Politics

เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม! ‘ยิ่งลักษณ์’ ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนำข้าว

เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม! “ศาลปกครองกลาง” พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่ง “กระทรวงการคลัง” ที่เรียกให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีโครงการรับจำนำข้าว 35,000 ล้านบาท

ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาในคดีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ฟ้องคดีที่ 1 นายอนุสรณ์ อมรฉัตร ผู้ฟ้องคดีที่ 2 กับ นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 กระทรวงการคลัง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 กรมบังคับคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 อธิบดีกรมบังคับคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8 เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร 6 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8 ซึ่งศาลมีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดีทั้ง 4 คดี เข้าด้วยกัน

ผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 ได้มีคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เรียกให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 กรณีผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรีและในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการตามอำนาจหน้าที่ และคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ถึงที่ 9 ที่ให้ทำการยึด อายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 1 เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด

พร้อมกับมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 และที่ 6 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากคำสั่งดังกล่าว เป็นเงินจำนวน 50,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้แก่ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้รับความเดือดร้อนเสียหายการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และที่ 6 มีคำสั่งตามหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ กค 0506/ล 2174 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ที่ยกคำร้องขอกันส่วนในฐานะเจ้าของรวมของผู้ฟ้องคดีที่ 2 คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยรวม 4 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง คำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การดำเนินการตามนโยบายจำนำข้าว ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรีและในฐานะประธาน กขช. ต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบาย ลำพังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่มีอำนาจยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวได้

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะประธาน กขช. ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อวางกรอบนโยบายในคราวการประชุม กขช. ครั้งที่ 1/2554 และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตามมติของที่ประชุม จำนวน 12 คณะ แต่ละคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นจะมีอำนาจหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว

โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานอนุกรรมการ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G TO G) คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 เห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ โดยนายภูมิ สาระผล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น มีอำนาจและหน้าที่ในการอนุมัติพิจารณา จัดการ ดำเนินการและตรวจสอบ และคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินการเจรจาการซื้อขายข้าวตามโครงการรับจำนำของรัฐบาลและเห็นชอบให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศนำผลการเจรจาต่อรองสุดท้ายเสนอประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวพิจารณาให้ความเห็นชอบ

และมอบหมายให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในสัญญาซื้อขายในนามของรัฐบาลไทย ผู้ฟ้องคดีที่ 1 มีอำนาจหน้าที่เพียงกำกับดูแลนโยบายโดยทั่วไประดับมหภาคของโครงการรับจำนำข้าว มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ไม่อาจที่จะรับรู้รับทราบข้อมูล การปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายของผู้กระทำผิดในระดับปฏิบัติ อีกทั้งฟ้องคดีที่ 1 มิได้เป็นผู้ปฏิบัติในฐานะเจ้าหน้าที่ดำเนินการต่าง ๆ ในการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ และมิได้เป็นคณะอนุกรรมการตามที่ กขช. แต่งตั้งแต่อย่างใด

เมื่อมีการกระทำการทุจริตเกิดขึ้นในโครงการรับจำนำข้าว ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้มีคำสั่งคณะกรรมการด้านนโยบายข้าว ที่ 1/2556 แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลปริมาณข้าวคงเหลือของ อ.ค.ส. และ อ.ต.ก. มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและประมูลข้าวคงเหลือของโรงสี โกดังกลางที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวและมีการประชุมคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการอื่น ๆ อีกหลายครั้ง มีการใช้มาตรการทางอาญากับผู้ทุจริตหรือผู้กระทำผิดควบคู่ กับการใช้มาตรการทางปกครองตัดสิทธิผู้สวมสิทธิเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว

กรณีจึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๑ มิได้เพิกเฉยละเลย แต่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่วิสัยและพฤติการณ์เพื่อป้องกันยับยั้งมิให้เกิดความเสียหาย ในโครงการรับจำนำข้าวแล้ว ส่วนกรณีที่ สตง. มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีที่ 1 จำนวน 3 ฉบับ เป็นเพียงข้อเสนอแนะนำให้รัฐบาลพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป สำหรับหนังสือ สตง. ลงวันที่ 30 มกราคม 2557 แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาทบทวนและยุติโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในฤดูกาลต่อไปนั้น เป็นหนังสือออกมาภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เพียงรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 และหนังสือดังกล่าวก็มิได้ปรากฏในคำสั่งพิพาทเพื่อใช้เป็นเหตุผลในการออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย กรณีที่ สำนักงาน ปปช. มีหนังสือ ลงวันที่ 30 เมษายน 2555 แจ้งผู้ฟ้องคดีที่ 1

ซึ่งหนังสือดังกล่าวมีขึ้นล่วงหน้าก่อนที่จะเปิดโครงการรับจำนำข้าวสองวัน เป็นการเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในการแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งมีลักษณะเป็นเพียงคำแนะนำ เมื่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งจาก สตง. และสำนักงาน ปปช. ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ก็ได้สั่งการตามอำนาจหน้าที่โดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาป้องกันดูแลการทุจริตตามอำนาจหน้าที่แล้ว ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลเชิงนโยบาย มีข้อราชการที่ต้องบริหารกำกับดูแลมากมาย มิจำต้องถึงขนาดที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ต้องติดตามหนังสือสั่งการทุกฉบับและตรวจสอบการปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานทุกหน่วยงานดังกล่าวด้วยตนเองทุกกรณี อีกทั้งหนังสือ สตง. และสำนักงาน ปปช. มิใช่เป็นคำสั่งทางปกครองที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ยังคงละเว้น เพิกเฉย ละเลย ไม่ติดตามหรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการตรวจสอบ

การที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เห็นว่า มีบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายคนในมูลละเมิดกรณีโครงการรับจำนำข้าว ย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ฯ ที่จะต้องดำเนินการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องอีกหลายคนต้องชดใช้ เพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่อื่นที่มีส่วนต้องรับผิดในมูลละเมิดเดียวกันกับผู้ฟ้องคดีที่ 1 รับผิดตามสัดส่วนเฉพาะในส่วนของตน แล้วจึงนำจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่ต้องรับผิดมากำหนดสัดส่วนความรับผิดของแต่ละคน มิใช่พิจารณาเพียงเสนอความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ผู้เดียวเป็นผู้กระทำโดยจงใจปล่อยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการ

อีกทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏในคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ซึ่งกล่าวโดยสรุปว่า …แต่โดยที่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดในชั้นการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นผู้สั่งการทำให้เกิดความเสียหายหรือเป็นผู้มีส่วนร่วมโดยตรงในการกระทำละเมิด… โดยถือว่าผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะผู้บังคับบัญชามีส่วนเกี่ยวข้องใน 2 ขั้นตอน คือ การเสนอโครงการและการเบิกจ่ายเงิน เสมือนเป็นทั้งผู้อนุมัติโครงการและผู้อนุมัติเบิกจ่ายเงิน จึงมีสัดส่วนความรับผิดในแต่ละขั้นตอน ร้อยละ 10 เมื่อรวม 2 ขั้นตอนแล้ว คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง

จึงเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ควรมีสัดส่วนความรับผิดเท่ากับ ร้อยละ 20 ของมูลค่าความเสียหาย จำนวน 178,586,365,141 บาท ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงต้องรับผิดจำนวน 35,717,273,028.23 บาท… จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ยอมรับว่าไม่มีหลักฐานแน่ชัดในการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งว่าผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นผู้สั่งการทำให้เกิดความเสียหายหรือเป็นผู้มีส่วนร่วมโดยตรงในการกระทำละเมิด การกำหนดสัดส่วนให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 รับผิดจึงมิได้เป็นไปตามมาตรา 10 ประกอบมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ประกอบกับข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 10 ข้อ 11 และข้อ 17 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และไม่เป็นไปตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0506.2/ว 66 ลงวันที่ 25 กันยายน 2550

ยิ่งลักษณ์ ยิ่งลักษณ์ ยิ่งลักษณ์ News 020421 130627 004

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo