Personal Finance

ช้าก่อน! อย่าเพิ่งตัดสินใจ ‘เซ็นค้ำประกัน’ ให้ใคร ถ้ายังไม่รู้สิ่งนี้

“ช่วยหน่อยเถอะ ไม่มีอะไรหรอก” ป้าในซอยที่รู้จักกันตั้งแต่เด็กบอกให้ช่วย เซ็นค้ำประกัน เงินกู้สหกรณ์

ไปที่ทำงานก็เจอพี่สมชายพูดว่า “แค่เซ็นค้ำรถนิดเดียว ไม่เห็นจะมีอะไรเลย เห็น ๆ กันอยู่แล้ว”

สารพัดคำหว่านล้อมจากญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง หรือคนรู้จัก ให้ช่วยเซ็นค้ำประกันเงินกู้มีอยู่รอบตัว แต่เมื่อฟังบทเรียนที่ผ่าน ๆ มาก็นึกสยองว่า จะเป็นเราหรือเปล่าที่ เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แต่ต้องเอากระดูกมาแขวนคอ

ค้ำประกัน ต้องรู้

ทั้งนี้ ปัจจุบันการเซ็นค้ำประกันกลายเป็นส่วนหนึ่งของธุรกรรมทางการเงินหลายอย่าง เพราะสถาบันการเงินต้องการเพิ่มความมั่นใจในตัวผู้กู้มากขึ้น โดยให้มี “ผู้ค้ำประกัน” เพราะอย่างน้อยหากผู้กู้ไม่จ่ายหนี้ ก็ยังมีผู้ค้ำประกันคอยรับผิดชอบอยู่

แต่ปัญหาผู้กู้เบี้ยวหนี้และคนค้ำต้องจ่ายก็กลายเป็นเรื่องคลาสสิคขึ้นมาแทนที่ เพราะฉะนั้นคนมีเครดิต อย่าเพิ่งเซ็นค้ำประกันให้ใคร ถ้ายังไม่ได้ประเมินความเสี่ยงและไม่รู้สิ่งนี้มาก่อน

 

ผู้ค้ำประกันคือใคร?

ผู้ค้ำประกัน คือ การที่ใครคนหนึ่งได้ทำสัญญากับเจ้าหนี้ว่า ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะทำการชำระหนี้นั้นแทน ดังนั้น เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดแทนได้

 

ความรับผิดชอบในการ ผู้ค้ำประกัน

ผู้ค้ำประกัน จะไม่จำกัดความรับผิด หรือจะจำกัดความรับผิดชอบของตนไว้ในสัญญาค้ำประกันด้วยก็ได้ ถ้าไม่ต้องการรับผิดอะไรบ้าง หรือต้องการจำกัดขอบเขตความรับผิดไว้เพียงใด ก็ต้องระบุในสัญญาให้ชัดเจน เช่น ลูกหนี้กู้เงินเจ้าหนี้ 1000,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 15% ต่อปี ผู้ค้ำประกันจะจำกัดความรับผิดเฉพาะกรณีที่บุคคลนั้นทำความเสียหายเนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่ ไม่รวมถึงประมาทเลินเล่อด้วยก็ได้ เมื่อจำกัดความรับผิดไว้แล้วก็รับผิดเท่าที่จำกัดไว้

แต่ถ้าไม่จำกัดความรับผิดเมื่อลูกหนี้ผิดสัญญาต่อเจ้าหนี้ ไม่ชำระเงินหรือค่าเสียหายมากน้อยเพียงใด ผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดจนสิ้นเชิงเช่นเดียวกับลูกหนี้ทุกอย่าง เมื่อทำสัญญาประกันแล้วผู้ค้ำประกันต้องผูกพันตามสัญญานั้น เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องให้รับผิดได้ เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด

shutterstock 1245206278

ิทธิของผู้ค้ำประกัน

1.ผู้ค้ำประกันมีสิทธิที่จะเกี่ยงให้เจ้าหนี้ ไปเรียกร้องเอาจากลูกหนี้ก่อนได้

เมื่อผู้ค้ำประกันถูกเรียกร้องให้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ มิใช่ผู้ค้ำประกันต้องชำระหนี้ทันที แต่มีสิทธิที่จะ “เกี่ยง” ให้เจ้าหนี้ ไปเรียกร้องเอาจากลูกหนี้ก่อนได้ ทั้งนี้ ภายใต้ข้อยกเว้นบางประการ

และถ้าเจ้าหนี้ฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับลูกหนี้ก็ยังมีสิทธิพิสูจน์ต่อศาลว่า ลูกหนี้มีทรัพย์สินชำระหนี้ได้และการที่จะบังคับจากลูกหนี้นั้นไม่เป็นการยาก ถ้าผู้ค้ำประกันนำพยานเข้าสืบและฟังได้เช่นนั้น ศาลก็ต้องบังคับเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน เพราะหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องชำระมิใช่เป็นหนี้ของผู้ค้ำประกันเอง ผู้ค้ำประกันเป็นลูกหนี้ชั้นที่ 2

2.ผู้ค้ำประกันที่ชำระเงินให้เจ้าหนี้แล้ว มีสิทธิทวงเงินคืนจากลูกหนี้

เมื่อผู้ค้ำประกันชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ไม่ว่าชำระแต่โดยดี หรือชำระหนี้โดยถูกบังคับตามคำพิพากษา ผู้ค้ำประกัน ก็มีสิทธิรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ในอันที่จะเรียกเอาเงินชำระให้เจ้าหนี้ใช้แล้วนั้นคืนจากลูกหนี้ได้ตามจำนวนที่ชำระไป ตลอดจนทั้งค่าเสียหายต่าง ๆ เนื่องจากการค้ำประกัน

เซ็นค้ำประกัน ข้อควรรู้
รู้ไว้สักนิด ก่อนคิดเป็น “ผู้ค้ำประกัน” จะได้ไม่เสียเปรียบ

การพ้นความรับผิดของ ผู้ค้ำประกัน

เมื่อเซ็นชื่อในสัญญาแล้ว ผู้ค้ำประกัน ก็มีภาระจะต้องรับผิดต่อเจ้าหน้าที่จนกว่าหนี้ของลูกหนี้ จะระงับไป ตราบใดที่หนี้ของลูกหนี้ยังมีอยู่ ผู้ค้ำประกันก็ไม่พ้นความรับผิด แต่มีพฤติการณ์บางอย่างที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ผู้ค้ำประกันพ้นความรับผิด

1.เจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้

เจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ คือถ้าได้กำหนดวันชำระหนี้ไว้แน่นอนแล้ว เจ้าหนี้ยืดเวลา ต่อไปอีกผู้ค้ำประกันก็พ้นความรับผิด

2.เจ้าหนี้ไม่ยอมรับเงินค้ำประกัน

เมื่อหนี้ของลูกหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว ผู้ค้ำประกันเอาเงินไปชำระแก่เจ้าหนี้ไว้แน่นอนแล้ว แต่เจ้าหนี้ไม่ยอมรับโดยไม่มีเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ ผู้ค้ำประกันก็หลุดพ้นจากความรับผิดเช่นเดียวกัน

 

“10 ข้อสำคัญ” ต้องรู้หมดก่อนลงนาม

1. ควรดูรายละเอียดสัญญาให้แน่ชัดว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินหรือเงิน ซึ่งสามารถชำระหนี้ได้

2. สัญญาค้ำประกันต้องทำเป็นหนังสือ และลงลายมือชื่อของคู่สัญญา

3. ควรอ่านสัญญาทุกครั้งก่อนเซ็นค้ำประกัน และห้ามเซ็นสัญญาที่เขียนว่า “ให้ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับลูกหนี้”

4. ผู้ค้ำประกัน จะรับผิดแทนลูกหนี้ ต่อเมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ตามที่ตกลงในสัญญาเท่านั้น

5. หากเจ้าหนี้ลดหนี้ให้ลูกหนี้เท่าไร ความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันก็ลดลงเท่านั้นเช่นกัน

6. หากข้อตกลงในสัญญาเป็นภาระให้กับผู้ค้ำประกันเกินสมควร ข้อตกลงนั้นจะเป็นโมฆะ

7. ผู้ค้ำประกัน จะหลุดพ้นจากความรับผิดชอบ เมื่อยื่นขอชำระหนี้ตามกำหนดเวลา แต่เจ้าหนี้ปฏิเสธไม่ยอมรับการชำระหนี้นั้น

8. ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดชอบ หากเจ้าหนี้ยอมขยายเวลาผ่อนหนี้แก่ลูกหนี้

9. ผู้ค้ำประกันไม่ต้องชำระดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน ค่าทวงถาม หากเจ้าหนี้ไม่แจ้งเป็นหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ ภายใน 60 วัน นับแต่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้

10. หลังชำระหนี้แทนลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันมีสิทธิฟ้องลูกหนี้ตามวงเงินที่ชำระแทน พร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายอื่น ๆ

ดังนั้น การจะ เซ็นค้ำประกัน ให้ใคร ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเอง ศึกษาข้อมูลรายละเอียดทั้งของตัวลูกหนี้เอง และขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจ

ขอบคุณข้อมูลจาก กองปราบปรามและสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo