COVID-19

World Bank ชี้โควิด-19 ฉุด ‘คนไทย’ 1 ล้านคนสู่ความยากจน

World Bank ชี้โควิด-19 ฉุด “คนไทย” 1 ล้านคนสู่ความยากจน พร้อมหั่น GDP ประเทศลดลงเหลือ 3.4% คาดปี 65 ถึงฟื้นตัวเต็มที่

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยในงานแถลงข่าว “รายงานตามติดเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก” โดย World Bank  ฉบับล่าสุดภายใต้หัวข้อเรื่อง “การฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน” เมษายน 2564 ว่า

world bank คนไทย คนจน กด4หก56ด

World Bank ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยล่าสุดได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2564 อยู่ที่ 3.4% ลดลงจากเดิมคาดว่าจะเติบโตได้ถึง 4% และคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เต็มศักยภาพเหมือนช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2565 ในอัตราการเติบโตที่ 4.7%

ปัจจัยที่สำคัญคือ การบริหารจัดการเรื่องวัคซีนโควิด-19 ที่มีแผนกระจายฉีดให้ประชาชน 50-60% ของประเทศภายในปีนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคการท่องเที่ยว เพราะแม้จะมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยทันที เนื่องจากคนยังกังวลเรื่องการติดเชื้อที่มีผลต่อการตัดสินใจไม่เดินทาง ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะกลับเข้ามาเป็นความเสี่ยงขาลงต่อเศรษฐกิจปีนี้ เป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม

ทั้งนี้ เบื้องต้น World Bank ประเมินว่าปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 4-5 ล้านคน เทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 มีประมาณ 40 ล้านคน

นอกจากนี้ หลังเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยังพบว่า ความเหลื่อมล้ำและความยากจนในไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านคนจากประมาณการเดิม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่อัตราความยากจนไม่ลดลงในรอบ 20 ปี

กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มคนยากจนและธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) เนื่องจากเข้าถึงบริการทางสังคมได้ไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงผู้หญิงก็ได้รับผลกระทบมาก เพราะมีผู้หญิงที่เป็นแรงงานอยู่ในภาคการบริการจำนวนมาก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก

ดังนั้น ระบบสวัสดิการของรัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือที่เชื่อมโยงและครอบคลุมทั่วถึง พร้อมติดตามประเมินผลให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น กลุ่มแรงงานที่ตกงานควรได้รับการฝึกอบรมทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิตอล ช่วยเพิ่มโอกาสหางานต่อไปได้ เป็นต้น

shutterstock 1713386149

สำหรับมาตรการช่วยเหลือธุรกิจผ่านมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) และโกดังพักหนี้ มองว่ายังเป็นนโยบายที่สำคัญต่อภาคธุรกิจทั้งรายเล็กและรายใหญ่ที่ยังมีความสามารถ แต่ขาดสภาพคล่องให้ฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ โดยมาตรการดังกล่าวจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง แต่การเบิกจ่ายงบประมาณ Soft Loan ที่ค่อนข้างน้อยยังเป็นอุปสรรคต่อโครงการ

“งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่ 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ซึ่งถือว่าค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น สะท้อนว่าไทยมีพื้นที่ทางการคลังให้ความช่วยเหลือสูง เห็นได้จากระดับหนี้สาธารณะก็ยังไม่สูงเกินไป แต่ความเสี่ยงหลักอยู่ที่การใช้ที่อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายมากกว่า” นายเกียรติพงศ์ กล่าว

นายเกียรติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า World Bank มีข้อเสนอแนะให้รัฐมองหาโอกาสในการขยายฐานภาษีในแต่ละกลุ่มให้เหมาะสมมากขึ้น เช่น ภาษีที่ดินและภาษีมรดกที่ยังเก็บได้ค่อนข้างต่ำ จากปัจจุบันไทยมีระดับการเก็บภาษีต่อ GDP ลดลงจากก่อนช่วงเกิดโควิด-19 อยู่ที่ 17% เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

นางวิคตอเรีย ควาควา รองประธานธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่ามีเพียงจีนและเวียดนามเท่านั้นที่เศรษฐกิจฟื้นตัวเป็นรูปตัววี (V) เห็นได้จากผลผลิตสูงกว่าระดับก่อนโควิด-19 แล้ว ขณะที่เศรษฐกิจประเทศอื่นในภูมิภาค ยังคงมีผลผลิตอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนการแพร่ระบาดโดยเฉลี่ย 5%

“การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การลดความยากจนต้องหยุดชะงักและความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น โดยปี 2563 ความยากจนในภูมิภาคไม่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ ประมาณ 32 ล้านคนในภูมิภาคไม่สามารถออกจากความยากจนได้”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo