Business

สงกรานต์ ‘คนกรุง’ จับจ่าย 24,000 ล้าน หวาดโควิด เที่ยวลดลง สังสรรค์ที่บ้านเพิ่ม

สงกรานต์ คนกรุง ปี 2564 พิษโควิดซัด เม็ดเงินสะพัดเหลือ 24,000 ล้านบาท หดตัว 4% จากปี 62 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผย ใช้จ่ายระมัดระวัง สังสรรค์ที่บ้านแทน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลสำรวจ ค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ คาดว่า สงกรานต์ คนกรุง มีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน อยู่ที่ 5,700 บาท (คำนวณที่วันหยุดเฉลี่ย 6 วัน) ส่งผลให้เม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 รวมน่าจะอยู่ที่ 24,000 ล้านบาท ยังคงหดตัว 4.0% และไม่กลับมาฟื้นตัวเป็นปกติเมื่อเทียบกับช่วงสงกรานต์ปี 62

สงกรานต์ คนกรุง

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโควิด-19 ในปี 2563 ที่ทำให้มีการเลื่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ และอยู่ในช่วงกึ่งล็อกดาวน์ เทศกาลสงกรานต์ปี 2564 นี้ แม้คนกรุงฯ ยังคงกังวลเรื่องโควิด แต่จากการประกาศให้วันที่ 12 เมษายน เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเติม ทำให้จะมีวันหยุดราชการต่อเนื่อง 6 วัน (10-15 เมษายน)

ประกอบกับการเข้ามาของวัคซีน ที่น่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น ของผู้บริโภคได้มากขึ้น ประชาชนน่าจะกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงวันหยุด แต่อาจมีการปรับพฤติกรรมการสังสรรค์ ที่แตกต่างจากสงกรานต์ปีก่อน ๆ ให้เข้ากับสถานการณ์โควิด ที่ยังไม่คลี่คลาย ซึ่งผู้ประกอบการ จะต้องปรับกลยุทธ์ ให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค

ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่า แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ มาช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน ในช่วงสงกรานต์ แต่อาจจะหนุนการใช้จ่ายแค่สินค้าบางกลุ่ม โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่ม

กสิกร ใช้จ่าย

ขณะที่กิจกรรมอื่น ๆ เช่น ท่องเที่ยว เดินทางกลับภูมิลำเนา รวมถึงช้อปปิ้ง พบว่า ผู้บริโภคยังคงวางแผนปรับลดค่าใช้จ่าย โดยคนกรุงเทพฯ ยังคงกังวลกับรายได้ในอนาคต และวางแผนการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง

สำหรับมูลค่าการใช้จ่ายรายกิจกรรม พบว่าส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง จากช่วงสงกรานต์ปี 2562 โดยเฉพาะการเดินทางกลับภูมิลำเนา และท่องเที่ยวในประเทศ ที่ลดลงมากที่สุด เนื่องจากแรงงานที่เคยทำงานในกรุงเทพฯ บางส่วนไม่มีงานทำ เดินทางกลับไปอยู่อาศัยในภูมิลำเนาอยู่ก่อนแล้ว

นอกจากนี้ยังพบว่า ภาวะกำลังซื้อที่ยังเปราะบาง ทำให้ค่าใช้จ่ายสำหรับ ช้อปปิ้ง ซื้อสินค้า ของขวัญ ของฝาก ยังคงไม่ฟื้นตัว แต่สินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม อาจจะยังได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐ ซึ่งกำหนดให้ผู้ได้รับสิทธิต้องใช้จ่าย ภายในเดือนพฤษภาคม

สงกรานต์ คนกรุง

การปรับพฤติกรรมที่เห็นได้ชัดเจน คือ การเลือกใช้จ่ายของคนกรุง ที่จัดสรรค่าใช้จ่าย ในการเลี้ยงสังสรรค์รับประทานอาหาร มากที่สุด อยู่ที่ 9,795 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนวันหยุด และเป็นการสังสรรค์กับเพื่อนและครอบครัว โดยเฉพาะการสังสรรค์ในบ้าน ขณะที่ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมอื่นๆ ปรับตัวลดลงทั้งหมด

เห็นได้จากผลสำรวจที่ คนกรุงฯ ส่วนใหญ่ เลือกสังสรรค์รับประทานอาหารที่บ้าน ขณะที่ผู้ประกอบการค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารในห้างฯ ก็ยังเป็นที่นิยม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่ได้รับสิทธิจากโครงการของรัฐ เนื่องจากมีความสะดวกครบครัน

อย่างไรก็ดี คนส่วนใหญ่จะเลือกทานอาหารนอกบ้านเพื่อเฉลิมฉลองเพียงบางมื้ออาหาร และซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่ชุมชน

ดังนั้นทั้งร้านอาหาร และร้านค้า จะต้องปรับกลยุทธ์ เช่น เพิ่มเมนูอาหารสำหรับปรุงทานที่บ้าน อาหารชุดสำหรับครอบครัว สินค้าราคาพิเศษ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมดังกล่าว

สงกรานต์ คนกรุง

ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ ยังคงมีความกังวลเรื่องสถานการณ์โควิด-19 และความเสี่ยงในการไม่มีงานทำ หรือภาระค่าครองชีพ สะท้อนแนวโน้มสถานการณ์กำลังซื้อในระยะข้างหน้า ยังมีความเปราะบาง ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ในช่วงเวลา และรูปแบบที่เหมาะสม จึงน่าจะยังเป็นกลไกที่สำคัญในระยะนี้

สอดคล้องไปกับผลโพลล์ ที่ผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 67% ของกลุ่มตัวอย่าง ได้รับสิทธิจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน และมากกว่า 2 ใน 3 ของผู้ได้รับสิทธิ เห็นว่า ปัจจัยด้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ มีผลต่อการตัดสินใจใช้จ่าย ในช่วงสงกรานต์

ขณะที่ผู้ประกอบการ ที่สามารถบริหารจัดการ และสร้างความเชื่อมั่น ด้านมาตรการด้านสาธารณสุข ควบคู่ไปกับโปรโมชั่นด้านราคา น่าจะมีรายได้เข้ามาช่วยประคองธุรกิจ ในช่วงเวลาดังกล่าวได้บ้าง เนื่องจากผู้บริโภคมีการปรับพฤติกรรมมาซื้ออาหารกลับไปฉลองที่บ้านมากขึ้น และลดเวลาการอยู่นอกบ้าน

กสิกร ปัจจัยกระทบ

พฤติกรรมดังกล่าว ส่งผลให้ร้านค้ารายย่อย ที่เข้าร่วมโครงการของรัฐ โดยเฉพาะร้านที่เน้นจำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม วัตถุดิบสำหรับนำไปปรุงอาหารที่บ้าน น่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการฯ รวมถึงการสั่งอาหารผ่าน ฟู้ด เดลิเวอรี่ ที่มีความสะดวกสบาย ทำให้ผู้บริโภคยังคงเลือกใช้บริการ

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การใช้จ่ายในช่วงสงกรานต์ปีนี้ ยังคงหดตัว และยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ สอดคล้องไปกับภาพรวมของสถานการณ์ค้าปลีกทั้งปี ที่อาจยังไม่ฟื้นตัว ผู้บริโภคจะยังระมัดระวังการใช้จ่าย โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและราคาเป็นหลัก โดยเฉพาะช่วงเวลาหลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สิ้นสุดไปแล้ว

ทั้งหมดนี้ จะเป็นโจทย์ท้าทาย สำหรับธุรกิจ ที่จะยังต้องเน้นกลยุทธ์ การออกโปรโมชั่น และสร้างการรับรู้ของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นยอดขายเพิ่มเติม รวมทั้งยังต้องติดตาม การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ในช่วงเวลาที่เหลือของปีต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo