Economics

สบายใจได้! ‘รมว.คลัง’ ยันยังไม่ปรับขึ้น VAT คงเป้าจีดีพีปีนี้โต 4%

สบายใจได้! “รมว.คลัง” ยืนยันยังไม่ปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เหตุเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว – ประชาชนยังได้รับผลกระทบจาก “โควิด” ยันรัฐบาลยังยึดเป้าหมายจีดีพีปีนี้ขยายตัวที่ 4% 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง ยืนยันจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากปัจจุบันที่จัดเก็บในอัตรา 7% ทั้งนี้ หลังจากครบกำหนดการปรับลด VAT ที่ 7% จากเดิมที่ 10% ในวันที่ 30 กันยายนนี้ กระทรวงการคลัง ก็จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายเวลาการลดอัตราการจัดเก็บต่อไปอีก 1 ปี เนื่องจากมองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2564 – 2565 ยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว และประชาชนยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ “โควิด”

“ข้อเสนอใน ครม. ให้คลังขึ้น VAT นั้นยังไม่เห็น ไม่มี เรื่องนี้ไม่ทราบ ส่วนปี 2564 – 2565 จะมีการขึ้นภาษีตัวใหม่หรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ จะต้องขอรอดูผลการศึกษาของคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้างภาษีของกระทรวงการคลังก่อน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี โดยเรื่องนี้ได้ให้นโยบายตั้งแต่ผมเข้ามารับตำแหน่งแล้ว” นายอาคม กล่าว

อาคม 31364

สำหรับการศึกษาแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษี จะต้องพิจารณาเรื่องการจัดเก็บรายได้ให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมใหม่ รวมทั้งโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลให้ง่ายขึ้น สามารถแข่งขันได้ ซึ่งอัตราภาษีปัจจุบันก็ถือว่าอยู่ในระดับต่ำแล้ว และเป็นแนวโน้มเดียวกันกับประเทศคู่แข่ง

ส่วนการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2564 จะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่นั้น นายอาคม กล่าวว่า จะต้องติดตามในเดือนมิถุนายน นี้ หลังจากที่มีการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2563 ที่ขยายออกไปจากเดือนมีนาคม จึงจะตอบได้ว่า รายได้ปีนี้จะหลุดเป้าหมายหรือไม่ แต่ว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ไม่ได้อยู่ที่ภาษีเพียงอย่างเดียว มีทั้งเงินนำส่งของรัฐวิสาหกิจ การกู้เงิน ซึ่งมีหลายทางที่จะนำมาปิดงบประมาณได้ ทำให้การใช้งบประมาณเป็นไปตามปกติ

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2564 นั้น นายอาคม กล่าวว่า รัฐบาลยังยึดเป้าหมายตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า จะขยายตัวได้ที่ระดับ 4% แม้ว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และที่ประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน จะประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ที่ 2.5 – 3.5% ก็ตาม ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคธุรกิจต้องไปด้วยกัน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีขึ้น แม้จะเป็นการฟื้นตัวแบบช้า ๆ ก็ตาม

“ตัวเลขจีดีพีจะขยายตัวต่ำ หรือสูงไม่สำคัญ แต่สำคัญ คือ คุณภาพของการเติบโต และมีความต่อเนื่องมากกว่า อย่างของไทยยังมีศักยภาพที่จะเติบโตเพิ่มได้อีก 2% เช่น ถ้าคาดการณ์ว่า จะขยายตัวที่ 2.5 – 3.5% นั่นหมายความว่าไทยมีโอกาสที่จะเติบโตได้ถึง 4.5 – 5.5% โดย 2% ที่เพิ่มนั้นจะมาจากประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ที่หลังจากสถานการณ์โควิดมีการปรับตัวได้ดีหรือไม่ ถ้ามีการปรับตัวโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ ก็จะเป็นอีกส่วนในการสนับสนุนอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้” นายอาคม กล่าว

ทั้งนี้ หลังจากการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แล้ว เชื่อว่าเศรษฐกิจไทย จะกลับมาเติบโตได้อย่างเต็มสปีดในปี 2566 – 2567 ผ่านปัจจัยสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ การลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะด้านคมนาคม ด้านพลังงาน ด้านน้ำ และด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่น และผลักดันให้ภาคเอกชนเดินหน้าลงทุน รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย

ตลอดจนปัจจัยเรื่องการท่องเที่ยวและบริการ ผ่านมาตรการสำคัญ คือ การผ่อนคลาย และเริ่มเปิดประเทศ เปิดการท่องเที่ยว เริ่มที่ภูเก็ต สมุย พัทยา และเชียงใหม่ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 ก่อนที่จะมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ภายใต้กติกาสากลที่ทั่วโลกกำหนด ที่แม้จะไม่มีการกักตัว แต่จะต้องมีการฉีดวัคซีนและมีเอกสารรับรอง ซึ่งจะเป็นเครื่องการันตีความปลอดภัย เหล่านี้จะเป็นแสงสว่างให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 – 2565

สุพัฒนพงษ์ 313641

ด้าน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกระแสที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 มีการหารือถึงการจัดเก็บภาษีของประเทศไม่เข้าเป้า โดยสั่งให้ศึกษาที่จะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จากที่ปัจจุบันทีจัดเก็บอยู่ที่ 7% ว่า ไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่บอกว่ารัฐบาลจะถังแตก เพียงแต่ในที่ประชุม ครม. มีการรายงานเรื่องความเสี่ยงทางการคลัง ที่เป็นการรายงานประจำปี ที่ต้องรายงานตามวาระเพื่อทราบไม่มีสาระสำคัญใด ๆ ที่ต้องน่าห่วง

ทั้งนี้ ข้อสังเกตของความเสี่ยงถือเป็นเรื่องปกติ โดยมีการพูดถึงการใช้เงินในช่วงวิกฤติโควิด-19 และเรื่องการจัดเก็บภาษีในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่รายได้น้อยลงไป เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั้งหมด นี่คือการรายงานความเสี่ยงในที่ประชุม ครม. แต่บทสรุปของการรายงานความเสี่ยง ได้มีการประเมินความเสี่ยงออกมาเป็นตัวเลข คือ 2.47 ถือเป็นระดับความเสี่ยงที่ไม่สูงมาก

“เชื่อว่าอีก 2 ปี วิกฤติทางด้านการเงินการคลังหรือความเสี่ยงจะไม่มีเกิดขึ้น ผมไม่เข้าใจข่าวที่ออกมา มันทำให้เกิดความกังวล ว่าดูเหมือนจะไปขึ้นภาษีบ้าง ถังแตกบ้างซึ่งไม่มีสัญญาณใด ๆ ทั้งสิ้น” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

เมื่อถามว่า สรุปแล้วการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จะไม่เกิดขึ้นในช่วงนี้ใช่หรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ ยืนยันว่า ภายใน 2 ปีนี้จะไม่ขึ้น เพราะรายงานดังกล่าวประเมินไว้แค่ในระยะ 2 ปีข้างหน้า และในการประชุม ครม. ก็ไม่มีคุยเรื่องนี้ และไม่มีข้อเสนอแนะใด ๆ เพียงแต่ ครม. มีข้อสังเกตและเป็นห่วงจำนวนประชาชนที่อยู่ในระบบภาษีของเรา ยังมีจำนวนน้อย

ดังนั้น จึงขอให้กระทรวงการคลังไปทำการศึกษาโครงสร้างภาษี เพื่อดึงดูดให้คนเข้าใจ เพื่อเข้ามาในระบบ ว่าเป็นประโยชน์อย่างไร จะได้ช่วยกันช่วยเหลือประเทศ และเงินเหล่านั้นได้กลับมาถึงมือประชาชนอย่างไร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo