Business

พิสูจน์ทายาทรุ่น 2 สานต่อความฝัน‘วิชัย’ลุยไฟประมูลดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ

“…วันนี้ท่านฝากงานชิ้นใหญ่ไว้ให้ผมสานต่อ  ผมจะทำทุกอย่างเท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อสานต่อวิสัยทัศน์และความฝันอันยิ่งใหญ่ของคุณพ่อ …”ต๊อบ อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา โพสต์ข้อความนี้ลงในอินสตาแกรมส่วนตัว หลังจาก ” วิชัย ศรีวัฒนประภา” ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ และผู้เป็นพ่อเสียชีวิตจากอุบัติเหตุอันน่าเศร้าช่วงที่ผ่านมา

44931902 2053882571317379 70898279285522432 n

“เจ้าสัววิชัย” ใช้เวลากว่า 31 ปี บุกเบิกและสร้าง ธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี (Duty Free) ในประเทศไทยภายใต้ชื่อ “คิง เพาเวอร์” ถึงวันนี้กลุ่มคิง เพาเวอร์ มีรายได้หลักแสนล้านบาทต่อปี ผลักดันให้“เจ้าสัววิชัย” ขึ้นสู่มหาเศรษฐีอันดับ 5 ของประเทศไทย และอันดับ 388 ของโลก ตามการจัดอันดับของนิตยสาร   ฟอร์บสเมื่อปี 2561 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 4,700 ล้านดอลลาร์

การจากไปอย่างกะทันหันของ“เจ้าสัววิชัย” จึงเหมือนการส่งต่อภารกิจอันยิ่งใหญ่ให้ลูกๆ ทั้ง 4 คน  แม้ว่าก่อนหน้านี้“เจ้าสัววิชัย”จะเริ่มส่งไม้ต่อให้ลูกๆ เข้ามาดูแลงานด้านที่ตัวเองถนัดแล้วก็ตาม

คิงเพาเวอร์ ศรีวัฒนประภา

วรมาศ ศรีวัฒนประภา ลูกสาวคนโต ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายงานพาณิชย์ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์
อภิเชษฐ์ ศรีวัฒนประภา ลูกชายคนรอง ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์
อรุณรุ่ง ศรีวัฒนประภา ลูกสาวคนที่ 3 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์
อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ลูกชายคนสุดท้อง ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์

“อัยยวัฒน์” ได้รับความไว้วางใจจากพ่อและพี่น้อง ให้ขึ้นกุมบังเหียนในตำแหน่งซีโอโอกลุ่ม คิง เพาเวอร์ เมื่อหลายปีก่อน เพราะเป็นคนที่มีความโดดเด่นด้านการบริหารและรู้ใจพ่อมากที่สุดในบรรดาพี่น้อง แต่ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งซีอีโอของกลุ่มคิง เพาเวอร์ “เจ้าสัววิชัย” เคยมอบภารกิจสุดท้าทายให้ลูกชายคนนี้ดูแล ด้วยการแต่งตั้งให้“อัยยวัฒน์” เป็นรองประธานสโมสร เลสเตอร์ ซิตี้ ในวัยเพียง 25 ปี  สุดท้าย“อัยยวัฒน์” และกลุ่มคิงเพาเวอร์ก็โชว์ความสำเร็จ ด้วยพาทีม“จิ้งจอกสยาม”ไปคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2015-2016

 

คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ
ร้านคิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ

คิงเพาเวอร์รุ่น 2 ลุยไฟประมูลดิวตี้ฟรี

“อัยยวัฒน์” วันนี้มีวัย 33 ปี และภารกิจที่เขาต้องเจอ มีความท้าทายมากขึ้น เพราะนอกจากกลุ่มคิง เพาเวอร์ จะต้องสูญเสียผู้ก่อตั้งอย่างกะทันหันแล้ว ธุรกิจในมือ อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เนื่องจากสัมปทานพื้นที่ดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์ฉบับใหญ่ ประกอบด้วยสนามบินสุวรรณภูมิ, เชียงใหม่, หาดใหญ่ และภูเก็ตของกลุ่มคิง เพาเวอร์ กำลังจะหมดสัญญาลงในวันที่ 27 กันยายน 2563

โดยตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงนับถอยหลัง รอบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ประกาศเงื่อนไขการประมูล (TOR) และเป่านำหวีดให้เอกชนเริ่มแข่งขันชิงเค้กก้อนนี้อีกครั้ง

ดิวตี้ฟรี คิงเพาเวอร์

สถานการณ์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็บ่งชี้ว่า การประมูลดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิรอบนี้จะต้องดุเดือด ร้อนแรง อย่างแน่นอน เพราะหลายฝ่ายได้ออกแรงกระทุ้งให้ ทอท. เปลี่ยนกติกาใหม่ ท่ามกลางการจับตามองของสังคมและหน่วยงานตรวจสอบ แถมผู้เล่นรายใหญ่ต่างจ้องกระโดดเข้ามาชิงเค้กสุดอร่อยชิ้นนี้

ไม่ว่าจะเป็นเจ้าใหญ่รายเดิม อย่าง “เครือเซ็นทรัล” ของตระกูล“จิราธิวัฒน์” มหาเศรษฐีอันดับ 2 ของประเทศไทย หรือ “เครือเดอะมอลล์” ของตระกูล“อัมพุช” ที่เคยลงสนามชิงพื้นที่ดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์กับ คิง เพาเวอร์ มาแล้วหลายยก

นอกจากนี้ ยังมีผู้เล่นต่างชาติรายใหม่ ที่น่ากลัวอย่าง “กลุ่มล็อตเต้” จากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นดิวตี้ฟรีอันดับ 2 ในเวทีโลก สูงกว่ากลุ่มคิงเพาเวอร์ที่อยู่ในอันดับ 7 ของโลก ขณะเดียวกัน“บางกอกแอร์เวย์ส”ของตระกูล“ปราสาททองโอสถ” ก็ประกาศจะลงชิงชัยในสนามนี้ด้วย เพื่อกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจการบิน

173kk

เหลือเวลาอีกไม่นานจะเริ่มการแข่งขัน

สำหรับการประมูลดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิรอบนี้ ทอท. เคยตั้งเป้าหมายจะเปิดประมูลในช่วงปลายปี 2560-ต้นปี 2561 เพราะต้องการให้ผู้ชนะมีเวลาเตรียมตัวและลงทุนอย่างน้อย 1-2 ปี ก่อนสัญญาฉบับเก่าของกลุ่มคิง เพาเวอร์จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2563 โดยพื้นที่ประมูลประกอบด้วยอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 ในปัจจุบันและอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ (Satellite) ที่กำลังก่อสร้าง

 แต่ ทอท. ก็ได้เลื่อนวันเปิดประมูลดิวตี้ฟรีออกไปเรื่อยๆ หลังจากเอกชนและนักวิชาการออกมากดดันให้แบ่งดิวตี้ฟรีออกเป็นหลายสัญญา รวมถึงเปลี่ยนแปลงอายุสัมปทานและอัตราค่าตอบแทนเข้ารัฐ ขณะเดียวกันผลการศึกษาเบื้องต้นของ ทอท. บ่งชี้ว่า ทอท. ควรนำพื้นที่ในโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ ออกมาเปิดประมูลพร้อมกันด้วย เพื่อให้รัฐบาลได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น

 ในช่วงที่ผ่านมา ทอท. จึงได้เลื่อนกำหนดการนำเสนอผลการศึกษาและร่างเงื่อนไขการประมูล (TOR) ให้คณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณา โดยระบุว่าต้องการรวบรวมข้อคิดเห็นและตอบคำถามสังคมให้ได้ทุกข้อ ต่อมาในเดือนกันยายน 2560 ก็เกิดอุปสรรคใหม่อีกหนึ่งอย่าง เมื่อการประกวดออกแบบอาคารผู้โดยสารแห่งที่ ถูกฟ้องร้องและถูกตั้งคำถามจากสังคมอย่างหนัก จนยังไม่สามารถลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลได้

คิง เพาเวอร์1
ร้านคิงเพาเวอร์

นอกจากนี้ บางฝ่ายได้ต่อต้านโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ เนื่องจากโครงการนี้ไม่ได้บรรจุอยู่ในผังแม่บท (Master Plan) สนามบินสุวรรณภูมิฉบับเดิม

ถึงขณะนี้ ทอท. ระบุเพียงว่า ทีโออาร์ ดิวตี้ฟรีนิ่งระดับหนึ่งและศึกษาแนวทางการประมูลไว้หลายทางเลือก แต่ยังไม่ได้สรุปว่าจะยื่นทีโออาร์เข้าบอร์ดแต่อย่างใด เพราะจะรอความชัดเจนเรื่องอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ประมาณเดือนธันวาคม รวมถึงข้อสรุปเรื่องสายการบินที่จะใช้พื้นที่อาคารผู้โดยสารแห่งนี้ เนื่องจากจะส่งผลต่อราคาการประมูล

 ถ้าหากดูจากไทม์ไลน์คร่าวๆ การประมูลดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิน่าจะเลื่อนออกเป็นเดือนธันวาคม 2561 หรือต้นปี 2562 แต่หากการประมูลล่าช้าออกไปเรื่อยๆ ก็อาจทำให้เกิดข้อครหาเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มคิง เพาเวอร์ ที่เป็นผู้รับสัมปทานรายเดิม  จะไม่ส่งผลดีกับ ทอท. ดังนั้น ทอท. จึงเหลือเวลาอีกไม่นานมากในการเปิดและปิดเกมส์การประมูลดิวตี้ฟรีครั้งนี้

อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา
อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา

เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

ในการประมูลครั้งนี้ กลุ่มคิง เพาเวอร์ ดูเหมือนจะถือไพ่เหนือคู่แข่งรายอื่นมาตลอด เพราะเป็นผู้รับสัมปทานเดิม จึงรู้ข้อมูลดีที่สุด ขณะเดียวกันก็มีบารมีของ “เจ้าสัววิชัย” ผู้สร้างและนำพาคิง เพาเวอร์สู่ความยิ่งใหญ่เป็นเครื่องการันตี

แต่เมื่อ“เจ้าสัววิชัย” เสียชีวิตอย่างกะทันหัน ก็ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า กลุ่มคิง เพาเวอร์ จะแรงตกหรือไม่ การประมูลดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิจึงเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของกลุ่มคิง เพาเวอร์ และเป็นห้วงเวลาสำคัญที่ “ทายาทรุ่น 2”จะได้พิสูจน์ตัวเองว่า หลังจากนี้จะพาองค์กรไปในทิศทางใด

แต่ก่อนจะถึงการแข่งขันรอบใหญ่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ตอนนี้สนามบินอู่ตะเภาก็กำลังเปิดประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ขนาด 2,000 ตารางเมตร เป็นเวทีขนาดย่อมให้วัดพลังกันไปก่อนว่า กลุ่ม คิงเพาเวอร์ จะประกาศความเป็นเบอร์ ในธุรกิจดิวตี้ฟรีประเทศไทยได้หรือไม่

จากภายใต้ร่มเงาของ“เจ้าสัววิชัย” ทำให้คิง เพาเวอร์ สามารถคว้าสัมปทานฉบับสำคัญมาไว้ครอบครอง และผงาดขึ้นเป็นดิวตี้ฟรีในระดับโลกได้สำเร็จในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา จนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ได้กลายเป็น“ความอยาก”ที่ทำให้กลุ่มธุรกิจหลายกลุ่ม อยากเข้ามาร่วมประมูลดิวตี้ฟรีรอบนี้

จากที่สมัยก่อนแทบจะไม่มีคนให้ความสนใจเรื่องนี้ เพราะอาจจะยังมองไม่เห็นทางสว่างของธุรกิจ อาจเป็นเพราะมองว่าน่าจะเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มหาศาล จนทำให้ใครๆก็อยากเข้ามาลิ้มลอง ในธุรกิจดิวตี้ฟรี เหมือนอย่างที่หลายตระกูลอยากเข้ามาในเวลานี้

Avatar photo