Environmental Sustainability

ศักยภาพเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจาก ‘ก๊าซชีวภาพ’

ประเทศไทยมีฐานการผลิตสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร และปศุสัตว์ที่เข้มแข็งต่อเนื่อง ทำให้การส่งออกสินค้าจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ ทั้ง ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ต่าง ๆ สร้างรายได้กลับเข้าประเทศปีละหลายแสนล้านบาท ถือเป็นแรงขับเคลื่อนอัตราการเติบทางเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) ที่สำคัญ

แต่การเกิดขึ้นของโรงงานแปรรูปอุตสาหกรรมสินค้าเกษตร และกระบวนการแปรรูปปศุสัตว์ ย่อมนำมาซึ่งปัญหาน้ำเสียจากกระบวนการผลิตต่าง ๆ

ศักยภาพเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจาก ก๊าซชีวภาพ

การจัดทำคู่มือ การพัฒนาและการลงทุนผลิตพลังงานทดแทน (พลังงานก๊าซชีวภาพ) ของ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์ (พพ.)  กระทรวงพลังงาน เมื่อปี 2554 พบว่า ประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมทางการเกษตร และแปรรูปอาหารมากกว่า 5,000 โรงงาน และมีความเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดน้ำเสียอย่างรุนแรง โดยน้ำเสียจากอุตสาหกรรมการเกษตรส่วนใหญ่ เป็นน้ำเสียประเภทอินทรีย์ และจำเป็นต้องบำบัดโดยระบบชีวภาพ ซึ่งแบ่งเป็นแบบใช้อากาศและไม่ใช้อากาศ ในส่วนของการบำบัดโดยไม่ใช้อากาศนั้น จะมีผลิตผลพลอยได้เป็นก๊าซชีวภาพ ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก คือ ก๊าซมีเทนในปริมาณต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับลักษณะน้ำเสียนั้น ๆ ก๊าซมีเทนนี้สามารถติดไฟได้ จึงมีคุณสมบัติสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนได้

จาก ศักยภาพเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจาก ก๊าซชีวภาพ ถ้าสามารถปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย โดยกรรมวิธีในการผลิตก๊าซชีวภาพมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในโรงงาน ก็จะสามารถลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในเชิงพาณิชย์ เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้มีประโยชน์ และลดปัญหามลภาวะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศักยภาพเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจาก ก๊าซชีวภาพ

สำหรับแหล่งวัตถุดิบผลิตก๊าซชีวภาพที่มีศักยภาพของประเทศไทย มาจากน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรและการแปรรูปจำนวน 7 ประเภท ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมแป้ง
  2. อุตสาหกรรมสุราและเบียร์
  3. อุตสาหกรรมอาหาร
  4. อุตสาหกรรมปาล์ม
  5. อุตสาหกรรมกระดาษ
  6. อุตสาหกรรมยาง
  7. อุตสาหกรรมเอทานอล

ซึ่งมีศักยภาพการผลิตก๊าซชีวภาพประมาณ 943.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สามารถนำมาทดแทนน้ำมันเตาได้ 486 ล้านลิตร มีมูลค่าการประหยัดพลังงานเทียบเท่าน้ำมันเตาได้กว่า 3,900 ล้านบาทต่อปี และจากฟาร์มปศุสัตว์ทั้ง ฟาร์มสุกร ฟาร์มโค และฟาร์มสัตว์อื่น ๆ มีศักยภาพการผลิตก๊าซชีวภาพ ประมาณ 1,260.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี รวมสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้มากกว่า 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ดังนั้นแหล่งผลิตก๊าซชีวภาพที่สำคัญ คือ น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และฟาร์มปศุสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่มีสารอินทรีย์เป็นองค์ประกอบหลัก ที่เมื่อถูกย่อยสลายด้วยกระบวนการทางชีวภาพ ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน ทำให้เกิดก๊าซชีวภาพ ที่มีก๊าซมีเทนเป็นองค์ประกอบสำคัญ สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซหุงต้ม น้ำมันเตา และไฟฟ้า

ในกระบวนการผลิตที่ผ่านมา โรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร และฟาร์มปศุสัตว์ได้นำก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย และของเสียมาใช้ประโยชน์ เพื่อผลิตเป็นพลังงานแล้วเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งช่วยลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิงให้กับผู้ประกอบการ และสร้างรายได้จากการขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือ น้ำเสียที่ผ่านกระบวนการบำบัดแบบไม่ใช้ออกซิเจนจะมีคุณภาพน้ำที่ดีขึ้น จึงช่วยลดผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบโรงงาน และฟาร์มปศุสัตว์ได้อีกด้วย

ศักยภาพเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจาก ก๊าซชีวภาพ

ศักยภาพเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจาก ก๊าซชีวภาพ

ปัจจุบันประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมก๊าซชีวภาพผลิตกระแสไฟฟ้า โดย แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (AEDP 2018) ได้ศึกษาข้อมูลก๊าซชีวภาพคงเหลือที่มีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้เป็นพลังงาน ปี 2561 พบว่า

ก๊าซชีวภาพน้ำเสียอุตสาหกรรม 5 ประเภท โดยประมาณการปริมาณก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ อยู่ที่ 2,824 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ประกอบด้วย

  1. แป้งมันสำปะหลัง มี 118 แห่ง ประมาณการปริมาณน้ำเสียที่ผลิตได้ อยู่ที่ 203 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และประมาณการปริมาณก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ อยู่ที่ 1,618 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
  2. น้ำมันปาล์ม มี 183 แห่ง ประมาณการปริมาณน้ำเสียที่ผลิตได้ อยู่ที่ 21 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และประมาณการปริมาณก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ อยู่ที่ 577 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
  3. เอทานอล มี 26 แห่ง ประมาณการปริมาณน้ำเสียที่ผลิตได้ อยู่ที่ 19 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และประมาณการปริมาณก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ อยู่ที่ 571 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
  4. น้ำยางข้น มี 92 แห่ง ประมาณการปริมาณน้ำเสียที่ผลิตได้ อยู่ที่ 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และ ประมาณการปริมาณก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ อยู่ที่ 53 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
  5. แปรรูปอาหาร มี 149 แห่ง ประมาณการปริมาณน้ำเสียที่ผลิตได้ อยู่ที่ 3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และประมาณการปริมาณก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ อยู่ที่ 5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ก๊าซชีวภาพน้ำเสียฟาร์มปศุสัตว์ 4 ประเภท โดยประมาณการปริมาณก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ อยู่ที่ 785 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ประกอบด้วย

  1. สุกร จำนวน 10 ล้านตัว ประมาณการปริมาณมูลสัตว์ที่ได้ อยู่ที่ 3.53 ล้านตันต่อปี และประมาณการปริมาณก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ อยู่ที่ 188 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
  2. โคเนื้อและโคนม จำนวน 6 ล้านตัว ประมาณการปริมาณมูลสัตว์ที่ได้ อยู่ที่ 7.70 ล้านตันต่อปี และประมาณการปริมาณก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ อยู่ที่ 316 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
  3. กระบือ จำนวน 1 ล้านตัว ประมาณการปริมาณมูลสัตว์ที่ได้ อยู่ที่ 1.70 ล้านตันต่อปี และประมาณการปริมาณก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ อยู่ที่ 66 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
  4. ไก่ จำนวน 456 ล้านตัว ประมาณการปริมาณมูลสัตว์ที่ได้ อยู่ที่ 3.98 ล้านตันต่อปี และประมาณการปริมาณก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ อยู่ที่ 215 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

รวมศักยภาพก๊าซชีวภาพน้ำเสียอุตสาหกรรมและฟาร์มปศุสัตว์ อยู่ที่ 3,609 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยมีปริมาณก๊าซชีวภาพ ที่ถูกนำไปใช้ผลิตพลังงานแล้ว 2,470 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ยังมีปริมาณศักยภาพก๊าซชีวมวลคงเหลือ 1,139 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

408 B edit 01 0 e1638880926242

ด้วยศักยภาพดังกล่าวภายใต้ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev-1) กำหนดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ จากน้ำเสีย ของเสีย และพืชพลังงานอีก 1,183 เมกะวัตต์ หรือ รวมอยู่ที่ 1,565 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กระทรวงพลังงาน กำหนดเป้าหมายโครงการนำร่อง รับซื้อไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล 75 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์ ซึ่งก๊าซชีวภาพ มีการกำหนดให้มีขนาดไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ ซึ่งกระทรวงพลังงานเตรียมเปิดยื่นเสนอโครงการ ช่วงต้นปี 2564 และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2566

ก๊าซชีวภาพจัดเป็นพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพของไทย ที่จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และยังเป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำเสีย จากกระบวนการอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยการนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการผลิตกระแสไฟฟ้า ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ที่สร้างประโยชน์อย่างคุ้มค่าภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ภายในประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight