Business

​ผ่อนกฏฟื้นเศรษฐกิจ อาเซียน เพิ่มบัญชีสินค้าจำเป็น ห้ามใช้มาตรการกีดกัน

​อาเซียน เพิ่มบัญชีสินค้าจำเป็น กลุ่ม ข้าว เกษตร อาหาร ห้ามสมาชิกใช้มาตรการกีดกัน หวังช่วยเร่งเครื่องฟื้นเศรษฐกิจ โอกาสส่งออกสินค้าเกษตรไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาชิกอาเซียน กำลังอยู่ระหว่างการขยายบัญชีสินค้าจำเป็น เพิ่มเติมจาก ยาและเวชภัณฑ์ ที่เคยมีมติให้สมาชิกลดอุปสรรคการค้า และงดใช้มาตรการกีดกันทางการค้า โดยเห็นตรงกันว่า ​อาเซียน เพิ่มบัญชีสินค้าจำเป็น ให้มากขึ้น

​อาเซียน เพิ่มบัญชีสินค้าจำเป็น

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้มีข้อจำกัด ด้านการไหลเวียนของสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ ในช่วงโควิด-19 และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 หากการค้าสินค้าจำเป็นมีอุปสรรค ก็จะกระทบต่อการบริโภคและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

สำหรับสินค้าเป้าหมาย ที่อาเซียนได้หารือกันว่า ควรจะเพิ่มเข้ามา ในรายการสินค้าจำเป็น เช่น ข้าว สินค้าเกษตร และอาหาร เพราะสินค้ากลุ่มนี้ มีความจำเป็นสำหรับชีวิตความเป็นอยู่ ถ้าหากมีอุปสรรคในการค้าขาย ก็ไม่เป็นผลดีต่ออาเซียน

ล่าสุด สมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศ กำลังคัดเลือกรายการกันอยู่ว่า ใครสนใจสินค้ารายการใด ส่วนไทยก็มีการหารือ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า ควรจะเพิ่มรายการสินค้า ข้าว อาหาร เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ เป็นต้น เพราะเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย และไทยมีศักยภาพในการผลิต หากไม่มีอุปสรรคหรือข้อกีดกัน ก็จะทำให้ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น

ในส่วนของมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังโควิด-19 อื่น ๆ อาเซียนเห็นตรงกัน ที่จะต้องเร่งฟื้นฟู ด้านสาธารณสุข เช่น การตั้งศูนย์อาเซียน ด้านภาวะฉุกเฉิน และโรคอุบัติใหม่ การเสริมสร้างความเข้มแข็ง ของทรัพยากรมนุษย์ เช่น การพัฒนาหลักสูตรอาชีวะ เพื่อรองรับตลาดแรงงาน หลังการระบาดของโควิด-19 การเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต ลดอุปสรรคการค้า

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับ การอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง และการผลักดันระบบ ASEAN Single Window – ASW ที่จะต้องทำได้ทุกด่าน ทุกท่าเรือ เพื่อให้การค้ามีความสะดวกมากขึ้น

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

ขณะที่ การเตรียมความพร้อม เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR) ที่ทำมาแล้ว ต้องเดินต่อ การขับเคลื่อนการค้าดิจิทัล ที่จะต้องมีมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถค้าขายออนไลน์ และในด้านความมั่นคง ต้องเดินหน้าพลังงานยั่งยืน โลกสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน

พร้อมกันนี้ อาเซียนจะต้องเร่งรัดให้ทุกประเทศ เร่งกระบวนการภายในประเทศ เพื่อให้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้โดยเร็ว โดยไทยเสนอให้ประเทศ สมาชิกอาเซียน กำหนดวัน การมีผลบังคับใช้ให้ชัดเจน คือ วันที่ 1 ม.ค. 2565 เพื่อที่ทุกประเทศ จะได้มีเป้าหมายการดำเนินการภายใน และในส่วนของไทย รัฐสภาได้ให้การรับรองแล้ว ถือเป็นประเทศแรก และอยู่ระหว่างการเตรียมการภายใน เพื่อให้สัตยาบันความตกลง

ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อเดือน มี.ค. 2564 ได้ประชุมผ่านทางไกล และมีมติเห็นชอบ ข้อเสนอด้านเศรษฐกิจ 3 ด้านที่บรูไน ในฐานะประธานอาเซียนเสนอ ได้แก่

1. ด้านการฟื้นฟู เช่น การจัดทำเครื่องมือในการประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) ของประเทศ สมาชิกอาเซียน การจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการประกาศเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา

2. ด้านการเป็นดิจิทัล เช่น การจัดทำแผนงาน เพื่อดำเนินการตามความตกลง ว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ปี 2564–2568

3. ด้านความยั่งยืน เช่น การจัดทำกรอบการส่งเสริม ผู้ผลิตรายย่อย สหกรณ์ และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยของอาเซียน ในด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ การจัดทำกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียน สำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งมุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และความยั่งยืนของภูมิภาค ภายหลังการระบาดของโควิด-19

ขณะเดียวกัน ได้มีมติให้เร่งขยายความร่วมมือ เพื่อยกระดับความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีอยู่เดิม เช่น การเจรจาทบทวนความตกลงการค้าสินค้า ระหว่างอาเซียน-อินเดีย การอัพเกรด FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ อาเซียน-จีน และอาเซียน-เกาหลี เป็นต้น การเปิดเจรจา FTA ใหม่ เช่น อาเซียน-แคนาดา และการพิจารณาเรื่องการสมัครเป็น สมาชิกอาเซียน ของติมอร์-เลสเต

ในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 94,838.07 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 55,469.59 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 39,368.47 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo