกแยก ลดความแบ่งแยกกลุ่มนู้นกลุ่มนี้ ทุกคนคือประชาชนของประเทศทั้งสิ้น ผมเองก็ใช่ ในมุมหนึ่งผมเป็นนักการเมือง เป็นนายกรัฐมนตรีก็ใช่ แต่ผมคือประชาชนไม่ล่ะ หมอพวกนี้เป็นประชาชนไหมล่ะ ทุกคนก็มีสิทธิ์เหมือนกันตามรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ต้องกำหนดขั้นตอน ความเร่งด่วน ความสำคัญต่างๆใครที่อยู่หน้างานก็ต้องดูแลเขาหน่อยทั้งหมอและพยาบาลก็ติดเชื้อกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน วันนี้ต้องลดความแออัดของโรงพยาบาลให้ได้ จึงต้องตั้งโรงพยาบาลสนาม เพราะหากอยู่ในโรงพยาบาลปกติ ก็จะไปแพร่เชื้อให้คนอื่นอีกก็ได้ จึงมีการหารือกันตรงนี้

สำหรับการตั้งคณะกรรมการ โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นหัวหน้า กับคณะทำงานของกระทรวงสาธารณสุข และเอกชน ที่จะร่วมกันหาวัคซีนเพิ่มเติม รวมถึงการบริหารการฉีดวัคซีน ที่ผ่านมา ต้องขอบคุณสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ที่ได้ช่วยมาตลอด แต่วันนี้หากได้วัคซีนมาเพิ่ม ก็จะสามารถฉีดได้เร็วขึ้น จากที่รัฐบาลจะต้องฉีดวัคซีน 30 ล้านอาจจะลดลงไป

“วันนี้เราต้องฉีดวัคซีนให้กับคนทั้งประเทศ 40 ล้านคน แต่หาวัคซีนมาได้ 35 ล้าน ที่เหลืออีก 5 ล้าน ก็ต้องเอาเข้ามาให้ได้ ซึ่งจะมีการหารือกับเอกชนว่าเอาไปฉีดได้ไหมอย่างไร ซึ่งมันมีกติกาเยอะ กฎหมายก็มี” นายกฯ ระบุ

ทวีซิลป์

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.กล่าวว่า ในที่ประชุมยังได้มีการหารือเรื่องการจัดหาวัคซีน ซึ่งนายกฯมีห่วงใย เนื่องจากมีข่าวออกมามากมาย ว่าวัคซีนมีผลประโยชน์กับใครบางคนหรือไม่ ผูกขาดการนำเข้าวัคซีนหรือไม่ เอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าสัวหรือไม่ นายกฯ ไม่มีความสบายใจ เพราะที่ผ่านมารัฐมีการชี้แจงอยู่เรื่อย ๆ แต่เนื่องจากมีความต้องการวัคซีนมากขึ้น จึงทำให้ดูเหมือนไม่เพียงพอ

ปัจจุบันตามแผนวัคซีนที่รัฐหามาได้ 61 ล้านโดส คือ วัคซีนของซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า จะฉีดให้ประชาชนได้ 31 ล้านคน รวมกับการจัดหาเพิ่มเติม จะได้ทั้งหมด 70 ล้านโดส ครอบคลุมประชาชน 35 ล้านคน

“นายกฯ จึงถามว่า เราต้องการฉีดให้ได้เท่าไหร่ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ รายงานว่าจะต้องฉีดให้ได้ 45 ล้านคน คนละ 2 โดส จึงขาดอีก 10 ล้านโดส จึงต้องหาวัคซีนทางเลือกให้กับประชาชน ทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชนจึงเสนอตัวว่า มีความสามารถเชื่อมโยงกับเอกชน แต่ขอให้รัฐช่วยอำนวยความสะดวก เพราะหน่วยงานเจ้าของวัคซีนต้องการจดหมายจากรัฐ และอยากให้องค์กรเภสัชกรรมช่วยสั่งซื้อแล้วให้เอกชนไปขอแบ่งซื้อ

ในประเด็นดังกล่าว นายกฯ ระบุว่า เห็นด้วยทั้งสิ้น และมอบนโยบายไปว่าทำอย่างไรก็ได้ให้เอกชนมีส่วนร่วมใน 10 ล้านโดสนี้ และให้ภาครัฐสนับสนุน ซึ่งอาจจะได้ช้าหรือเร็ว หรือมีราคา แต่ต้องปลอดภัยกับประชาชน

ดังนั้น นายกฯ จึงได้มอบให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษา ศบค.เป็นประธานชุดนี้ โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม องค์การอาหารและยา อธิบดีกรมควบคุมโรค ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เข้ามาเป็นกรรมการชุดนี้ และให้รายงานผลต่อนายกฯภายใน 1 เดือน เพื่อขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนทางเลือก

พร้อมกันนี้ นายกฯมีความห่วงใยและแจ้งปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้ฉีดให้เร็วขึ้น ขณะที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ตอนนี้เรามีศักยภาพสามารถฉีดได้ 1.4 หมื่นคนต่อวันที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งประเทศอื่นใช้เวลาเป็นเดือน

อย่างไรก็ตาม การบริหารวัคซีนต้องเปลี่ยนตามสถานการณ์ เพราะเคสส่วนใหญ่ตอนนี้ กระจุกอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชน แต่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชน ได้รับวัคซีนไม่เพียงพอ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงยืนยันว่าทำได้ และจะดำเนินการจัดให้โดยเร็ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo