Business

ส่องโอกาส ‘สินค้าชุมชน’ เงินหมุนเวียน 3.4 แสนล้าน ‘ของกิน’ ฮอตสุด

สินค้าชุมชน เงินหมุนเวียน 3.4 แสนล้าน “พาณิชย์”โชว์ เผยผลสำรวจ คนส่วนใหญ่เคยซื้อสินค้าชุมชน “ของกิน” ขายดีสุด แนะพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) เปิดเผยว่า การซื้อ สินค้าชุมชน ในสถานการณ์ปกติ มีมูลค่าถึงประมาณ 3.4 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นประมาณ ร้อยละ 2.17% ของจีดีพี สะท้อนถึงโอกาส ของสินค้าชุมชน ที่ต้องเร่งพัฒนา โดยเฉพาะการสร้างมาตรฐาน เพื่อรองรับกำลังซื้อ และโอกาสดังกล่าว

สินค้าชุมชน

ทั้งนี้ จากการสำรวจพฤติกรรม การบริโภคสินค้าชุมชน จากประชาชนจำนวน 8,031 รายทั่วประเทศในเดือนก.พ. 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 72.51% เคยซื้อสินค้าชุมชน โดยส่วนใหญ่ซื้อมาเพื่อใช้ หรือบริโภคเอง โดยที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ ของกิน 63.11% ตามด้วย ของใช้ 28.42% ของที่ระลึก ประดับตกแต่ง 8.48% ข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ของประเทศ รู้จักสินค้าชุมชนเป็นอย่างดี

สำหรับเหตุผลหลัก ที่ทำให้ซื้อสินค้าชุมชน ได้แก่ ราคาย่อมเยา ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ถือเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชน และสินค้ามีคุณภาพ เช่น สินค้าออร์แกนิก ปลอดภัย และรสชาติดี ขณะที่สินค้าประเภทของที่ระลึก ประดับตกแต่ง นอกจากเหตุผลข้างต้นแล้ว ประชาชนให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า สินค้ามีความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะท้องที่ และมีบรรจุภัณฑ์สวยงาม

ส่วนความถี่และวงเงินที่ซื้อ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ซื้อสินค้าชุมชนไม่เกิน 10 ครั้งต่อปี ส่วนใหญ่ซื้อครั้งละไม่เกิน 500 บาท 82.41% โดยข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานรัฐ นักธุรกิจ เจ้าของกิจการ และพนักงานบริษัท มีแนวโน้มใช้จ่ายมากกว่าอาชีพอื่น

ขณะที่ช่องทางการซื้อสินค้า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ซื้อจากร้านค้าชุมชน โชห่วย ศูนย์ OTOP มากที่สุดถึง 52.08% ร้านสะดวกซื้อ 18.77% และงานแสดงสินค้า 15.19% แสดงให้เห็นว่า โอกาสการซื้อสินค้าชุมชน มักควบคู่ไปกับการเดินทางท่องเที่ยว ในชุมชนนั้น เป็นหลัก

ภูสิต รัตนกุล
ภูสิต รัตนกุล

ดังนั้น หากสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยว ในระดับท้องถิ่น จะช่วยเพิ่มรายได้ ให้แก่คนในชุมชน ได้เป็นอย่างดี

ทางด้านความพึงพอใจโดยรวม ของสินค้าชุมชน ผู้ตอบแบบสอบถาม 45.01% พึงพอใจต่อสินค้าชุมชน สำหรับผู้ที่ยังไม่พอใจ มีความคิดเห็นว่า สินค้าชุมชน ต้องมีการพัฒนาการตลาดที่น่าสนใจ เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และตรงกับกลุ่มเป้าหมาย พัฒนาคุณภาพสินค้า เช่น ความสะอาด รสชาติ รูปแบบสินค้า ประโยชน์การใช้งาน ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย

นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ควรมีการขอมาตรฐานต่าง ๆ เช่น มอก. ฮาลาล สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นต้น เพื่อให้สินค้า มีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถแข่งขันกับสินค้าอุตสาหกรรม และส่งออกได้

จากความต้องการสินค้าชุมชน ที่เพิ่มมากขึ้น กระทรวงพาณิชย์ มีแผนที่จะสนับสนุน ด้านการตลาด ให้กับสินค้าชุมชน ตามนโยบาย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยใช้นโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ทั้งการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย ให้กับสินค้าชุมชน ในประเทศและต่างประเทศ ผ่านช่องทางออฟไลน์ และออนไลน์ รวมทั้งจะสนับสนุน การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าชุมชน ส่งเสริมการจดทะเบียน GI เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo