Digital Economy

เฟซบุ๊กปรับมาตรฐานชุมชนรับมือ 6 คอนเทนต์รุนแรง

เฟซบุ๊กตอบรับปัญหาการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต และการโพสต์ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมผ่านการอัปเดต “มาตรฐานชุมชน” (Community Standards) สำหรับการใช้งานแพลตฟอร์มครั้งใหม่ สำหรับรับมือเนื้อหาภาพโป๊เปลือย, กิจกรรมทางเพศ, การใช้วาจาสร้างความเกลียดชัง, บัญชีผู้ใช้ปลอม, สแปม และคอนเทนต์จากผู้ก่อการร้าย พร้อมเปิดตัวเลขทีมงานดูแลคอนเทนต์ของแพลตฟอร์มในปัจจุบัน ที่แตะ 20,000 คน เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากเมื่อปีก่อนหน้า โดยในจำนวนนี้รวมคนไทย ที่เข้าใจบริบทของสังคมไทยอยู่ด้วย

596ee039f686acdec4d3fdda70e56125bb8fae10
ภาพจากเอเอฟพี

ปัญหากลั่นแกล้งกันทางอินเทอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องธรรมดา โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ปัจจุบันกลายเป็นช่องทางหลักของการกลั่นแกล้ง ซึ่งข้อมูลจากเฟซบุ๊กระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ทีมคอนเทนต์ที่ทำงานโดยมนุษย์ และเอไอ ของเฟซบุ๊กมีผลงานร่วมกันดังต่อไปนี้

  • ลบแอคเคาน์ปลอมออกไป 583 แอคเคาน์ และ 99% เป็นการตรวจจับได้ก่อนที่จะมีการรายงาน โดยใช้เวลาในการลบเพียงไม่กี่นาทีหลังจากพบว่ามีการลงทะเบียน
  • ลบสแปม 837 ล้านชิ้นออกจากระบบ โดยสแปมทั้งหมดเกือบ 100% เป็นการใช้เอไอในการวิเคราะห์ก่อนที่จะมีผู้ใช้งานรีพอร์ตเข้ามา
  • ลบภาพโป๊ไปแล้ว 21 ล้านชิ้น โดย 96% เป็นการตรวจจับโดยใช้เอไอ
  • ลบข้อความสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ไปแล้ว 2.5 ล้านชิ้น และ 38% ตรวจจับโดยเอไอ
  • ลบคอนเทนต์ก่อการร้ายออกจากระบบไปแล้ว 19 ล้านชิ้น 99.5% เป็นการตรวจจับโดยเอไอ
ไซมอน ฮารารี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายเนื้อหา ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก
ไซมอน ฮารารี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายเนื้อหา ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก

ไซมอน ฮารารี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านเนื้อหา ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของเฟซบุ๊กเผยว่า คอนเทนต์ที่มีการลบออกจากแพลตฟอร์มไปนั้น โจทย์ที่ท้าทายที่สุดคือ Hate Speech ที่ต้องอาศัยคนที่นอกจากจะเข้าใจภาษาแล้ว ยังต้องเข้าใจบริบทของสังคมด้วยจึงจะสามารถตัดสินได้ว่าข้อความเป็น Hate Speech หรือไม่

20181102 104659

“สิ่งหนึ่งที่เฟซบุ๊กต้องการให้เกิดขึ้นคือความเท่าเทียมในการปรับใช้มาตรฐานชุมชน จึงมีการดึงผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เช่น อาจารย์จากมหาวิทยาลัย, ผู้สื่อข่าว, นักกฎหมาย รวมถึง NGO เข้ามาร่วมกันพัฒนา โดยจุดมุ่งหมายของเฟซบุ๊กของการปรับใช้มาตรฐานชุมชนคือการทำให้เฟซบุ๊กเป็นที่ที่ปลอดภัย และผู้ใช้งานวางใจที่จะโพสต์หรือแสดงความคิดเห็นออกไป”

นอกจากนี้ ในมาตรฐานชุมชนเวอร์ชันใหม่ เฟซบุ๊กเผยว่ามีการปรับให้ผู้ใช้งานสามารถยื่นคำร้องได้ หากพบว่า โพสต์ของตัวเองที่ถูกระบบลบไปนั้น ไม่เข้าข่ายเงื่อนไขทั้ง 6 ข้อ ที่ระบุไว้ข้างต้น โดยระหว่างนี้เฟซบุ๊กมีการพัฒนาเอไออย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถระบุเนื้อหาที่ฝ่าฝืนกฎได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนกรณีของผู้ใช้งานที่นำแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กมาไลฟ์สดฆ่าตัวตายนั้น นายไซมอนระบุว่า การดึงคอนเทนต์ไลฟ์สดฆ่าตัวตายลงจากแพลตฟอร์มอาจไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะหากเขายังไลฟ์อยู่ เพื่อน พี่น้อง หรือครอบครัว รวมถึงเจ้าหน้าที่ทางการยังสามารถหาทางช่วยเหลือได้ ซึ่งในอนาคตจะมีการนำเอไอมาศึกษาแพทเทิร์น และทำความเข้าใจว่าใครมีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายเพื่อให้ความช่วยเหลือได้ล่วงหน้าด้วย

ด้านการฝึกอบรมทีมงานคอนเทนต์นั้น นายไซมอนเผยว่า จะต้องเข้ารับการอบรมเพื่อให้มั่นใจว่าเข้าใจนโยบายทั้งหมดอย่างดี เพื่อจะได้สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะในเรื่องของ Hate Speech ที่เอไอยังไม่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ ต้องอาศัยมนุษย์ในการตรวจสอบขั้นสุดท้าย

แคลร์ ดีวีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการนโยบาย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของเฟซบุ๊ก
แคลร์ ดีวีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการนโยบาย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของเฟซบุ๊ก

อีกหนึ่งผู้บริหารเฟซบุ๊กที่ปรากฏตัววันนี้คือ แคลร์ ดีวีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการนโยบาย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของเฟซบุ๊ก โดยเธอได้เผยถึงนโยบายของเฟซบุ๊กในการจัดการกับคอนเทนต์สร้างความเกลียดชังไว้ในหลาย ๆ ด้าน ยกตัวอย่างเช่น การส่งข้อความผ่านทาง Messenger ที่เฟซบุ๊กจะใช้เอไอวิเคราะห์และแยกไปอยู่ในอีกกล่องข้อความเป็นพิเศษ ทำให้ผู้ใช้งานมองไม่เห็นข้อความที่เป็น Hate Speech เหล่านั้น หรือการจับมือกับหลาย ๆ องค์กร เพื่อตรวจสอบว่ามีใครพยายามจะปลอมเป็นตัวเราหรือไม่ และหากพบ ระบบจะแจ้งเตือนเพื่อให้มีการจัดการต่อไป

“เราต้องการให้ทุกอย่างบนเฟซบุ๊กสามารถรีพอร์ตได้ ยิ่งมากยิ่งดี” แคลร์กล่าวในตอนท้าย

Avatar photo