General

‘วันเลิกทาส’ 1 เมษายน วันที่ไทย ‘ไร้ทาส’

เมื่อถึงวันที่ 1 เมษายน หลายคนอาจจะนึกถึงแต่วัน April Fool’s Day หรือวันโกหก ที่รู้จักกันไปทั่วโลก มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่จะนึกได้ว่า สำหรับชาวไทยแล้ว วันที่ 1 เมษายน เป็นอีกวันหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะว่าวันนี้ คือวันที่คนไทยในสมัยโบราณ พ้นจากความเป็นทาส หรือเรียกกันว่า “วันเลิกทาส” 

การเลิกทาส และ การเลิกไพร่ เป็นพระราชกรณียกิจอันสำคัญยิ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการยกเลิกระบบที่คนชั้นสูงตั้งขึ้น เพื่อกดขี่ราษฎรให้ทำงานรับใช้ หรือส่งทรัพย์สินให้ โดยไม่มีกำหนดว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

shutterstock 427359766

ความเป็นมา “วันเลิกทาส”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศใช้ “พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124″ และ “พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร รัตนโกสินทร์ศก 124″ เนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เมืองไทยมีทาสอยู่มากกว่า 1 ใน 3 ของพลเมืองทั้งประเทศ เพราะลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาส ก็ต้องตกเป็นทาสต่อไป และถ้าอยากเลิกเป็นทาส ก็จะต้องหาเงินมาไถ่ตัวเอง มิฉะนั้นแล้วก็จะต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต เพราะตามกฎหมายถือว่ายังมีค่าตัวอยู่

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศ “พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย” เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ปี 2417 แก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ โดยให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัวเมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่ออายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ

จากนั้น ในปี 2448 ทรงออก “พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124” ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไทเมื่อวันที่ 1 เมษายน ปี 2448  ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นับตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2448 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติ ป้องกันไม่ให้คนที่เป็นไทแล้ว กลับไปเป็นทาสอีก และเมื่อทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ ก็ห้ามขึ้นค่าตัว

shutterstock 391360339

การเลิกไพร่

หมอสมิธ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไซแอม รีโพซิตอรี่ ได้เขียนบทความตำหนิรัฐบาลสยามอย่างรุนแรง ด้วยเห็นว่า ในบรรดาประเทศที่มีความเจริญแล้วทั้งหลาย ไม่ว่าจะพระเจ้าแผ่นดินก็ดี เหล่าขุนนางก็ดี ไม่มีสิทธิ์ที่จะเกณฑ์แรงงานราษฎร ที่เสียภาษีอากรโดยไม่ให้อะไรตอบแทน

เนื่องจากในสมัยนั้น คนที่เป็นไพร่เข้ารับราชการโดยที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน ทั้งยังต้องออกค่าใช้จ่ายเองทุกอย่าง ระหว่างที่รับราชการ อาทิ ค่าเดินทาง และค่าอาหาร

ขนบไพร่ในสมัยนั้น บังคับให้ราษฎรที่มีอายุตั้งแต่ 15-16 ปี ไปจนถึง 70 ปี ต้องเข้าทำงานรับใช้ หรือส่งส่วย ให้แก่เจ้านายชนชั้นปกครอง โดยแบ่งออกเป็น ไพร่หลวง ไพร่สม และไพร่ส่วย

โดยที่มีกำหนดรับราชการแบบเดือนเว้นเดือน ในสมัยอยุธยาปีละ 6 เดือน จากนั้นลดลงมาเหลือปีละ 4 เดือน ในสมัยรัชกาลที่ 1 และเหลือ 3 เดือนในสมัยรัชกาลที่ 2 หากใครที่อยากรับราชการ ก็ต้องจ่ายค่าราชการ เดือนละ 6 บาท

จากนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้กราบทูลเสนอความคิดเห็นว่า ควรให้ราษฎรเสียค่าราชการจากเดือน เป็นปีละ 6 บาทเท่า ๆ กัน อีกทั้งให้งดการเกณฑ์แรงชั่วคราว แต่ให้เปลี่ยนเป็นวิธีเกณฑ์จ้างแทน

วันปิยมหาราช

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงค่อย ๆ  ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่าง ๆ  เพื่อปูทางสู่การเลิกไพร่ จนถึง ปี 2448 ทรงออก “พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร รัตนโกสิทร์ศก 124” บัญญัติให้ชายฉกรรจ์รับราชการทหารกองเกิน 2 ปี แล้วเข้ารับราชการทหารกองประจำการอีก 2 ปี แล้วปลดจากกองประจำการเป็นกองหนุนขั้นที่ 1 อายุ 5 ปี แล้วปลดไปอยู่ในกองหนุนขั้นที่ 2 อายุ 10 ปี แล้วให้ถือว่าหมดหน้าที่รับราชการทหาร

พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารนี้ ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการยกเลิกขนบไพร่ ประกาศใช้ในมณฑลนครศรีธรรมราช ปัตตานี สุราษฎร์ ภูเก็ต และเพชรบูรณ์ เมื่อปี  2458 (สมัยรัชกาลที่ 6)

ด้วยความที่ว่าการยกเลิกขนบไพร่เป็นการปลดทุกข์ของราษฎรทุกตำบลทั่วราชอาณาจักร จึงมีความเห็นว่าการยกเลิกขนบไพร่ สำคัญยิ่งกว่าการยกเลิกขนบทาสเสียอีก  เพราะราษฎรได้รับการส่งเสริมฐานะทางเศรษฐกิจ มีเวลาทำมาหากินได้เต็มที่ และไม่มีใครรังเกียจเหมือนแต่ก่อน

อย่างไรก็ตาม การเสียเงินรัชชูปการ (ภาษีรายหัว) ซึ่งใช้แทนการเกณฑ์แรงงานนั้นมาสิ้นสุดลงในปี 2482

ที่มา : วิกิพีเดีย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo