Politics

ฟันธง! รปภ. โดนไล่ออกเพราะถามค่าแรง เข้าข่ายเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ฟ้องศาลได้

เพจดัง “กฎหมายแรงงาน” ฟันธง! รปภ. โดนไล่ออก เพราะถามค่าแรงวันหยุด เข้าข่ายเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายได้

ก่อนหน้านี้มีเรื่องฮือฮาบนโลกออนไลน์ เมื่อเพจเฟซบุ๊ก อีซ้อขยี้ข่าว ได้โพสต์เรื่องราวของพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) คนหนึ่ง ซึ่งได้สอบถามเรื่องค่าแรงกับนายจ้างผ่านแอปพลิเคชันไลน์ว่า ในช่วงวันที่ 13 –  15 เมษายน ซึ่งเป็นวันหยุดตามประเพณี ตนจะได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าหรือไม่

นายจ้างจึงแจ้งว่า รปภ. คนดังกล่าวต้องผ่านงาน 120 วันก่อน จึงได้รับค่าจ้างพิเศษ 2 เท่าในวันหยุด ขณะที่นายจ้างอีกคนหนึ่งระบุว่า ทางบริษัทได้จัดหาที่พักและรถให้ ลูกจ้าง ใช้แล้ว เพราะฉะนั้นอย่าสร้างเงื่อนไขมากจนน่ารำคาญ ถ้าหากไม่พอใจก็ไม่ต้องอยู่ด้วยกัน จากนั้นนายจ้างได้ลบพนักงานคนดังกล่าวออกจากกลุ่มไลน์และให้พ้นสภาพความเป็นพนักงานทันที นอกจากนี้ บริษัทยังไม่จ่ายค่าแรงที่ทำงานไป 30 วันอีกด้วย

รปภ. โดนไล่ออก เลิกจ้างไม่เป็นธรรม

ฟันธงข้อกฎหมาย เคส รปภ. โดนไล่ออก

ล่าสุดวันนี้ (7 เม.ย.) เพจเฟซบุ๊ก กฎหมายแรงงาน ซึ่งเป็นเพจที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกฎหมายแรงงานได้ออกมาตอบคำถามคาใจในกรณีดังกล่าว

ประเด็นหลักคือ นายจ้างประกาศให้เทศกาลสงกรานต์เป็นวันหยุด เพราะฉะนั้นต้องให้ รปภ. คนดังกล่าวหยุดงาน หรือหากให้มาทำงาน ก็ต้องจ่ายค่าแรง 2 เท่า โดยไม่มีกฎหมายกำหนดว่า ต้องผ่านงานครบ 120 วันก่อน จึงได้รับค่าแรง 2 เท่า

ส่วนการเลิกจ้างเนื่องจาก รปภ. สอบถามเรื่องค่าแรงวันหยุดนั้น “เข้าข่ายเลิกจ้างไม่ธรรม” ลูกจ้างสามารถฟ้องร้องบริษัทได้ ซึ่งอาจส่งผลให้บริษัทต้องจ่ายค่าเสียหายหรือรับพนักงานดังกล่าวกลับเข้าทำงาน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากลูกจ้างดังกล่าวยังทำงานไม่ครบ 120 วัน นายจ้างจึงไม่ต้องจ่าย “ค่าชดเชยการเลิกจ้าง” แต่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจะต้องบอกเลิกจ้างอย่างน้อย 1 รอบการจ่ายค่าจ้าง หากบอกกล่าวไม่ครบ ก็จะต้อง “จ่ายค่าจ้าง” แทน “การบอกกล่าวล่วงหน้า” รวมถึงต้องจ่ายค่าจ้าง ลูกจ้าง สำหรับงานที่ทำไปแล้ว หากไม่จ่าย ก็สามารถฟ้องร้องต่อศาล หรือร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้

รปภ.

167929049 272102901189708 9052647652716600388 n

169115773 272102917856373 2382136180285004600 n

เนื้อหาทั้งหมดเป็นดังนี้

“เลิกจ้าง รปภ. ที่เป็นข่าวดัง

จากกรณีที่มีการเลิกจ้าง รปภ. ที่เป็นข่าวพอจะสรุปประเด็นต่าง ๆ ได้ดังนี้

1) กรณีนี้ รปภ มีสิทธิได้ค่าทำงานในวันหยุด 2 แรงช่วงวันที่ 13 14 15 เมษายน ซึ่งเป็นวันสงกรานต์หรือไม่

ตอบ

เบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่ากฎหมาย (มาตรา 28) กำหนดให้นายจ้างต้องจัดวันหยุดตามประเพณี 13 วัน โดยอาจเลือกจากวันหยุดราชการ วันหยุดทางศาสนา วันหยุดตามประเพณีท้องถิ่นได้ 12 วัน และบังคับให้หยุดอีก 1 วันคือวันแรงงาน

ตอนต้นปีนายจ้างก็จะประกาศให้ทราบว่า 13 วันที่เป็นวันหยุดตามประเพณีได้แก่วันอะไรบ้าง และถ้านายจ้างให้มาทำงานในวันดังกล่าว ลูกจ้าง ที่รับเงินเดือนก็จะได้เพิ่มอีก 1 เท่า แต่ลูกจ้างได้รายจะได้ 2 เท่า(หรือที่ชอบเรียกว่า 2 แรง)

เท่าที่ดูจากเอกสารดูเสมือนว่าจะมีการประกาศให้หยุดช่วงวันสงกรานต์ด้วย ดังนั้น หากนายจ้างให้มาทำงานในวันดังกล่าวนายจ้างจะต้องจ่ายให้ รปภ. ท่านนี้ ซึ่งหากรับค่าจ้างเป็นรายวันก็จะได้ 2 แรง (มาตรา 62)

2) นายจ้างอ้างว่าต้องผ่านงาน 120 วันก่อนจึงจะมีสิทธิหยุดตามประเพณี หรือหากมาทำงานถ้าไม่ผ่าน 120 วันก็จะไม่ได้ 2 แรง

ตอบ

ไม่มีกฎหมายกำหนดว่าจะต้องทำงานครบ 120 วันก่อนจึงจะมีสิทธิหยุดตามประเพณี ข้ออ้างหรือถ้าทำเป็นระเบียบไว้ก็จะมีผลเป็นโมฆะ ใช้ไม่ได้

และหากไม่จัดวันหยุดให้ ลูกจ้าง ก็จะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุด พร้อมดอกเบี้ยให้ลูกจ้าง และอาจมีโทษอาญาปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท

3) กรณีนี้เลิกจ้างเพราะถามหาสิทธิตัวเอง เป็นการเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่

ตอบ

การเลิกจ้างที่อ้างเหตุว่า “ถามมาก รู้มาก เรียกร้องสิทธิของตัวเอง” ย่อมเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างที่ “ไม่มีเหตุอันสมควรและเหมาะสม” เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจต้องจ่ายค่าเสียหาย หรือศาลอาจพิพากษาให้รับกลับเข้าทำงานได้

กรณีนี้จึงต้องฟ้องศาลแรงงาน โดยอาจไปยื่นฟ้องที่ศาลจังหวัดก็ได้ วิธีฟ้องก็แค่ไปเล่าให้ศาลฟัง ไม่มีค่าขึ้นศาล ไม่ต้องมีทนายก็ได้

169956497 272917091108289 8684374203168083283 n

4) นายจ้างเลิกจ้างกรณีนี้จะทำให้ลูกจ้างได้ค่าชดเชยหรือไม่

ตอบ

การเลิกจ้างเพราะเหตุถามหาสิทธิการได้รับเงินตามประเพณี ไม่ใช่เหตุอันเป็นข้อยกเว้นไม่จ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 ก็จริง แต่เมื่อ ลูกจ้าง ทำงานไม่ครบ 120 วัน นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

5) นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่

ตอบ

ตามหลักกฎหมายการจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน หากจะเลิกจ้างก็จะต้องบอกกล่าวอย่างน้อย 1 รอบการจ่ายค่าจ้าง หากบอกกล่าวไม่ครบก็จะต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (ตามมาตรา 17) พร้อมอัตราดอกเบี้ยหรืออาจต้องจ่ายเงินเพิ่ม กรณีจงใจไม่จ่ายแก่ลูกจ้าง

6) ค่าจ้าง 30 วันที่ผ่านมานายจ้างต้องจ่ายหรือไม่

ตอบ

เมื่อเราเอาแรงงานไปทำงานให้นายจ้าง นายจ้างก็ต้องจ่ายเงินค่าจ้าง บางทีจึงเรียกว่า “ค่าแรง” หรือค่าตอบแทนการออกแรงงาน

และเมื่อลูกจ้างออกจากงานไปไม่ว่าจะถูกไล่ออก หรือลูกจ้างทำผิด หรือเหตุอะไรก็แล้วแต่ ค่าแรงที่ ลูกจ้าง ทำงานไปแล้ว นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างพร้อมดอกเบี้ย

หากไม่จ่ายก็ต้องฟ้องร้องต่อศาล หรือร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน (ร้องเรียนออนไลน์ก็ได้)

ข้อสังเกต

หากมีการฟ้องศาลแม้ไม่มีสัญญาจ้าง แต่ข้อความการพูดคุยในไลน์แบบนี้ก็ดี สลิปเงินเดือนก็ดี รายการโอนเงินก็ดี เอกสารส่งประกันสังคมก็ดี ภาพภ่ายกับเพื่อนร่วมงานก็ดี ย่อมใช้เป็นพยานในศาลได้ แม้ไม่สัญญาจ้างแรงงานเป็นหนังสือก็ตาม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo