COVID-19

‘แอสตร้าเซนเนก้า’ ชม ‘สยามไบโอไซเอนซ์’ มาตรฐานผลิควัคซีนโควิด-19 ดีเยี่ยม

“อนุทิน” เผยตัวแทน “แอสตร้าเซนเนก้า” ชื่นชม “สยามไบโอไซเอนซ์” มาตรฐานผลิตวัคซีนโควิด-19 ของไทยดีเยี่ยม

วันนี้ (31 มี.ค.) ที่ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังนายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) เข้าพบหารือและติดตามความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทยว่า

แอสตร้าเซนเนก้า สยามไบโอไซเอนซ์

ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) ได้กล่าวชื่นชม บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ผู้ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ในประเทศไทย ที่มีกระบวนการผลิตได้มาตรฐาน ดำเนินการตามขั้นตอนการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเคร่งครัด ผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการเป็นที่น่าพอใจ มาตรฐานดีเยี่ยมเกินคาดหมาย

พร้อมกันนี้ ตนได้ให้ความมั่นใจกับประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) ว่า เมื่อวัคซีนผลิตสำเร็จพร้อมนำมาใช้ กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะให้ความร่วมมือเต็มที่ในการตรวจสอบคุณภาพ (Lot Release) และเอกสาร

นอกจากนี้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ พร้อมร่วมพัฒนาวัคซีนให้ครอบคลุมสายพันธุ์อื่นๆ เช่น สายพันธุ์แอฟริกา ที่แอสตร้าเซนเนก้ากำลังจะศึกษาวิจัยพัฒนาต่อไป

 

สามเหลี่ยมฉีด “วัคซีนโควิด-19”

เมื่อวานนี้ (30 มี.ค.) กระทรวงสาธารณสุขยังได้แถลงข่าวแผนการกระจายวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เพื่อเตรียมรับการเปิดประเทศภายในเดือนตุลาคม 2564 ว่า การเปิดประเทศอย่างปลอดภัย จะต้องฉีด วัคซีนโควิด-19 ให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในระดับจังหวัดให้ได้ 50-60% ของประชากร โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นเป้าหมายการเดินทางของชาวต่างชาติและจังหวัดที่อาจจะมีชาวต่างชาติเดินทางไป

ดังนั้น การกระจายและฉีดวัคซีนจะใช้ “สามเหลี่ยมขับเคลื่อนวัคซีน” คือ

1. Area โดยจัดลำดับพื้นที่ เน้นอำเภอที่เป็นจุดเสี่ยงระบาดและมีนักท่องเที่ยว ฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรด่านหน้า เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้ครอบคลุมมากที่สุดก่อน แล้วกระจายอำเภออื่นลดหลั่นลงไป

2. Setting หรือสถานที่ฉีด อาจดำเนินการเพิ่มได้ในโรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือการออกหน่วยบริการ เพื่อให้มีความครอบคลุมมากขึ้น โดยมีขั้นตอนการฉีดตามมาตรฐาน เน้นการสังเกตอาการให้ครบ 30 นาทีหลังฉีด และมีทีมแพทย์ดูแลเรื่องความปลอดภัย

กทม.วัคซีน2

3. Data ดำเนินการเรื่องข้อมูลผ่านระบบไลน์หมอพร้อม

สำหรับ วัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค จำนวน 8 แสนโดส จะกระจายให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ เริ่มดำเนินการฉีดวันที่ 1 เมษายน 2564 ดังนี้

  • จังหวัดเป้าหมาย 22 จังหวัด ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เพื่อควบคุมการระบาดของโรค 6 จังหวัด 3.5 แสนโดส
  • พื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 8 จังหวัด 2.4 แสนโดส โดยอาจเพิ่มกลุ่มพนักงานโรงแรม และพนักงานขับรถสาธารณะ
  • พื้นที่ชายแดนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 8 จังหวัด 5 หมื่นโดส เน้นผู้ที่ทำงานที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ปฏิบัติในสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และสถานกักตัว
  • จังหวัดอื่นๆ ที่เหลือจำนวน 1.6 แสนโดส กระจายให้จังหวัดขนาดเล็ก ประชากรน้อยกว่า 1 ล้านคน จำนวน 800 โดส, จังหวัดขนาดใหญ่ ประชากร 1 -1.5 ล้านคน จำนวน 1,000 โดส และจังหวัดขนาดใหญ่พิเศษมีประชากรมากกว่า 1.5 ล้านคน จำนวน1,200 โดส เน้นการฉีดในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า และวัคซีนสำหรับ อสม.อีกจังหวัดละ 1,000 โดส

สำหรับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า 1 ขวด ตามปกติสามารถฉีดได้ 10 โดส โดสละ 0.5 มิลลิลิตร เนื่องจากผู้ผลิตได้บรรจุวัคซีนมาเผื่อ โดย 1 ขวดมีวัคซีนปริมาณ 6.5 มิลลิลิตร หากบริหารจัดการการฉีดอย่างดีอาจฉีดได้ 11-12 โดสต่อขวด จะทำให้ฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมประชาชนมากยิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้ ได้ขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำรวจความต้องการผู้รับการฉีด วัคซีนโควิด-19 ตามความสมัครใจ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo