Politics

‘กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ’ เจ้าฟ้านักพัฒนา ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระโสทรกนิษฐภคินี ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้าฟ้าูผู้มากความสามารถ และทรงงานอย่างหนัก เพื่อประชาชนของพระองค์ ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา 

พระองค์มีพระปรีชาสามารถในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์ และดนตรีไทย ซึ่งพระองค์ได้นำมาใช้ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศ

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

จากพระราชกรณียกิจในด้านศิลปวัฒนธรรมนี้ พระองค์จึงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระสมัญญาว่า “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และ “วิศิษฏศิลปิน”

พระองค์ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการศึกษา และการพัฒนาสังคม โดยทรงมีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ ซึ่งโครงการในระยะเริ่มต้นนั้น มุ่งเน้นทางด้านการแก้ปัญหาการขาดสารอาหารของเด็กในท้องถิ่นทุรกันดาร และพัฒนามาสู่ การให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาราษฎร

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  ทรงสนพระทัยงานด้านการพัฒนา ซึ่งถือเป็นงานหลัก ที่พระองค์ทรงงาน ควบคู่กับงานวิชาการ พระองค์ทรงเรียนรู้งานทางด้านพัฒนาจากการตามเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปทรงเยี่ยมประชาชน ในถิ่นทุรกันดารต่าง ๆ ทั่วประเทศ

จากการที่พระองค์ทรงได้เสด็จฯ ไปตามสถานที่ต่าง ๆ มากมาย พระองค์ทรงนำความรู้ที่ได้จากการลงพื้นที่จริงมาใช้ในงานด้านการพัฒนาสังคม นำไปสู่โครงการตามพระราชดำริส่วนพระองค์มากมาย

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

โครงการตามพระราชดำริในระยะเริ่มแรกนั้น พระองค์ทรงงานเกี่ยวกับเด็กนักเรียน ในพื้นที่ทุรกันดารที่มีปัญหาขาดสารอาหาร ดังนั้น จึงทรงพระราชดำริส่งเสริมให้นักเรียนปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ แล้วนำมาประกอบเป็นอาหารกลางวันรับประทาน โดยโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี  2523 เริ่มที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ และได้ขยายออกไปยัง 44 จังหวัดในพื้นที่ทุรกันดาร

โครงการในพระราชดำริในระยะต่อมา พระองค์ทรงมุ่งเน้นทางด้านการศึกษามากขึ้น เนื่องจากพระองค์ทรงพระราชดำริว่า การศึกษาเป็นปัจจัยหลักในการสร้าง และพัฒนาความรู้ ความคิด ตลอดจนความประพฤติ และคุณงามความดีของบุคคล ทรงตั้งพระทัยให้ประชาชนทุกระดับชั้น สามารถได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับจากรัฐ[

ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น น้ำพระราชหฤทัยของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ยังเผื่อแผ่ไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว และ กัมพูชา ด้วย

ในปี 2533 เมื่อครั้งที่เสด็จฯ เยือนลาว เป็นครั้งแรก  ได้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทุนทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศลเป็นเงิน 12 ล้านกีบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเงินไปก่อสร้างเรือนนอน ให้แก่โรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า ซึ่งอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ ไปทางทิศเหนือประมาณ 67 กิโลเมตร พระราชทานชื่อว่า “อาคารสิรินธร” โดยมีพระราชดำริที่จะช่วยเหลือนักเรียนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในรูปแบบของโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โดยนำแนวทางที่ดำเนินการในประเทศไทยมาประยุกต์ใช้ และสนับสนุนการประกอบอาชีพเสริม

prr e1617308361463

ปี 2535 ทรงพระราชดำริพระราชทานความช่วยเหลือกัมพูชา ในการก่อตั้งวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล  ที่จังหวัดกำปงธม กัมพูชา โดยพระราชทานเงินค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารสถานที่ต่าง ๆ เสด็จฯ ไปทรงเปิดวิทยาลัยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุน แก่นักเรียน เพื่อให้มาศึกษาต่อในประเทศไทย ในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรอาชีวศึกษา เพื่อนำความรู้กลับไปสอน และพัฒนาการจัดการศึกษาของวิทยาลัย รวมทั้งทรงสนับสนุนการศึกษาด้านนาฏศิลป์ และดนตรี

พระองค์ยังทรงร่วมมือกับนานาประเทศ เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือในด้านการพัฒนาสังคม อาทิ ความร่วมมือระหว่างไทย กับลาว ซึ่งพระองค์ทรงมีโครงการตามพระราชดำริ ทั้งในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต การให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ และการสาธารณสุข และการพัฒนาทางด้านการศึกษา

โครงการเพื่อการพัฒนาของพระองค์ยังได้ขยายออกไปยังประเทศกัมพูชา เมียนมา และเวียดนามด้วย ทั้งยังทรงร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ ความร่วมมือกับสหประชาชาติ ที่ทรงให้ความร่วมมือในโครงการอาหารในโรงเรียน ซึ่งเป็นโครงการของโครงการอาหารโลก แห่งสหประชาชาติ โดยได้แต่งตั้งให้พระองค์เป็นทูตพิเศษของโครงการด้วย

นอกจากนี้ ยังมีโครงการการศึกษาเพื่อทุกคน เป็นโครงการด้านการส่งเสริมศักยภาพ ของเด็กชนกลุ่มน้อย ด้วยการศึกษา และอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นโครงการขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) รวมถึง โครงการการศึกษาหลังประถมศึกษาสำหรับผู้ลี้ภัย และผู้พลัดถิ่น โดยมูลนิธิการศึกษาเพื่อผู้ลี้ภัย สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ยังมีพระราชดำริให้นำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการพัฒนาพัฒนาประเทศหลายประการ ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการของโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เป็นเลขานุการ โดยมีพระราชดำริให้โครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นโครงการนำร่อง และใช้เป็นตัวอย่างในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ และมีพระราชประสงค์จะให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการนั้น ๆ มารับช่วงต่อไป

download

พระองค์ทรงเริ่มนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนในชนบท ตั้งแต่ ปี 2538 ใน โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับโรงเรียนในชนบท โดยพระราชทานเครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปรณ์ที่จำเป็น เพื่อจัดตั้งเป็นห้องเรียนขึ้น และพัฒนามาจนสามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาประกอบการเรียนการสอนในรายวิชาต่าง ๆ

ปัจจุบัน มีโรงเรียนในโครงการประมาณ 85 แห่ง โดยมีโรงเรียนในจังหวัดนครนายก เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเพื่อนำแนวทางใหม่ ๆ ไปทดลองใช้กับโรงเรียนในชนบท  และทรงริเริ่ม โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการ เพื่อให้คนพิการสามารถใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างความรู้ ความบันเทิง พัฒนาทักษะ และสร้างอาชีพต่อไปในอนาคต

โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำรินี้ ยังเพิ่มโอกาสให้ผู้ต้องขังในทัณฑสถาน ได้รับการอบรม และฝึกทักษะ การใช้คอมพิวเตอร์ระหว่างการถูกคุมขัง เพื่อสามารถนำความรู้ที่ได้รับปพัฒนาตนเอง และนำไปประกอบอาชีพได้

อีกทั้ง ยังมีโครงการสำหรับเด็กป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาภายในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจจะทำให้ขาดโอกาสทางด้านการศึกษา โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อในการเรียนรู้ สร้างความเพลิดเพลิน รวมทั้ง ส่งเสริมพัฒนาการแก่เด็กที่ป่วยด้วย

พระองค์ยังนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับงานทางด้านการเผยแพร่วัฒนธรรมของไทย 76 จังหวัด ผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยมีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้ดูแลโครงการนี้

จากพระราชกรณียกิจทางด้านการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ทำให้วารสารอินโฟแชร์ ซึ่งเป็นวาสารของสำนักงานด้านเทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสารของยูเนสโก ได้ตีพิมพ์บทความเฉลิมพระเกียรติการอุทิศพระองค์ เพื่อการศึกษาเรียนรู้ด้านสารสนเทศของเด็ กและผู้ด้อยโอกาสของไทย รวมทั้ง ยังได้ถวายนาม “IT Princess” หรือ “เจ้าหญิงไอที” แก่พระองค์อีกด้วย

ข้อมูล : วิกิพีเดีย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo