COVID-19

คลังมองสัญญาณเศรษฐกิจเดือน ก.พ.ดีขึ้น ฝันทั้งปีขยายตัว 4%

“กระทรวงการคลัง” มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป มองเป้าหมายเศรษฐกิจที่โต 4% ค่อนข้างก้าวกระโดด แต่เป็นไปได้

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน และความเชื่อมั่นที่สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ภายในประเทศ ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง การฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมาตรการของภาครัฐที่มีส่วนสำคัญในการพยุงกำลังซื้อของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง จะปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2564 ใหม่ในเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง จากคาดการณ์เดิมที่ 2.8% โดยภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งจากการส่งออก การนำเข้าสินค้าทุน และการลงทุน รวมถึงการใช้จ่ายภายในประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐ ซึ่งเป็นตัวช่วยพยุงการใช้จ่ายภายในประเทศได้เป็นอย่างดี โดยจะต้องมีการพิจารณาเครื่องชี้เศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหมดประกอบด้วย

กระทรวงการคลัง

ส่วนเป้าหมายตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ที่ 4% นั้น ยอมรับว่าเป็นตัวเลขที่เติบโตค่อนข้างก้าวกระโดดจากคาดการณ์ในปัจจุบัน แต่ไม่ได้บอกว่า จะเป็นไปไม่ได้ คงต้องมาพิจารณาหลาย ๆ ปัจจัยประกอบด้วย อาทิ ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภาพรวมการส่งออก ทิศทางการใช้จ่ายและการลงทุน ซึ่งหากมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ตัวเลขเศรษฐกิจในปีนี้เติบโตได้แข็งแกร่ง

“ต้องดูในหลายปัจจัยประกอบ ทั้งในมุมของมาตรการด้านสาธารณะสุข โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปัจจุบันคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น การกระจายวัคซีนที่ทำได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ทั้งหมดมีผลกับการเชื่อมั่นต่าง ๆ รวมถึงการเบิกจ่าย พ.ร.ก. กู้เงินฉุกเฉิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าจะเบิกจ่ายได้เต็มจำนวน ไม่ติดขัด รวมถึงการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปกติ” นายวุฒิพงศ์ กล่าว

ขณะที่มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 3.5 แสนล้านบาทนั้น จะเอื้อให้ภาคธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อและจะส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รักษาการจ้างงาน เป็นการช่วยเศรษฐกิจทางอ้อม

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้า ไม่รวมทองคำ ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ลดลง -2.6% ต่อปี แต่เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำ พบว่าขยายตัวที่ 4.0% ต่อปี โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่

  1. สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผักและผลไม้ และยางพารา ขยายตัว 46.6%, 42.9% และ 22.9% ต่อปี ตามลำดับ รวมถึงการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง และเครื่องปรุงรส ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง
  2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อาทิ โทรศัพท์และอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น
  3. สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ที่ยังคงมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การส่งออกทองคำ และสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ยังคงลดลง

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดสหรัฐขยายตัวต่อเนื่อง ที่ 19.7% ต่อปี เช่นเดียวกับการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย จีน และเอเชียใต้ ขยายตัวที่ 18.3%, 15.7%, และ 13.9% ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาดอาเซียน 9 ประเทศ ยังคงลดลงที่ -11.8% ต่อปี

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -1.2% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.04% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2564 อยู่ที่ 52.0% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 253.9 พันล้านดอลลาร์

กระทรวงการคลัง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo