General

ข่าวดี! ศิริราช ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ฟรี รักษาผู้ป่วยด้อยโอกาส 237 ราย

ศิริราช ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ รักษาฟรี ผู้ป่วยด้อยโอกาส 237 ราย ในโอกาส 133 ปี รพ.ศิริราช 104 ปี ภาควิชาศัลยศาสตร์ ร่วมเฉลิมพระเกียรติ ร.9

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานแถลงข่าวเปิดโครงการ “รักษาผู้ป่วยด้อยโอกาส 237 ราย” โดย ศิริราช ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ รักษาฟรี ผู้ป่วยด้อยโอกาส 237 ราย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พ.ศ. 2564 – 2565

ศิริราช ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์

การจัดโครงการดังกล่าว เนื่องในโอกาสครบรอบ 133 ปี ที่ รพ.ศิริราช ให้บริการรักษาผู้ป่วย และในโอกาส 104 ปี ภาควิชาศัลยศาสตร์ จึงเป็นที่มาของโครงการ “รักษาผู้ป่วยด้อยโอกาส 237 ราย ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงโดยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด” เพื่อให้ผู้ป่วยด้อยโอกาสที่มีจำนวนมาก ได้หายจากโรค และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้ชีวิตได้ตามปกติสุข และไม่เป็นภาระแก่สังคม

สำหรับเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้ป่วยทั้ง 237 รายนี้ จะต้องเป็นผู้ป่วย ที่ได้รับการตรวจประเมิน จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และได้รับการวินิจฉัยว่า จะต้องได้รับการรักษา ด้วยการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ โดยต้องผ่านการประเมินเศรษฐานะ จากนักสังคมสงเคราะห์ รพ.ศิริราช ผู้ป่วยในโครงการ จะได้รับการรักษา และเข้าพักในหอผู้ป่วยสามัญเท่านั้น

นพ.ประสิทธิ์
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา

รศ. ดร. นพ.วิทูร ชินสว่างวัฒนกุล หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ทั่วไป กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ยังมีค่าใช้จ่ายสูง และมีใช้ในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ไม่กี่แห่ง สำหรับการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อนมาก เช่น การผ่าตัดต่อมลูกหมาก การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ การผ่าตัดเนื้องอกหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร เนื้องอกตับอ่อน ไส้เลื่อนช่องกะบังลม เป็นต้น

ปัจจุบัน การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ เริ่มแพร่หลายมากขึ้น แพทย์จะแนะนำให้คนไข้ เลือกวิธีการผ่าตัด โดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ซึ่งเป็นความก้าวหน้าของวงการแพทย์ แม้ว่าแพทย์ที่ทำการผ่าตัด จะต้องผ่านการฝึกฝน และทดสอบ จนผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เมื่อฝึกใช้งานหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด จนคล่องแคล่วแล้ว แพทย์ก็จะสามารถผ่าตัดที่ซับซ้อน และทำได้สะดวกรวดเร็วขึ้น โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่อีกต่อไป คุณภาพชีวิตของคนไข้ก็ดีขึ้นตามไปด้วย

“อย่างไรก็ตาม การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ยังมีข้อจำกัดที่สำคัญ ในเรื่องค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ค่าเครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์มูลค่าหลายสิบล้าน ส่งผลให้ค่าผ่าตัดต่อครั้ง อยู่ที่หลักหลายแสนบาท แต่ในอนาคต หวังว่าสิ่งใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพคนไข้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนจะเกิดขึ้นอย่างทั่วถึงในที่สุด”รศ. ดร. นพ.วิทูร กล่าว

ผ่าตัด

สำหรับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรก ที่มีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic surgery) โดยริเริ่มผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เป็นรายแรกของประเทศไทย มาตั้งแต่ ปี 2550 ถือเป็นจุดเริ่มต้น และสร้างชื่อเสียงของสถาบัน

ขณะที่ปัจจุบันได้จัดโครงการเพื่อพัฒนาความรู้สู่ศูนย์ความเป็นเลิศ Center of Excellent ในด้านการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ให้เป็นโครงการที่สร้างชื่อเสียงของ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ ยูโรวิทยา ได้ทำการผ่าตัดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากไปแล้วกว่า 2,300 ราย ซึ่งนับเป็นการผ่าตัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมากมากที่สุดในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อีกทั้ง ได้มีการพัฒนาศักยภาพการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ให้ได้หลากหลายมากขึ้น สามารถผ่าตัดครอบคลุมโรคระบบทางเดินปัสสาวะมากขึ้น เช่น ผ่าตัดไต ต่อมหมวกไต และกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น อีกทั้งยังลดภาวะแทรกซ้อนทางการผ่าตัด เช่น ใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดสั้นลง แผลจากการผ่าตัดมีขนาดเล็ก อาการปวดแผลหลังการผ่าตัดน้อยลง สามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อของแผลผ่าตัดได้

ด้าน ผศ. นพ.วรบุตร ทวีรุจจนะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์ทั่วไป กล่าวถึง การผ่าตัดรักษาโรคอ้วนด้วยหุ่นยนต์ว่า ปัจจุบันการผ่าตัดโรคอ้วนด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ทำกันทั่วโลก เนื่องจากช่วยให้คนไข้ปลอดภัย แผลผ่าตัดขนาดเล็ก เจ็บแผลน้อย และเกิดผลแทรกซ้อนต่าง ๆ น้อย เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด อีกทั้งยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการผ่าตัดได้ทุกระบบ

จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี พร้อมด้วยศักยภาพของ ทีมศัลยแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ส่งผลให้การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ประสบผลสำเร็จ ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ผู้สนใจ ร่วมสมทบกองทุนเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สามารถติดต่อบริจาคสมทบทุนโครงการฯ แจ้งความประสงค์สมทบทุน ได้ที่ศิริราชมูลนิธิ รหัสทุน D707070 จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-17.00 น.หรือสอบถาม โทร. 02 419 7658-60 LINE: @sirirajfoundation

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo