Environmental Sustainability

(คลิป) ชีวมวลยุคพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน

ความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย จนได้รับการขนานนามจากทั่วโลกว่าเป็น “เมืองอู่ข้าวอู่น้ำ” ด้วยการเป็นฐานเกษตรกรรม ที่ต่อ ยอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรที่เข้มแข็ง มีการผลิตและส่งออกพืชผักและผลไม้ สร้างรายได้กลับเข้าประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท เมื่อมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ประเทศไทยก็จะเผชิญกับปัญหา การเกิดเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวพืชไร่ เช่น ข้าว อ้อย ไม้ไผ่ ซึ่งเศษวัสดุทางการเกษตรเหล่านี้ หรือที่เรียกว่า ชีวมวล มีคุณสมบัติที่จะนำไปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล

ปัจจุบันชีวมวลเหล่านี้มีทั้งที่ขายและเผาทิ้ง เนื่องจากเก็บรวบรวมได้ยากและค่าขนส่งแพง ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันเกิดปัญหาวิกฤตหมอกควันปกคลุม และเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยมีสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง ที่เกิดจากการเผาในพื้นที่การเกษตร

การเผาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชน รวมทั้งยังส่งผลเสียต่อการทำอาชีพการเกษตรโดยตรง เพราะการเผาในพื้นที่การเกษตรยังเป็นการทำลายโครงสร้าง และความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้ดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และผลผลิตที่ได้รับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ภาครัฐ หรือ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จึงพยายามสนับสนุนการใช้พลังงานชีวมวล การนำเศษวัสดุการเกษตรมาทำประโยชน์ เพิ่มมูลค่าทดแทนการเผา โดยหนึ่งในแนวทางสำคัญก็คือ การส่งเสริมใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในการผลิตกระแสไฟฟ้า และชีวมวลมีศักยภาพที่จะเป็นหนึ่งในพลังงานหลักของประเทศไทยที่มาจากพืชพลังงาน เพราะโรงไฟฟ้าชีวมวล สามารถเป็นโรงไฟฟ้าฐาน (Base Load Plant) ได้ เนื่องจากสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่นอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมยังไม่สามารถทำได้ เพราะลมกับแดดไม่ได้มีตลอดเวลา

ดังนั้นโรงไฟฟ้าชีวมวลจึงเป็นส่วนสำคัญ ที่ช่วยสร้างพืชพลังงานให้กลายเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจ ที่สามารถแก้ปัญหา และสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ

ตลอดจนเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ที่หันมาปลูกพืชพลังงาน ทดแทนการปลูกพืชแบบดั้งเดิม ซึ่งจะลดความเสี่ยงของภาครัฐ ที่ต้องจ่ายเงินสนับสนุนราคาผลผลิตทางการเกษตรเกือบทุกปี ปีละหลักหมื่นล้านบาท ถึงหลักแสนล้านบาท ในบางปีที่ราคาพืชผลตกต่ำ จากความผันผวนด้านราคาของผลผลิตทางการเกษตรในตลาดโลก

แม้ว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล มีความเสี่ยงในเรื่องของเศษวัสดุทางการเกษตร ที่มีความไม่แน่นอน และบางพื้นที่อาจมีไม่เพียงพอ แต่โดยรวมแล้วถือว่าเป็นพลังงานทดแทนที่สร้างประโยชน์ให้กับชุมชน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight