World News

กู้เรือยักษ์ ขวางคลองสุเอซ สำเร็จ! ฟื้นเส้นทางสำคัญขนส่งสินค้าโลก

เรือเอเวอร์ กิฟเวน (Ever Given) ที่ดำเนินการโดยเอเวอร์กรีน มารีน บริษัทสัญชาติไต้หวัน สามารถเคลื่อนตัวออกจากจุด ที่ติดขวางคลองสุเอซมาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม ได้แล้ว

บริษัทอินช์เคป ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทางทะเล ได้ประกาศผ่านทางทวิตเตอร์ว่า เรือ Ever Given ซึ่งเป็นเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ที่เกยตื้นจนกีดขวางเส้นทางสัญจรในคลองสุเอซ ขณะนี้กลับมาลอยได้อีกครั้งแล้ว และกำลังได้รับการช่วยกู้เพิ่มเติมโดยทีมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

gee

“เรือ Ever Given ได้รับการกู้จนกลับมาลอยอีกครั้งได้สำเร็จ ณ เวลา 04.30 น.ของวันที่ 29 มีนาคม 2564 ขณะนี้กำลังมีการช่วยกู้อย่างต่อเนื่อง และจะประกาศข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องแผนดำเนินการขั้นต่อไปเมื่อทราบแน่นอนแล้ว” อินช์เคปทวีต

ขณะที่ บีบีซี รายงานว่า มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอทางสังคมออนไลน์วันนี้ (29 มี.ค.) ปรากฏภาพของเรือเอเวอร์ กิฟเวน (Ever Given) ถูกลากออกมาลอยลำในคลองสุเอซได้แล้ว โดยเผยให้เห็นที่ว่างทางน้ำในคลองอีกครั้ง

ความพยายามในการขยับเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ลำยักษ์ให้ลอยลำได้อิสระอีกครั้ง ต้องใช้เวลานานหลายวัน และต้องใช้ เรือลาก และเรือขุดจำนวนหลายลำ เนื่องจากเรือยักษ์ลำนี้มีความยาวขนาดเท่ากับ 4 สนามฟุตบอล และขวางอยู่บริเวณปลายทางใต้ของคลองสุเอซ ทำให้เรือลำอื่น ๆ ไม่สามารถแล่นผ่านหนึ่งในเส้นทางขนส่งสินค้าทางน้ำที่พลุกพล่านที่สุดในโลกแห่งนี้ได้

ก่อนหน้าที่ บริษัทที่ดูแลการกู้เรือลำนี้ใช้ความพยายามอย่างหนัก ทั้งใช้เรือขุด เรือลากจูง รวมทั้งการย้ายตู้คอนเทนเนอร์ราว 20,000 ตู้ออกจากเรือ เพื่อให้สัมภาระบนเรือเบาลง แต่ก็ยังไม่เป็นผล

เรือยักษ์ลำนี้มีความยาว 400 เมตร มีน้ำหนักกว่า 2 แสนตัน เกยตื้นขวางคลองสุเอซ มาตั้งแต่ช่วงเช้าของวันอังคารที่แล้ว (23 มี.ค.) ท่ามกลางกระแสลมแรง และพายุทราย ซึ่งส่งผลกระทบต่อทัศนวิสัยในการเดินเรือ บริษัทที่เชี่ยวชาญหลายรายได้เข้ามาช่วยในการกอบกู้เรือยักษ์ลำนี้เพื่อให้ลอยลำอีกครั้ง

eve

เส้นทางการเดินเรือผ่านคลองสุเอซ ถือว่ามีความสำคัญกับการค้าของโลกเพราะราว 12% ของการค้าโลกต้องลำเลียงสินค้าผ่านเส้นทางนี้ ที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง และเป็นเส้นทางลัดสำหรับการเดินเรือจากทวีปเอเชียและยุโรป

หากว่า เหตุที่เรือบรรทุกสินค้าลำนี้ยังคงขวางคลองสุเอซนี้ต่อไป ทางเลือกหนึ่งคือการเดินเรืออ้อมไปยังแหลมกู๊ดโฮป ทางตอนใต้สุดของทวีปแอฟริกา ซึ่งจะใช้เวลายาวนานกว่าเดิมราว 2 สัปดาห์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo