Economics

ยกการ์ดให้สูง!! โควิดรอบใหม่กระทบหนัก คาดทุบเศรษฐกิจแสนล้าน

“ม.หอการค้าไทย” เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคมอยู่ที่ 48.5 ลดลงจากเดือนก่อน สั่งจับตาสถานการณ์โควิดรอบใหม่ คาดเม็ดเงินหายไปจากระบบ 60,000 – 100,000 ล้านบาท

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มีนาคม อยู่ที่ 48.5 ลดลงจากเดือน กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งอยู่ที่ 49.4 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 42.5 จาก 43.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 45.3 จาก 46.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 57.7 จาก 58.7 โดยสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือนมีนาคมลดลง เป็นผลจากความกังวลต่อสถานการณ์ โควิดรอบใหม่ รวมทั้งปัญหาการเมืองที่ยังไม่นิ่ง ทั้งในสภา และนอกสภา

โดยปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศให้งดกิจกรรม สาดน้ำ ปะแป้ง และปาร์ตี้โฟมทุกพื้นที่ในช่วงสงกรานต์ ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวล ต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด กระทบต่อการดำเนินชีวิต ของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และบริการต่าง ๆ

โควิดรอบใหม่
ขอบคุณภาพจาก UTCC

ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดคาดการณ์ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ปี 2564 สู่ระดับ 3.0 % จากที่คาดว่าจะขยายตัว 3.2% และความกังวลเกี่ยวจากเสถียรภาพทางการเมือง และสถานการณ์ทางด้านการเมือง ตลอดจนการชุมนุมทางการเมือง ที่อาจส่งผลประเทศไทย จะต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เหมือนอดีตที่ผ่านมา

ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ ภาครัฐดำเนินมาตรการ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบด้วย โครงการเราชนะ โครงการรารักกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ ให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศ, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.50% ต่อปี

รวมถึงราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการ ปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าวยางพารา และมันสำปะหลัง ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น กำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า จากการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นผลสำรวจก่อนที่จะทราบถึงสถานการณ์ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่ระบาดในกลุ่มก้อนสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ ซึ่งประเมินว่าการสำรวจดัชนีฯ ในเดือนเมษายนน่าจะเห็นผลกระทบจากกรณีนี้ และอาจทำให้ดัชนีปรับลดลงได้อย่างน้อย 2 จุด จากผลที่ประชาชนมีความกังวลมากขึ้น ต่อการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง ซึ่งส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

โดยมองว่า ความกังวลต่อการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในคลัสเตอร์ของสถานบันเทิงนี้ จะทำให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนลดลงไปราว 5 – 10% จากระดับปกติ หรือคิดเป็น 1 – 2 พันล้านบาท/วัน ซึ่งหากความกังวลยังอยู่ในระดับนี้อีกอย่างน้อย 1 เดือน จะส่งผลให้เม็ดเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจราว 3 – 5 หมื่นล้านบาท/เดือน

อย่างไรก็ตาม หากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยกการ์ดสูง งดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ซึ่งจะช่วยให้การระบาดของไวรัส โควิดรอบใหม่ ไม่บานปลายในวงกว้าง ก็คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายได้ไม่เกิน 1 – 2 เดือน และภาพรวมทั้งประเทศอาจจะทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจราว 60,000 – 100,000 ล้านบาท ขณะที่เชื่อว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ราวเดือนมิถุนายนนี้

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ม.หอการค้าไทย จะยังไม่ปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ โดยยังคงไว้ที่อัตราการขยายตัว 2.8% หรือในกรอบ 2.5 – 3.0% ไว้ตามเดิมก่อน แต่ก็มองว่า มีโอกาสที่การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะลดลงมาเหลือ 2 – 2.5% ได้ หากไม่สามารถควบคุมการระบาดของคลัสเตอร์ใหม่ได้ภายใน 2 เดือน และหากสถานการณ์ยังลุกลามกินเวลานาน 3 – 4 เดือน อาจจะทำให้ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียง 2% เท่านั้น

ทั้งนี้ คาดหวังว่า รัฐบาลจะยังดำเนินมาตรการในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจะมีความจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินราว 3 – 5 หมื่นล้านบาท เพื่อออกมาช่วยกระตุ้นเรื่องการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในระยะนี้ โดยเฉพาะมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 ที่หากออกมาในเดือนนี้ก็จะเป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้ได้ในระดับหนึ่ง พร้อมกับเชื่อว่า รัฐบาลจะเลือกขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจสามารถเดินไปข้างหน้าได้ควบคู่กับการดูแลระบบสาธารณสุขในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo