General

6 วิธีรับมือ ‘PM 2.5’ ห่วงภาคเหนือเจอหนัก กลุ่มเสี่ยงต้องระวังสุขภาพ

6 วิธีรับมือ PM 2.5 กรมควบคุมโรค ห่วงสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น กลุ่มเสี่ยงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ สาเหตุมาจาก การเกิดไฟป่า หรือการเผาขยะต่าง ๆ และเผาไร่สวน เพื่อเตรียมที่ดินไว้สำหรับทำการเกษตร อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก และเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยกรมควบคุมโรค ขอแนะ 6 วิธีรับมือ PM 2.5 ดังนี้

6 วิธีรับมือ PM 2.5

  • สวมหน้ากาก ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก เช่น หน้ากาก N 95 หรือถ้าไม่มี ให้ใช้หน้ากากอนามัย และเสริมกระดาษทิชชู เพิ่มเข้าไป 2 ชั้น จะสามารถป้องกันฝุ่นได้ ในระดับหนึ่ง
  • พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-7 ชั่วโมง
  • หมั่นเช็คเครื่องยนต์ของรถ ตรวจสภาพเครื่องยนต์เป็นประจำ เพื่อไม่ให้สร้างควันดำ หรือฝุ่นพิษเพิ่มขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง
  • พบแพทย์ เมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย แน่นหน้าอก หายใจลำบาก เวียนหัว และคลื่นไส้ เป็นต้น
  • ติดตามสถานการณ์ PM2.5 จากแอปพลิเคชัน “Air4Thai” และเว็บไซต์ www.air4thai.com ของกรมควบคุมมลพิษ ทุกครั้งก่อนเดินทาง เพื่อประเมินความเสี่ยงของตนเอง ในการสัมผัสฝุ่น และหาวิธีป้องกันที่เหมาะสม

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

นอกจากนี้ ขอความร่วมมือประชาชน ไม่เผาป่า หรือวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดการเกิด PM 2.5

นายแพทย์โอภาส ย้ำว่า โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง หากได้รับมลพิษจากฝุ่น เข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วย หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพ ที่รุนแรงมากกว่า ประชาชนทั่วไป โดยกลุ่มเสี่ยง ที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ เด็กเล็ก, ผู้สูงอายุ, หญิงตั้งครรภ์

4 กลุ่มโรคสำคัญ ที่ต้องเฝ้าระวัง และดูแลเป็นพิเศษ คือ

  • กลุ่มโรคหัวใจ และหลอดเลือด เช่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก
  • กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล แสบจมูก และลำคอ
  • กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เช่น อาการคันตามร่างกาย มีผื่นแดงตามร่างกาย
  • กลุ่มโรคตาอักเสบ เช่น อาการแสบหรือคันตา น้ำตาไหล และตาแดง

PM2.5

หากสงสัย หรือมีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว นอกจากนี้ ในช่วงที่ออกนอกบ้าน ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากาก 100% เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

นอกจากนี้ ยังมีประกาศจาก กรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทย (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 3 – 6 เมษายน 2564) ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 01 เมษายน 2564

ในช่วงวันที่ 3 – 6 เมษายน 2564 ประเทศไทยจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นด้วย โดยจะเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกก่อน ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบน จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo