Environmental Sustainability

เปิด ‘เวทีพูดคุย’ ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ทางแก้ขัดแย้ง ‘โรงไฟฟ้าชีวมวล-ชุมชน’

โรงไฟฟ้าชีวมวล-ชุมชน กับเวทีสัมมนาโครงการไฟฟ้าสีเขียว ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เห็นพ้องการสร้างเวทีพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ ตั้งแต่ก่อนก่อสร้างโรงไฟฟ้า จนถึงความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาในภายหลัง ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านเรียกร้องให้ออกระเบียบ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

งานสัมมนาโครงการ ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION สร้างความรู้ สร้างเครือข่าย เพื่อการเติบโตของพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน จัดโดยสำนักข่าว The Bangkok Insight ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 2 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีตัวแทนจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) นักวิชาการ ผู้ประกอบการ ผู้นำชุมชน และชาวบ้านร่วมงานสัมมนากว่า 200 คน

โรงไฟฟ้าชีวมวล-ชุมชน

ในเวทีสัมมนาครั้งนี้ ได้มีการนำเสนอมุมมอง และแนวทางการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่หลากหลาย ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการ การมีส่วนร่วมของชุมชน และความเสี่ยงต่ออุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีโรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้นแล้ว 9 แห่ง และอาจจะมีเพิ่มขึ้นตามนโยบายการสนับสนุนของภาครัฐ

นางฤดี ภริงคาร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ประธานเปิดงานสัมมนา กล่าวว่า โครงการ ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION สร้างความรู้ สร้างเครือข่ายเพื่อการเติบโตของพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 26 โครงการ ผู้รับทุนสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกิจการตามมาตรา 97 (5) ปีงบประมาณ 2563 โดยทั้ง 26 โครงการจะขับเคลื่อนการสื่อสารภายใต้แนวคิด CLEAN ENERGY FOR LIFE: ใช้พลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG7 ของสหประชาชาติ สำหรับโครงการ ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION จะสื่อสารประเด็นหลัก คือ ประเด็นพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล หรือ Biomass

โรงไฟฟ้าชีวมวล-ชุมชน
นางฤดี ภริงคาร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

สำหรับกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจัดตั้งขึ้นภายใต้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงานกกพ.) ตาม “พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550” โดยมี คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้กำกับดูแลภายใต้กรอบนโยบายของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีภารกิจสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ส่งเสริมสังคม และประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า

โดยโครงการ ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION จะมีส่วนช่วยให้ประชาชน มีความรู้ ความเข้าใจ ในข้อมูลข้อเท็จจริง เรื่องพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล การดำเนินงานโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ถูกต้องเหมาะสม รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการร่วมกันสอดส่องดูแลโรงไฟฟ้าในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งเวทีนี้ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวลได้อย่างมีนัยสำคัญ จากภาคนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ภายใต้การกำกับดูแลที่ดีของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลัง (กกพ.) ให้เป็นไปตาม แผนปฏิบัติการด้านการกำกับกิจการพลังงาน ระยะที่ 4 พ.ศ. 2563-2565 คือ การพัฒนาการมีส่วนร่วม และการสื่อสารอย่างเข้าถึงและเข้าใจ

การสัมมนาไฟฟ้าสีเขียวที่จังหวัดสุพรรณบุรี ถือเป็นเวทีที่สอง โดยเวทีแรกจัดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2564  สำนักงาน กกพ. และสำนักข่าว The Bangkok Insight มีกำหนดที่จะเดินหน้าร่วมกันสื่อสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างการมีส่วนร่วม ผ่านเครือข่ายภาคประชาชน กระจายไปยังจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดกำแพงเพชร ต่อไป

โรงไฟฟ้าชีวมวล-ชุมชน

นางฤดี กล่าวเพิ่มเติม กรณีที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้นโดยส่วนตัวมองว่า จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนมาก ส่วนใหญ่วัสดุที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ก็มาจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งทางชุมชนสามารถนำวัสดุเหลือใช้พวกนี้ มาขาย เพิ่มรายได้ให้กับชุมชนในระยะยาว เนื่องจากโรงไฟฟ้าจะมีอายุสัญญา 20-25 ปี ส่วนการกำกับดูแลของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีกระบวนการตรวจติดตาม ตามวงรอบเพื่อดูแลทุกขั้นตอนอยู่แล้ว

ส่วนโครงการ ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION ทางสำนักข่าว The Bangkok Insight ได้ลงพื้นที่สร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับประชาชน และชุมชน ซึ่งเป็นรากหญ้าในพื้นที่ ได้เข้าใจเข้าถึงมากยิ่งขึ้นว่าจริง ๆ แล้วโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้น มีประโยชน์ต่อประชาชนในระยะยาว และทาง กกพ. ก็จะทำหน้าที่กำกับดูแลโรงไฟฟ้าในพื้นที่อย่างเข้มงวด

โรงไฟฟ้าชีวมวล-ชุมชน

โดยบนเวทีสัมมนาในหัวข้อ “โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน” ทาง ผศ.ดร.พิสิษฏ์ มณีโชติ วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า จากที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับโรงไฟฟ้าหลายแห่ง พบว่า ปัญหาการขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชีวมวลทุกวันนี้ คือความไม่เข้าใจ ซึ่งโรงไฟฟ้าชีวมวลเปรียบเสมือนเหรียญที่มีสองด้าน “มีทั้งข้อดีและข้อเสีย”

“เราเห็นปัญหาจริง ๆ คือความไม่เข้าใจกัน ชุมชนเขามีปัญหาอยู่แล้ว ในภาคการจัดการก็มีนโยบายจะให้เกิดขึ้น ทุกคนในพื้นที่หวังดีกับประเทศชาติอยากจะให้มันเกิดขึ้น แต่จะต้องมีเวทีในการพูดคุยกัน”

ผศ.ดร.พิสิษฏ์ มณีโชติ
ผศ.ดร.พิสิษฏ์ มณีโชติ วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

ผศ.ดร.พิสิษฏ์ กล่าวต่อว่า การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมทำให้มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตจะมีการใช้เพิ่มมากขึ้นไปอีก เช่น เริ่มมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทำให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล หากภายใน 5 ปีข้างหน้า มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 1 ล้าน คัน มีความเป็นไปได้สูงว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าต้องเพิ่มมากขึ้น

“เกือบทุกอย่างในชีวิตประจำวันต้องใช้ไฟฟ้าหมด มือถือก็ใช้ไฟฟ้า และความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเกิดที่ไหนก็ได้ ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอาจจะอยู่ที่สุพรรณบุรี หากมีการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมกันจำนวนมาก ดังนั้นการบริหารความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคตถือว่ามีความเสี่ยงมาก”

โรงไฟฟ้าชีวมวล-ชุมชน โรงไฟฟ้าจะอยู่ได้ คำตอบอยู่ที่ชุมชน

ผศ.ดร.พิสิษฏ์ กล่าวว่าจากประสบการณ์พบว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลมีปัญหาหลายด้าน แต่จุดเริ่มต้นจะต้องแก้ปัญหาในเรื่อง ความรู้ ความเข้าใจของชุมชน จากนั้นในเรื่องการบริหารจัดการ จำเป็นต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่แรก

“ผมเชื่อเรื่องการพัฒนากระบวนการทางความคิด ถ้าวิธีคิดไม่เปลี่ยน วิถีชีวิตก็ไม่เปลี่ยน ได้พาชาวบ้านไปศึกษาดูงานด้านไฟฟ้า พาไปดูงานเรียนรู้ แล้วออกแบบโรงงานไฟฟ้าที่ชุมชนอยากได้”

ผศ.ดร.พิสิษฏ์ กล่าวว่าหลังจากชาวบ้านอยากได้โรงไฟฟ้าตามแบบที่ต้องการแล้ว จึงให้ผู้ประกอบการมานำเสนอ โดยมีการแลกเปลี่ยน และพูดคุยกันว่าโรงไฟฟ้าในชุมชนจะออกมาอย่างไร ส่วนการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้ากับชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลจะมีความยั่งยืนในชุมชน โรงไฟฟ้าจำเป็นต้องอยู่เพื่อประโยชน์ชุมชน จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญคือ

1. โรงไฟฟ้าต้องมาจากชุมชน ต้องซื้อเชื้อเพลิงจากชุมชน ซึ่งจะทำให้เกิดการรวมตัวของคนในชุมชนเพื่อการจัดหาเชื้อเพลิง
2. ต้องมีการจ้างงานคนในชุมชนก่อน ในลักษณะงานที่คนในชุมชนสามารถทำงานได้
3. มีการตั้งกรรมการขึ้นมาดูแลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า โดยต้องมีการประเมิน ตรวจสอบ และมีการสื่อสารระหว่างกันหากมีปัญหาเกิดขึ้น

ปัญหามลพิษขึ้นกับเทคโนโลยีโรงไฟฟ้า

นายสุธีร์ ทวีวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิต บริษัท น้ำตาลรีไฟน์ชัยมงคล จำกัด ในฐานะที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลในโรงงานน้ำตาล กล่าวว่า ไฟฟ้าที่ผลิตได้ใช้ในโรงงานน้ำตาล และส่วนที่เหลือจะขายให้กับการไฟฟ้า ทางโรงไฟฟ้าใช้ชานอ้อย เป็นเชื้อเพลิงหลักในการเผาไหม้

นายสุธีร์ ทวีวงษ์
นายสุธีร์ ทวีวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิต บริษัท น้ำตาลรีไฟน์ชัยมงคล จำกัด

สำหรับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนนั้น นายสุธีร์ มองว่าขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี ที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแต่ละแห่งมีการใช้เทคโนโลยีที่ต่างกัน ต้องดูเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในแต่ละพื้นที่ ต้องมีการออกแบบตามเชื้อเพลิงให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้ปล่อยมลพิษ

“หากเผาไหม้ไม่ดีก็จะมีมลพิษ แต่ของผมถือว่ามีประสิทธิภาพ เขม่าที่เกิดจากการเผาไหม้ เราจะมีตัวดักจับ เพื่อไม่ให้กระจายสู่ภายนอก ส่วนน้ำทิ้งจากโรงไฟฟ้าจะปล่อยเข้าสู่บ่อบำบัด นำมาหมุนเวียน จะไม่มีการปล่อยสู่ภายนอก”

สุพรรณบุรีมี 9 แห่ง ร้องเรียนเรื่องฝุ่นมากที่สุด

นายนพพร ทรัพย์เห็นสว่าง ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประจำเขต 9 (กาญจนบุรี) กล่าวว่า ในส่วนของการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี จะมีการออกมาตรการรายงานเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งโรงไฟฟ้าจะต้องส่งรายงานทุก ๆ รอบ ในส่วนนี้ สำนักงาน กกพ.เขต จะมีการตรวจสอบ ติดตามในการรับเรื่องรายงาน โดยจะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ

นายนพพร ทรัพย์เห็นสว่าง ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประจำเขต 9 (กาญจนบุรี)

“ถ้ามีเรื่องร้องเรียน เราก็จะลงไปดู เช่น ที่สุพรรณบุรี มีโรงไฟฟ้าชีวมวล 9 แห่ง ที่ร้องเรียนกันมากจะเป็นเรื่องของฝุ่น เราจะไปตรวจในเรื่องของการเก็บเถ้า มีกำแพงบังลมหรือไม่ ทาง สำนักงาน กกพ. เขต จะลงตรวจสอบปีละครั้ง”

ผศ.ดร.พิสิษฏ์ กล่าวเสริมว่า จริง ๆ แล้วสามารถจัดการได้ เท่าที่พบมาอยู่ที่จิตสำนึกของผู้ประกอบการเป็นหลัก ในหลายพื้นที่ต้องยอมรับว่า ผู้ประกอบการไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้เลย แต่พอมีปัญหาจึงหันมาพูดคุยกัน หลายพื้นที่ก็มีผู้ประกอบการที่มีจิตสำนึก แต่ไม่รู้ว่าปัญหาเกิดจากอะไร พอเรามีเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่จริงแล้ว มีมาตรการควบคุมอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ใส่ใจกันมากนัก

“บางทีปัญหาเล็กน้อยไปกระทบความรู้สึกของคนในชุมชน ทำให้เกิดปัญหาได้ หากเรามีมาตรการควบคุมที่ดี ตอนนี้เทคโนโลยีแก้ปัญหาได้หมด แต่หากมีปัญหาอยากให้มีการพูดคุยกันบ่อย ๆ ระหว่างโรงไฟฟ้ากับชุมชน เชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้น เพราะที่ผ่านมาไม่มีเวทีสำหรับการพูดคุยกัน”

ตัวแทนชุมชนเสนอ 6 ข้อ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

นายอุทัย อัตถาพร ผู้แทนภาคประชาคม กล่าวว่าจากการพูดคุยกับผู้นำชุมชนที่สุพรรณบุรีพบว่า มีปัญหาเหมือนกัน มีการตั้งคำถามว่าเมื่อมีโรงไฟฟ้าแล้ว คนในชุมชนมีความสุข หรือความทุกข์ ถ้ามีโรงไฟฟ้าจะอยู่ร่วมกับชุมชนได้ไหม ถ้าอยู่ร่วมกันได้จะอยู่แบบไหน โรงไฟฟ้าจะอยู่ได้ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

นายอุทัย อัตถาพร
นายอุทัย อัตถาพร ผู้แทนภาคประชาคม

จากการพูดคุยกับผู้นำชุมชน มีข้อเสนอเป็น 6 เรื่องใหญ่ ดังนี้

  1. ถ้าจะขึ้นโรงไฟฟ้าที่ชุมชน ต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจกับชุมชน ให้เขารู้ว่าโรงไฟฟ้าผลิตเท่าไหร่ ใช้วัตถุดิบอะไร
  2. ผู้ประกอบการต้องมีความจริงใจ คนกำกับดูแลต้องขยันมากกว่านี้ เพราะคนสำนักงาน กกพ. ไม่ได้อยู่หน้าโรงงานทุกวัน และจะมาดูก็ต่อเมื่อมีเรื่องร้องเรียน
  3. ต้องแก้ไขผลกระทบ ทั้งเรื่องการขนส่งและสิ่งแวดล้อม
  4. ต้องสร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโครงการ
  5. ต้องศึกษาผลกระทบต่อชุมชน ต่อสิ่งแวดล้อม หรือ การทำ EIA หากโรงไฟฟ้ามีขนาดมากกว่า 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป
  6. ทุกคนที่อยู่ในชุมชน ชาวบ้านได้ประโยชน์อะไรบ้าง เราได้ขายวัตถุดิบ ชานอ้อย ได้งานทำ ได้กองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า ความรับผิดชอบตรงนี้ต้องทำตามกรอบกฎหมาย

นายอุทัย กล่าวว่า ปัญหาที่ผ่านมาผู้ประกอบการมักละเลย ไม่ได้สนใจปัญหา ยกตัวอย่างที่ อำเภอสามชุก ก็มีปัญหาร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม ซึ่งที่จังหวัดสุพรรณมีโรงไฟฟ้าชีวมวลถึง 9 แห่ง ก็ต้องบอกว่ามีโรงไฟฟ้าที่สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุข

“ผมมองว่าบทบาทของไตรภาคีก็มีความสำคัญ คือ หลังจากสร้างโรงไฟฟ้าแล้ว ควรมีคณะกรรมการ มาจากส่วนราชการ ผู้ประกอบการ และตัวแทนชุมชน เข้ามาช่วยกันแก้ปัญหา ผมว่าโรงไฟฟ้าจะอยู่อย่างมีความสุขได้ ก็ต้องสร้างความสุขให้กับชุมชน ถ้าสร้างแล้วมีปัญหากับชุมชน สร้างความทุกข์ให้กับพี่น้องประชาชน อันนี้ชาวบ้านก็ไม่ยอมรับ”

โรงไฟฟ้าชีวมวล-ชุมชน ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงกับชุมชน

ขณะที่ นายสุธีร์ กล่าวว่าโรงไฟฟ้าที่อยู่ในชุมชนมานาน คุ้นเคยรู้จักกัน เราก็มีกรรมการ มีตัวแทนราชการ ตัวแทนชุมชน หากเกิดปัญหาภายในโรงไฟฟ้า และชุมชนตรวจสอบได้ ทำให้เราสามารถแก้ปัญหาได้ ชุมชนอาจไม่รู้เรื่องภายในโรงงาน เช่น การเกิดเสียงดัง

“เราก็มีโอกาสชี้แจงให้เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร เช่น ควันสีขาว เป็นไอน้ำที่ออกมา ชาวบ้านอาจไม่รู้ คิดว่าเป็นควันพิษ แต่ก็ชี้ให้เข้าใจ เรื่องเสียงก็มี ในการสตาร์ทเครื่องทำให้เกิดเสียงดัง เราก็มีหนังสือแจ้งผู้ใหญ่บ้านว่าจะมีเสียงเวลานี้ เป็นเสียงอะไร ส่วนที่ชุมชนเรา พนักงานของเราเป็นคนรอบ ๆ ชุมชน ซึ่งเราใช้เวลาชี้แจงกับชุมชน ประมาณ 2-3 ปี เราก็มีกิจกรรมร่วมกัน เราดูแลอย่างไร ก็เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามาเรียนรู้”

ในส่วนของพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ปัญหาหลัก ๆ คือความไม่เข้าใจกัน ระหว่างผู้ประกอบการและชุมชน เราจึงเน้นให้โรงไฟฟ้าให้ความรู้กับชุมชน รวมทั้งเมื่อ ตัวแทนจาก สำนักงาน กกพ. เขต ลงพื้นที่ ก็จะเข้าไปดูในส่วนนี้ในการประสานงาน ระหว่างผู้ประกอบการกับชุมชน

ผศ.ดร.พิสิษฏ์ กล่าวเห็นด้วยในเรื่องผู้ประกอบการต้องมีความจริงใจ เพราะขณะนี้ทุกคนมีความเข้าใจตรงกันว่า ไฟฟ้ามีความจำเป็น แต่ขาดความจริงใจในการร่วมกันแก้ปัญหา แต่การดำเนินงานย่อมมีปัญหาตามมา ซึ่งตรงนี้ ต้องมีช่องทางในการพูดคุยกันเพื่อแก้ปัญหา เชื่อว่าจะทำให้มีทางออก

นายนพพร ย้ำว่าหากโรงไฟฟ้าและชุมชนเปิดใจซึ่งกันและกัน สามารถพูดคุยและสื่อสารกันได้ เชื่อว่าจะอยู่ร่วมกันได้ เท่าที่พบมาหากโรงไฟฟ้าพัฒนาไปด้วยกันก็จะอยู่ร่วมกันได้

ชาวบ้านสนใจโรงไฟฟ้าชุมชนตามนโยบายรัฐ

การสัมมนายังได้เปิดเวทีให้ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ร่วมแสดงความคิดเห็น และถาม-ตอบในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน ที่กำลังเปิดรับตามนโยบายรัฐบาล

นายเชน กาฬษร กำนันตำบลแจงงาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี ได้สอบถามว่าโรงไฟฟ้าชุมชนที่เกี่ยวกับวิสาหกิจชุมชน กับโครงการไฟฟ้าสีเขียวที่สัมมนาวันนี้ เป็นเรื่องเดียวกันหรือเปล่า

สัมมนาครั้งที่ 2 210328 0
นายเชน กาฬษร กำนันตำบลแจงงาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี

นายนพพร ตอบว่าความจริงถ้าพูดถึงไฟฟ้าสีเขียวเป็นเรื่องเดียวกัน แต่หากพูดถึงโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นคนละเรื่องกัน โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่กำนันพูดถึง เป็นนโยบายรัฐที่ออกมา โดยกำหนดให้วิสาหกิจชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เข้ามาเป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการไฟฟ้า ซึ่งวิสาหกิจชุมชนจะถือหุ้น 10% และจะมีการตกลงร่วมกันระหว่างชุมชนกับผู้ประกอบการ เป็นโครงการที่ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่แรก

โครงการกำหนดไว้ว่าหากเป็นโรงไฟฟ้าชีวภาพ ขนาดไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ รวมทั้งโครงการจะรับซื้อไฟฟ้าทั่วประเทศ 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชีวมวล 75 เมกะวัตต์

“ขณะนี้ เรายังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง เพราะว่าจะต้องมีการพิจารณาแต่ละโครงการที่เสนอเข้ามา”

เสนอโรงไฟฟ้าสนับสนุนเงินทุนให้ปลูกไม้โตเร็ว

นายสุฐี โพธิ์อุบล ประธานศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลหนองบ่อ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าว ว่ามีข้อกังวล 3 ประเด็น คือ

  1. การสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ประเด็นความกังวลหลัก คือ มลภาวะ กลิ่น ควัน และฝุ่น
  2. ทำอย่างไรจะให้ยั่งยืน โดยเฉพาะวัตถุดิบ เช่น กากอ้อย ซึ่งขึ้นกับฤดูกาลผลิต
  3. ด้านการส่งเสริม คือ การปลูกพืชพลังงานเพื่อป้อนโรงไฟฟ้า
สัมมนาครั้งที่ 2 210328
นายสุฐี โพธิ์อุบล ประธานศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลหนองบ่อ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

ซึ่งที่สำคัญ คือ เงินทุนสำหรับชาวบ้าน จะมีทางออกเรื่องนี้อย่างไร

ผศ.ดร.พิสิษฎ์ กล่าวว่าเห็นด้วยอย่างมาก ไม่ใช่แค่โรงไฟฟ้า โรงงานเองก็ต้องกังวล ความกังวลก็สามารถนำมาแก้ปัญหาร่วมกันได้ โรงไฟฟ้าก็อยากอยู่ตรงนี้ ก็พูดคุยกันได้ ซึ่งต้องพูดเรื่องนี้ก่อน และหาทางออกล่วงหน้า สำหรับโรงไฟฟ้าที่เกิดขึ้นแล้ว ชาวบ้านในชุมชนต้องรวมตัวกันเข้าไปคุยกับโรงไฟฟ้า

สำหรับเรื่องความยั่งยืนของเชื้อเพลิง ปกติโรงไฟฟ้าต้องการความยั่งยืน แต่ตนมองว่าชุมชนจะได้อะไร เรื่องเงินทุน ทางโรงไฟฟ้าสามารถให้การสนับสนุนไปก่อนได้ ในการลงทุนปลูกหรือจัดหาเชื้อเพลิง ยิ่งชุมชนปลูกได้เร็วก็เป็นความมั่นคงโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว

สนใจเรื่องการใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

นางยุพิน เถิงจางวงศ์ สภาองค์กรชุมชน ตัวแทนชาวบ้านจากอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่าใกล้ ๆ ชุมชน มีโรงไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ มีการร้องเรียนกันมาก อยากรู้ว่ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า ชาวบ้านจะเข้าไปใช้ได้อย่างไร ต้องมีกลไกอะไรบ้าง ระยะเวลาโรงงานเปิดกี่ปีจึงจะเข้าร่วมโครงการ

นางยุพิน เถิงจางวงศ์

นายนพพร ตอบว่า เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า หากไม่มากเราจะให้กับองค์กรส่วนท้องถิ่น หากมีเงินตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล ให้ชุมชนและโรงไฟฟ้าเลือกตัวแทน ซึ่งโรงไฟฟ้าชีวมวลส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก เงินที่จัดเก็บได้จะส่งให้ท้องถิ่น โดยกำหนดวัตถุประสงค์การใช้ ให้ดูแลในเรื่องการศึกษา สาธารณสุข และเศรษฐกิจ หลังจากโรงไฟฟ้าสร้างเสร็จไม่เกินหนึ่งปี ทาง สำนักงาน กกพ. จะส่งเงินให้ทางชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

ชาวบ้านอัด ‘กติกา’ ภาครัฐมีปัญหา

นายวิฑูรย์ อุปวรรณ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลหัวโพธิ์ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี แสดงความเห็นว่า การสร้างโรงไฟฟ้าในชุมชน ต้องได้รับผลกระทบแน่นอน จากฝุ่น เสียงและกลิ่น อันนี้เกิดขึ้นชัดเจน

สัมมนาครั้งที่ 2 210328 1
นายวิฑูรย์ อุปวรรณ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลหัวโพธิ์ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

“สิ่งที่ท่านอยากให้ความรู้ คือ อยากให้เราปรับตัว เพื่อให้การต้อนรับนักลงทุนทั้งหลาย ท่านกำลังจะบอกอย่างนี้ใช่ไหมครับ ผมอยากทราบเพื่อให้ทำร่วมกัน เรื่องให้ชุมชนออกแบบ ผมอยากรู้ว่าชุมชนแต่ละชุมชน ใครมีความรู้ ที่สามารถออกแบบโรงไฟฟ้า ท่านทำประชาคม ก็มีสิ่งมาแลกเปลี่ยน ก็เอาเสื้อมาแจก เพื่อแลกการลงชื่อ ชาวบ้านไม่มีใครมีความรู้ ตอนนี้ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ก็ไม่เข้าใจว่าทำไม ผมมีความเห็น เสียงฝุ่น ละออง ทำไมท่านไม่ออก พ.ร.บ. ท่านก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นอันตราย มีผลกระทบกับชุมชน”

นายวิฑูรย์ เสนอว่าทำไมภาครัฐไม่ออกเป็นกฎหมายให้ชัดเจนว่า โรงไฟฟ้าต้องตั้งห่างจากชุมชนเท่าไหร่ แต่มาแก้ที่ปลายเหตุให้ชุมชนไปตอบรับ

“ผมถามหน่อยว่าคนที่ได้รับเข้าทำงานในโรงไฟฟ้าชุมชน ก็ไม่มีใครที่มีความรู้พอจะเข้าทำงานได้ และจริง ๆ แล้ว โรงไฟฟ้าชุมชนรับคนทำงานได้จริง ๆ กี่คน ประโยชน์ที่ได้รับผมถามหน่อย ชุมชนก็เยอะแยะ คนยากจนมาก”

นายวิฑูรย์ ยกตัวอย่างในเรื่องการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ชุมชนจะได้รับ โดยบอกว่า อบต. ที่ตนเองอยู่ในปัจจุบัน ได้รับเงิน 1 ล้านบาท แต่อบต.อื่นที่ใกล้เคียงก็ได้เท่ากัน ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เสี่ยงและไม่มีโรงไฟฟ้าในพื้นที่ ซึ่งเคยร้องเรียนไป แต่ก็ไม่ได้ผล ดังนั้นการใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ผศ.ดร.พิสิษฎ์ กล่าวเห็นด้วยโดยบอกว่าต้องให้ความรู้ก่อน อย่างน้อยชาวบ้านรู้สิทธิของเขา ไม่ได้บอกว่าไฟฟ้าเป็นคำตอบ แต่ทุกคนก็รู้อยู่แล้ว จะแก้ปัญหาร่วมกันแค่ไหน ปัญหาที่เกิดขึ้นมีจริง แต่เมื่อวันนี้มันเกิดปัญหา อยากให้มาออกแบบตั้งแต่ต้น มาออกแบบร่วมกัน มีโอกาสทำงานร่วมกัน

ส่วน นายอุทัย ในฐานะผู้ทนภาคประชาคม กล่าวว่านับเป็นข้อเสนอที่ดี เช่น กำหนดพื้นที่ห่างจากชุมชน 5 กิโลเมตร ซึ่งต้องแก้ปัญหาในเชิงนโยบายเลยว่าจะกำหนดมาตรฐานเรื่องนี้ออกมาอย่างไร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับชุมชนต่อไป

This slideshow requires JavaScript.

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight