Environmental Sustainability

‘อาหารมั่นคง’ เป้าหมาย ‘ซีพีเอฟ’ ตอกย้ำกลยุทธ์สู่ความยั่งยืน 3 เสาหลัก

ซีพีเอฟ สานเป้าหมาย สู่ความยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ 3 เสาหลัก อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ มุ่งสู่องค์กรที่สร้างความมั่นคงทางอาหารของโลกอย่างยั่งยืน

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส หน่วยงานความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ มุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน ด้วยความรับผิดชอบ พร้อมชูกลยุทธ์ อาหารมั่นคง หนึ่งในกลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน เพื่อผลิตอาหารคุณภาพและปลอดภัย รองรับความต้องการของประชากรโลกอย่างเพียงพอและยั่งยืนในทุกสถานการณ์

อาหารมั่นคง ซีพีเอฟ

ล่าสุด ซีพีเอฟ ได้เปิดตัวรายงานความยั่งยืนประจำปี 2563 ตอกย้ำกลยุทธ์สู่ความยั่งยืน 3 เสาหลัก ได้แก่ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ สนับสนุนการบริหารจัดการธุรกิจให้ดำเนินไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและต่อเนื่อง เพื่อผลิตอาหารคุณภาพดี ปลอดภัย เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

นอกจากนี้ ยังดำเนินการควบคู่กับการมีส่วนร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด ตามวิสัยทัศน์ “ครัวของโลกที่ยั่งยืน”

ซีพีเอฟ ได้วางกลยุทธ์ สู่เป้าหมายความยั่งยืน ปี 2573 (ปี 2030) จะเน้นสร้างนวัตกรรมอาหาร การพัฒนาบุคลากรให้สามารถพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต การผลิตที่มุ่งสู่เป้าหมาย Net-zero ลดก๊าซเรือนกระจกและขยะอาหาร โดยใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน

REPORT6

ทั้งนี้ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งในระดับกลุ่มอุตสาหกรรม ประเทศและโลก พร้อมทั้งแบ่งปันคุณค่าร่วมให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่สร้างความมั่นคงทางอาหารของโลกอย่างยั่งยืน

นายวุฒิชัย กล่าวว่า จากวิกฤติที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2563 จากภัยธรรมชาติ และโรคระบาดโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นบททดสอบกลยุทธ์ความยั่งยืนขององค์กร ในการบริหารจัดการธุรกิจให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ ซีพีเอฟ ตระหนักดีถึงภารกิจสร้างความมั่นคงทางอาหาร และยืนหยัดเคียงข้างสังคมไทยมาโดยตลอด โดยเป็นบริษัทแรก ๆ ที่ส่งความช่วยเหลือสู่สังคม ด้วยการริเริ่ม โครงการส่งอาหารจากใจร่วมต้านภัยโควิด-19 ส่งมอบอาหารปลอดภัย ให้ทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และครอบครัว เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุข ผู้กักตัวเอง ผู้มีรายได้น้อย แรงงานข้ามชาติ กลุ่มเปราะบาง ฯลฯ

REPORT4

“ซีพีเอฟ ยังเป็นบริษัทไทยรายแรก ที่ประกาศยกระดับความปลอดภัยของพนักงาน ขึ้นระดับสูงสุด พร้อมทั้งปรับแผนการดำเนินธุรกิจ ร่วมกับคู่ค้า โดยจัดทำโครงการ Faster payment ลดระยะเครดิตเทอมเหลือ 30 วัน ให้แก่คู่ค้ากว่า 6,000 ราย เพิ่มสภาพคล่องและรักษางานของลูกจ้างในกลุ่มคู่ค้า” นายวุฒิชัย กล่าว

ภายใต้การดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ ซีพีเอฟผนวกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ องค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) เข้ากับกลยุทธ์ความยั่งยืน 3 เสาหลัก โดยสนับสนุนเป้าหมาย SDGs ทั้งหมด 13 เป้าหมาย จาก 17 เป้าหมาย และมีการทบทวนกลยุทธ์ความยั่งยืน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ สนับสนุนให้ธุรกิจเดินหน้าและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

REPORT5

ในปี 2563 ซีพีเอฟ บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน 100% จำนวน 7 เป้าหมาย อาทิ ลดปริมาณการใช้พลังงานต่อหน่วยการผลิต ลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ ลดปริมาณของเสียที่กำจัดโดยการฝังกลบ

พร้อมกันนี้ จะเดินหน้าขับเคลื่อนเป้าหมายที่ต้องดำเนินการต่อ คือ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ วางแผนระบบโลจิสติกส์ ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร แก้ปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน เพื่อมีส่วนร่วมในการบรรเทาปัญหาโลกร้อน

ในรายงานความยั่งยืนฉบับนี้ ยังแสดงให้เห็นถึง ความสำเร็จของการดำเนินงาน ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของซีพีเอฟ ในด้านต่าง ๆ อาทิ การส่งเสริมคุณภาพชีวิต สนับสนุนให้ประชาชนมีอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจำนวน 51,234 ราย เด็กและเยาวชน 1.433 ล้านราย เข้าถึงอาหารและการเรียนรู้หรือทักษะเกี่ยวกับอาหาร

ขณะที่ 35% ของผลิตภัณฑ์ใหม่ในประเทศไทย มุ่งเน้นสุขโภชนาการและสุขภาพ ที่สำคัญผู้นำและพนักงานผ่านการอบรมพัฒนาความรู้และความเข้าใจเพื่อความยั่งยืนแล้ว 100%

อาหารมั่นคง ซีพีเอฟ

นายวุฒิชัย กล่าวว่า จากการที่บริษัท มีการบริหารจัดการทรัพยากร ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ทำให้ปีที่ผ่านมา มีส่วนร่วมลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิตลดลง 36% เทียบกับปีฐาน 2558 นำน้ำกลับใช้ใหม่หรือใช้ซ้ำได้ถึง 42%

การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้รวม 586,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากกิจกรรมต่างๆ เช่น โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลน พื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 จังหวัดรวม 2,388 ไร่, โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี อนุรักษ์และฟื้นฟูป่า 5,971 ไร่

การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถใช้ซ้ำ หรือใช้ใหม่ หรือเป็นสินค้าใหม่ หรือย่อยสลายได้สูงถึง 99.9% และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ทำให้สามารถเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนตลอดกระบวนการผลิตอยู่ที่ 26% ของการใช้พลังงานทั้งหมด

REPORT3

การดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน 3 เสาหลัก

  • ด้านอาหารมั่นคง

บริษัทมีการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ สอดคล้องตามหลักอิสระ 5 ประการ ซีพีเอฟเป็นรายแรกของประเทศไทยที่นำอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย ติดตามพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของสัตว์แบบ Real-Time ทำให้ได้รับการจัดอันดับมาตรฐานการจัดการฟาร์ม ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ดีขึ้นไปอยู่ใน Tier 3 จาก Tier 4

  • ด้านสังคมพึ่งตน

ร่วมมือกับกรมปศุุสัตว์ และสมาคมผู้เลี้ยงสุุกรแห่งชาติ ให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรค ASF กับเกษตรกร รวมไปถึงการส่งเสริมการการสร้างกิจกรรมร่วมกับชุมชน ในการผลิตอาหารปลอดภัย

อาหารมั่นคง ซีพีเอฟ

  • ด้านดินน้ำป่าคงอยู่

บริษัทเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ตลอดกระบวนการผลิต เช่น ในฟาร์มสุกร 94 แห่งทั่วประเทศ มีการผลิตไบโอแก๊ส และติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม 16 แห่ง ในส่วนโรงงานแปรรูปอาหารและอาคารสำนักงาน มีการติดตั้งโซลาร์รูฟ 22 แห่ง

ขณะที่ธุรกิจสัตว์น้ำ ได้พัฒนาระบบฟาร์มเลี้ยงกุ้งต้นแบบ ที่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาด เพิ่มผลผลิต และลดการใช้น้ำ

ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ได้จัดทำรายงานความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 เพื่อสื่อสารผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของซีพีเอฟ และรายงานฉบับนี้ เป็นการพิมพ์ด้วยหมึกและกระดาษ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ติดตามรายละเอียดของรายงานความยั่งยืน https://www.cpfworldwide.com/en/sustainability/report

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo